คอลัมนิสต์

สอนเด็ก'คิดก่อนกิน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สอนเด็ก'คิดก่อนกิน' : กระดานความคิด โดยเสริมพงศ์ แปงคำมา

            โรงพยาบาลแม่ใจ อ.แม่ใจ จ.พะเยา เป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนคนไทยอ่อนหวานกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยการขับเคลื่อนของฝ่ายทันตกรรมมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย คือเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและประถมศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบ20 แห่ง และสามารถขยายผลสู่การมีส่วนร่วมชุมชน

            ปีแรกของการขับเคลื่อนมุ่งเน้นทางด้านการรณรงค์บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ปีต่อมาได้จัดประกวดเมนูอ่อนหวานโดยการให้แม่ครัวของแต่ละศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคิดค้นเมนูอาหารอ่อนหวานเพื่อรวบรวมเป็นต้นแบบเมนูอ่อนหวานของจังหวัด

            เมื่อโครงการในปีแรกๆ ประสบความสำเร็จได้ผลตอบรับที่ดี รพ.แม่ใจ จึงขยายผลไปยังการให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมการบริโภคของเด็กเพื่อลดการบริโภคน้ำหวานน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคฟันผุและโรคอ้วนด้วยการคัดแยกขนมตามสีสัญญาณไฟจราจรและร่วมมือกับโรงพยาบาลจุน คิดค้นสื่อการสอน “วงล้อขนมสามสี” ขึ้น เพื่อให้เด็กได้สนุกและเข้าใจได้ง่าย

            ทพ.ธิติพันธุ์ อวนมินทร์ ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลแม่ใจ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า อย่างที่เราทราบกันว่า เด็กกับน้ำหวานน้ำอัดลมหรือขนมกรุบกรอบเป็นของคู่กัน เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กในพื้นที่ลดการกินขนมพวกนี้ให้น้อยลงหรือกินแล้วต้องมีวิธีการจัดตัวเองอย่างไรและทำอย่างไรให้มีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดการกินขนมกรุบกรอบด้วยเช่นกัน โดยแรกๆ เราส่งผ่านความรู้เรื่องขนมปลอดภัยไม่ปลอดภัยไปยังครูพ่อแม่หรือผู้ปกครองเพื่อให้เลือกขนมให้เด็กกินได้อย่างถูกทาง โดยแยกเป็น “ขนมยิ้ม” กับ “ขนมร้องไห้” โดยให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองคัดแยกขนมตามคำกลอนที่คิดขึ้นว่า “ไม่หวานไม่เหนียวติดฟัน ไม่เค็มไม่มันเกินไป ของว่างต้องมีกากใย เพื่อให้ลูกหลานฟันดี” ถ้าขนมชิ้นไหนผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 นี้ก็จะเป็นขนมยิ้ม ให้เด็กกินได้ แต่ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์จะเป็นขนมร้องไห้ หรือขนมอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเมื่อคัดแยกแบบนี้แล้วพบว่าแทบไม่มีขนมไหนเลยผ่านเกณฑ์ขนมยิ้ม กลายเป็นว่าตะกร้าขนมร้องไห้มีเยอะมาก ไม่มีทางเลือกให้เด็กได้กินเลย

            เมื่อเจอปัญหามีแต่ขนมร้องไห้ ก็คิดว่าให้กินได้ แต่อย่ากินบ่อย หรือกินแค่วันละครั้งก็พอ เราก็มาศึกษาเรื่องฉลากไฟจราจร คือ ขนมปลอดภัย “สีเขียว” ขนมปลอดภัยปานกลาง “สีเหลือง” และขนมอันตราย “สีแดง”

            นอกจากนี้ยังได้นำ “วงล้อขนมสามสี” ซึ่งเป็นสื่อการสอนคัดแยกขนมมาจาก อ.จุน มาใช้ด้วย เพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้และเข้าใจง่ายขึ้น เมื่อเด็กๆ เรียนรู้การคัดแยกขนมก็สามารถเลือกซื้อขนมเองได้

            จากนั้นจึงขยายโครงการออกสู่ชุมชน โดยการขอความร่วมมือร้านค้าภายใน อ.แม่ใจ จำนวน 46 ร้าน ในการเข้าร่วมโครงการ “ร้านค้าอ่อนหวาน” โดยแต่ละร้านมีการจัดวางขนมสีเขียวออกมาชัดเจน ร้านค้าอ่อนหวานสามารถขายได้ทุกอย่าง แต่ต้องแยกขนมหวานสีเขียวแยกออกมา เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย ในส่วนร้านค้าในเขต อบต.แม่สุก จำนวน 15 ร้าน นอกจากจะคัดแยกขนมจากชั้นวางแล้ว ยังมีการติดป้ายให้ข้อมูลขนมสามสีด้วย

            เมื่อโรงเรียนมีกระบวนการช่วยเหลือลูกหลานท่านแล้ว แต่ยังเหลืออกระบวนการชุมชน เพราะไม่ว่าโรงเรียนจะพร่ำสอนเด็กกินขนมสีเขียว แต่หากสิ่งแวดล้อมภายนอกหากไม่เอื้อให้เด็กได้กินขนมปลอดภัยก็ไม่มีประโยชน์

            “เราไม่ได้คาดหวังให้เด็กคัดแยกขนมได้ถูกต้อง แท้จริงแล้วเราต้องการเพียงแค่ต้องการให้เด็กได้คิดก่อนกิน ไม่ใช่ว่าเจออะไรจับใส่ปาก แต่ขอให้ดูก่อนกินเอาอะไรใส่ปาก" ทพ.ธิติพันธุ์กล่าว

            นับตั้งแต่ร่วมขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันสถานการณ์โรคฟันผุในพื้นที่ อ.แม่ใจ มีอัตราปลอดฟันผุมากขึ้น 80% แต่มาตรการนี้ไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากขาดความร่วมมือจากชุมชน ร้านค้า โรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ขานรับแนวทางเพื่อให้คนในตำบลมีสุขภาพดี

            การดำเนินงานของโรงพยาบาลแม่ใจในโครงการนี้ ถือเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนการลดบริโภคน้ำตาลระหว่างหน่วยงานและชุมชน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ