คอลัมนิสต์

วิถีผู้แทน : จากใบยาถึงขันแดง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระดานความคิด : วิถีผู้แทน จากใบยาถึงขันแดง : โดย...บางนา บางปะกง

 
                    “ขันแดง” กลายเป็นประเด็นการเมือง เนื่องจากทหารได้ตรวจพบขันแดงเกือบหมื่นใบภายในบ้านพักสิรินทร รามสูต อดีต ส.ส.เมืองน่าน และขยายผลไปยังบ้านอดีต ส.ส.อีก 2 คน
 
                    สำหรับ “สิรินทร” ตกเป็นเป้าใหญ่ เพราะมีขันแดงอยู่ภายในบ้านประมาณ 8,000 ใบ ส่วนคนอื่นแค่พันกว่าใบ
 
                    ล่าสุดสิรินทรได้เข้าพบ พล.ต.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 (มทบ.38) ที่ค่ายสุริยพงษ์ เพื่อทำความเข้าใจ หลังตรวจยึดขันแดง โดยฝ่ายทหารมองว่า สิรินทรอาจไม่ใช่ตัวการกระทำความผิด แต่เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุน
 
                    เอ่ยชื่อ สิรินทร รามสูต คอการเมืองอาจไม่เคยคุ้น แต่ถ้าบอกว่า เธอเป็นน้องสาว ส.ส.แสนสวยยุคหนึ่งชื่อ พูนสุข โลหะโชติ รับรองต้องคุ้นกับตระกูลการเมืองนี้อย่างแน่นอน
 
                    50 กว่าปีที่แล้ว คนเมืองน่านปลูกยาสูบมากกว่าข้าวโพด ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และสร้างความร่ำรวยให้แก่เจ้าของ “โรงบ่มใบยา”
 
                    ตระกูลที่มีโรงบ่มใบยา ได้แก่ “โลหะโชติ”, “ทุ่งสี่” และ “สูงสว่าง” ชาวไร่ยาสูบมีสถานะเป็น “ลูกไร่” เพราะค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ล้วนต้องพึ่งพาเจ้าของโรงบ่มใบยา
 
                    ด้วยเหตุนี้ลูกไร่จึงเป็นฐานเสียงการเมือง เมื่อ สมชาย โลหะโชติ ทายาทเจ้าเมืองน่าน และเจ้าของโรงบ่มใบยา ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ในปี 2512
 
                    “สมชาย” เป็น ส.ส.อยู่หลายสมัย ก่อนที่จะปั้นลูกสาว “พูนสุข” เป็นผู้แทนฯ ปี 2529 ซึ่งตอนนั้นพูนสุขมีอายุ 27 ปี เป็น ส.ส.สาวสวยแถมอายุน้อยที่สุดในสภา
 
                    จากกรณีศึกษาตระกูลการเมืองในภาคอีสาน พบว่า พืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด, มันสำปะหลัง, ปอ ฯลฯ กลายเป็น “พืชการเมือง” เพราะผู้ที่รับซื้อผลผลิตจากชาวไร่ได้นำความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่าง “พ่อค้าพืชไร่” กับ “ชาวไร่” มาเป็นคะแนนเสียง
 
                    ทำนองเดียวกัน ยาสูบเป็นพืชไร่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ทำเงินหล่อเลี้ยงชีวิตชาวไร่ยาสูบกว่า 1 แสนครอบครัวทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน พะเยา และลำปาง
 
                    จึงไม่แปลกที่ “ชาวไร่ยาสูบ” กลายมาเป็นฐานการเมืองให้แก่ตระกูล “วงศ์วรรณ” ในเมืองแพร่ และ “โลหะโชติ” ที่เมืองน่าน ด้าน “สิรินทร” สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมานานกว่า 20 ปี
 
                    ด้วยเหตุที่ตระกูลโลหะโชติมาจากผู้ครองนครน่าน จึงแผ่บารมีรุ่นลูกรุ่นหลาน สิรินทรเป็นสมาชิกสภาเทศบาลอยู่หลายสมัย ก่อนจะเป็นนายกเทศมนตรีเมืองน่าน
 
                    ทำไมสิรินทรจึงใช้นามสกุล “รามสูต” คำตอบคือ สามีเธอชื่อ ทรงยศ รามสูต อดีต ส.ส.หนองคาย สังกัดพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับพ่อและพี่สาวของเธอ
 
                    นับแต่ ทักษิณ ชินวัตร เล่นการเมือง ได้เกิดปรากฏการณ์ไทยรักไทยฟีเวอร์ ส่งผลให้ “ระบอบอุปถัมภ์” แบบเดิมต้องสูญสลายไป
 
                    เนื่องจาก “ประชานิยม” กลายเป็นระบอบอุปถัมภ์ใหม่ ที่ให้ชาวบ้านมากกว่า ทั้งกองทุนเงินล้าน, บัตรทอง และโครงการเอสเอ็มแอล
 
                    สรินทรจึงตัดสินใจลงสนามการเมืองระดับชาติในสีเสื้อไทยรักไทย เปลี่ยนเป็นพลังประชาชน และเพื่อไทย
 
                    เมื่อสิรินทรเล่นการเมืองยุคทักษิณเรืองอำนาจ ต้องพึ่ง “กระแสทักษิณ” และต้องรับขันแดงมาไว้ในบ้าน ตามคำสั่ง “นายใหญ่”
 
                    จากผู้สร้างระบอบอุปถัมภ์ท้องถิ่น มาสู่การพึ่งพา “นายใหญ่” นี่คือวิถีผู้แทนเมืองน่าน
 
 
 
-----------------------
 
(กระดานความคิด : วิถีผู้แทน จากใบยาถึงขันแดง : โดย...บางนา บางปะกง)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ