คอลัมนิสต์

‘ชวน-มาร์ค‘โหวตโน‘สุเทพ’โหวตเยส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ชวน-มาร์ค‘โหวตโน‘สุเทพ’โหวตเยส : สำนักข่าวเนชั่น 

             “ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”  เป็นคำยืนยันจากปาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฟังชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยแสดงจุดยืนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างขึ้นมา

             “มาร์ค” ร่ายเหตุผลกล่อมบรรดา “แฟนคลับ” หลักใหญ่ใจความยังไม่เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามวังวนความขัดแย้งไปได้ หนำซ้ำยังสุมไฟให้เกิดความขัดแย้งระลอกใหม่ขึ้นมาอีก

             แต่ “มาร์ค” ทิ้งปมแก้ต่างให้ดูดี-ดูหล่อ โดยแย้งว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะช่วยเหลือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังต่อสู้คดีโครงการรับจำนำข้าวในชั้น “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ “ยิ่งลักษณ์” สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่เปิดช่องให้ยื่นอุทธรณ์

             ซึ่งเกมเหนือเมฆสร้างคีย์เวิร์ดช่วย “ยิ่งลักษณ์” จะถูกขยายประเด็นต่อไปยัง ส.ส.ประชาธิปัตย์ สาย “ชวน-มาร์ค” นำไปอธิบายกับฐานเสียงของประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่เริ่มทำตัวไม่ถูก เพราะหัวเรือใหญ่ กปปส.อย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย พูดกรอกหูทุกวันว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญ

             “ชวน-มาร์ค” รู้จักอารมณ์ของฐานเสียงภาคใต้ดีว่า สิ่งที่ต่อต้านมากที่สุดคือ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ช่องว่างของร่างรัฐธรรมนูญจึงดูนำมาขยายความในพื้นที่อย่างแน่นอน อย่าลืมว่า “พรรคเก่าแก่” อย่างประชาธิปัตย์หากไม่เซียนจริงอยู่ไม่ได้นานมาจนถึงวันนี้

             ผลผลิตทางวาทกรรมทางการเมืองที่เล่นกับความรู้สึกของประชาชน ถูกผลิตซ้ำขึ้นมาทุกยุคทุกสมัยไล่ตั้งแต่ “จำลองพาคนไปตาย”-“เลือกทำไม เลือกให้มาเผาบ้านเผาเมือง” เมื่อ “ชวน-มาร์ค” ตั้งมั่น-ตั้งใจโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จับตาวาทกรรมทางการเมืองที่เคยทรงพลังจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหรือไม่ และจะได้ผลมากน้อยเพียงใดต้องจับตา

             ทว่าจุดยืนของ “ชวน-มาร์ค” ในทางที่ประชาธิปัตย์ต้องเลือก จึงเหมือนทำศึก 3 ทาง รบ 3 ทิศ เพราะทุกคำพูดของ “มาร์ค” ผลักมิตรให้เป็นศัตรู ผลัก “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ให้ยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม

             ศัตรูหมายเลขหนึ่งยังเป็น “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” งานนี้มีจุดร่วมกันคือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเล่นเกมซ่อนดาบ-ซ่อนมีดไว้ข้างหลัง ไม่ได้จริงจัง-จริงใจกันร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน

             ทั้ง “ปชป.-พท.” ต่างมีเงื่อนไขที่ไม่ปลื้มร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อยืนยันชัดเจนแล้วว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ช็อตต่อไปที่ “ปชป.-พท.” อาจจะต้องร่วมทางกันเดินอีกคือสิ่งที่ “บิ๊กตู่-คสช.” จะมีทางออกอย่างไร กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ

             โฟกัสหลักที่ “ปชป.-พท.” โดยอาจจะทำในนามของ “กลุ่มพลเมืองห่วงใย” กว่า 117 องค์กร ที่ได้ไปลงนามทิ้งกันไว้ ที่ต้องออกมาต่อต้านอย่างหนัก หาก “บิ๊กตู่-คสช.” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ แต่ยังมีเนื้อหาที่ไม่เอื้ออำนวยกับฝ่ายการเมืองอยู่

             เกมการเมืองผ่านร่างรัฐธรรมนูญยังต้องสู้กันหนัก เพราะ “บิ๊กตู่-คสช.” มีความจำเป็นที่ต้องรักษาฐานอำนาจไว้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ “ปชป.-พท.” ไม่แฮปปี้ จึงต้องรบการอีกหลายครั้ง

             ทว่าเกมหลังประชามติร่างรัฐธรรมนูญ “ชวน-มาร์ค” ต้องประเมินอย่างหนักว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับ “ทักษิณ-เพื่อไทย” มากน้อยแค่ไหน หากออกแอ็กชั่นมากไป ไม่ส่งผลดีต่อฐานเสียงที่มีอยู่ จากรักมาก-หลงมาก แรงเหวี่ยงอาจจะกับเป็น “เกลียดมาก” ก็เป็นได้

             ศัตรูหมายเลขสองของ “ชวน-มาร์ค” หนีไม่พ้น “คนหัวใจสีฟ้าสายสุเทพ” รู้กันทั้งบางว่านาทีนี้ “ปชป.” แตกกันเป็นเสี่ยง บรรดาอดีต ส.ส.ยังไม่รู้ตัวเองว่าควรจะอิงกับฝ่ายไหนถึงจะมีพื้นที่ได้หายใจกลับมาสมัคร ส.ส.ได้อีก

             ทั้งสาย “ชวน-มาร์ค” กับสาย “สุเทพ” แข่งกันสุดฤทธิ์ชนิดไม่มีใครยอมใคร ซึ่งต้องวัดกันที่ผลประชามติเช่นกัน หากประชามติไม่ผ่าน “ชวน-มาร์ค” ได้ไปต่อ แต่หากประชามติผ่านสาย “สุเทพ” ในประชาธิปัตย์ก็จะเติบโตมากขึ้น อาจจะเติบโตจน “ชวน-มาร์ค” เอาไม่อยู่

             บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จึงอยู่ในสภาพที่ไม่กล้า “แทงหวย” เล่นบทแทงกั๊กเอาไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าหวยจะออกหน้าไหน เสี่ยงทุ่มสุดตัวเลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็เกรงว่าจะเปลืองตัวหมดอนาคตทางการเมือง

             ศัตรูหมายเลขสาม “บิ๊กตู่-คสช.” เป็นศัตรูใหม่ป้ายแดงของ “ชวน-มาร์ค” ไปโดยปริยาย สัญญาณจาก “บิ๊กป้อม” ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “คนรัก ปชป.” ไม่ได้คิดเหมือน “มาร์ค” แสดงให้เห็นว่าบรรดาบิ๊กเหล่าทัพยังหวังว่า พลังคนประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้คิดอิงกับ “ชวน-มาร์ค” จะแสดงให้เห็นในวันลงคะแนนเสียง

             หากประเมินคะแนนเสียงประชามติแบบอิงคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งปี 2554 จะพบว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ 75% จากมีผู้สิทธิ์ทั้งหมด 46.9 ล้านคน เพื่อไทยโกยคะแนนเสียงไป 15 ล้านเสียง ประชาธิปัตย์โกยคะแนนเสียงไป 11 ล้านเสียง หากนับรวมกันแบบหยาบๆ ฝั่งไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะมี 26 ล้านเสียง
             
             แต่การลงประชามติครั้งนี้ไม่ใช่สูตรคณิต คะแนนสำเร็จรูปจึงนำมาใช้นับไม่ได้ การตัดสินใจของประชาชนไม่ได้อิงกับตัวบุคคลหรือพรรคเหมือนก่อน โอกาสที่จะการับหรือไม่รับจึง 50-50

             แถมปัจจัยผันแปรอยู่ที่บรรดา “อดีต ส.ส.-หัวคะแนน” ในพื้นที่ เพราะช่วงเวลา 2 ปี ตั้งแต่ “คสช.” เข้ามายึดอำนาจต่างอดยากปากแห้งกันทั้งหมด ในหัวใจคิดเพียงอย่างเดียวว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หากคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอาจจะกระเทือนต่อโรดแม็พได้

             ข้อมูลของ “คสช.” เชื่อว่าประชาชนยังโหวต “เยส” รับร่างรับธรรมนูญอยู่ โดยเชื่อว่าบรรดา “อดีต ส.ส.-หัวคะแนน” ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งคือตัวแปรหลัก โดยคำนวณพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน ประชาชนจะโหวต “เยส” อยู่ที่ร้อยละ 50-55 ขณะที่ภาคกลาง-ตะวันออก-ตะวันตกร้อยละ 60 ส่วนภาคใต้หวังไว้สูงถึงร้อยละ 60-70 ขึ้นไป

             หากใช้สูตรคำนวณและความเป็นไปได้จากข้อมูลของ “คสช.” ประชามติครั้งนี้จะผ่านชนิดฉิวเฉียดมากที่สุดครั้งหนึ่ง วัดกันที่โค้งสุดท้ายว่า “ฝ่ายต้าน” จะมีแคมเปญอะไรมาชูเพื่อโน้มน้าวใจประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจ

             การเมืองก่อนประชามติจึงแข่งขัน-เลือกข้างกันคึกคัก ฝั่งไหน-ขั้วไหน “ชนะ” มีหวังเข้าวินได้สูงกว่า ใช้เป็นเครดิตสร้างฐานจับขั้วต่อรองอำนาจหลังการเลือกตั้งได้

             “พรรคประชาธิปัตย์” แตกเป็นสองขั้ว อยู่ที่ว่าขั้วไหนจะเข้าวิน “ชวน-มาร์ค” กับ “สุเทพ” ใครชนะเดิมพันได้ยึดครอง “พรรคการเมืองเก่าแก่” ไว้ในกำมือ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ