คอลัมนิสต์

สิ่งท้าทาย:รัฐบาลใหม่เมียนมาร์กับไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิ่งท้าทาย:รัฐบาลใหม่เมียนมาร์กับไทย : โลกสาระจิปาถะ กวี จงกิจถาวร

             ย่างกุ้ง-สถานทูตไทยต้องมาปิดทำการเนื่องจากมีการประท้วงหน้าบ้าน กรณีศาลตัดสินคดีเกาะเต่า เป็นที่แน่ชัดว่า มีกลุ่มอยู่เบื้องหลังสนับสนุนกลุ่มประท้วงนี้ คือกลุ่มพระสงฆ์หัวรุนแรง ที่เรียกตัวเองว่า มา-บา-ทา (Ma Ba Tha) เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นกลุ่มยุยงโดยตรง กลุ่มนี้มียังสมัครพรรคพวกในไทยด้วย ทั้งที่เป็นพระสงฆ์หรือพลเรือน ฉะนั้นในอนาคตการเมืองไทยและการเมืองเมียนมาร์จะมีผลกระทบซึ่งกันและกันมากขึ้น เฉกเช่นไทย-กัมพูชา

             ขณะนี้สัมพันธ์ไทย-เมียนมาร์มาถึงจุดเปลี่ยนผ่าน ต้องเฝ้าดูให้ดีก่อนหน้ามีการเลือกตั้ง ผู้เขียนเชื่อว่า มิตรภาพไทย-เมียนมาร์จะพัฒนาไปในทางที่ดีมากๆ และจะเปิดโอกาสให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันใกล้ชิดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีประเทศนับถือพุทธศาสนาสองประเทศมาร่วมมือกัน

             มิตรภาพไทย-เมียนมาร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 หลังจากนายพลเน วิน ปฏิวัติมา ทั้งสองประเทศไม่เคยมีมิตรภาพที่ดีและเชื่อมั่นกัน เพราะเมียนมาร์ไม่ไว้ใจไทยแม้แต่นิดเดียว ฝ่ายเมียนมาร์เชื่อว่าไทยสนับสนุนชนกลุ่มน้อยติดอาวุธตามชายแดนไทยมาตลอด ด้วยจุดประสงค์เดียวคือ ทำลายเสถียรภาพของประเทศเมียนมาร์

             ต่อมามีการเซ็นสัญญาข้อยุติการหยุดยิงในปลายปีที่แล้ว ทำให้สถานการณ์ความมั่นคงภายในเมียนมาร์ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีสู้รบกันบ้างตามชายแดนจีน-เมียนมาร์ระหว่างกองกำลังรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มว้า โกกังและคะฉิ่น

             ภายใต้รัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา สัมพันธ์ส่วนตัวกับประนาธิบดี เต็ง เส่งนั้น ดีมาก จนสามารถพัฒนาให้เป็นความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันในระดับสัมพันธ์ประเทศในเวลาสั้นๆ เพียง 18 เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ผลักดันความร่วมมือทวิภาคีสำเร็จให้เจริญรุดหน้าก้าวไกลออกไป

             หลังการเลือกตั้งโดยมีพรรคฝ่านค้านของนางออง ซาน ซูจี จากพรรคสันติบาลประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ เอ็นแอลดี (National League of Democracy) เป็นฝ่ายชนะ แนวโน้มการเมืองภายในและต่างประเทศเริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นว่า จะมีแนวโน้มอย่างไรบ้าง เพราะนางออง ซาน ซูจี เอง ไม่ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวอะไรมากมายเลย อย่างที่มีการเข้าใจในตอนต้นๆ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งทั่วไปผ่านมาสองเดือนกว่าๆ ตามจริงต้องบอกว่า ภายใต้นางซูจี การให้ข่าวถือว่าเป็นเรื่องพิเศษ เพราะฝ่ายค้านลึกๆ ไม่มีความเชื่อถือสื่อมวลชนเมียนมาร์ ทั้งๆ ที่สื่อเมียนมาร์เชียร์ซูจีมาตลอด สังเกตได้ว่าเธอให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศมากมาย

             ต้นกุมภาพันธ์คงได้รู้กันว่า รัฐบาลหน้าใหม่ของเมียนมาร์ภายใต้พรรคเอ็นแอลดี จะมีหน้าตาแบบไหน มีคนเก่าเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่กี่คน มีทหารกี่คนที่เข้าร่วม มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องจัดตั้งเอารัฐมนตรีชุดเก่าบางคนหลงเหลืออยู่ เพื่อทำหน้าที่ประสานต่อทางด้านนโยบายต่อไป

             รัฐบาลเมียนมาร์ใหม่จะมีแนวนโยบายที่ต่างออกจากรัฐบาลชุดก่อนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะในเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย ตอนนี้ยากที่จะเดาได้ แต่มี 3 ประเด็นที่ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคือ หนึ่ง นโยบายเมียนมาร์ต่ออาเซียน คงดำเนินต่อไป สองคือ เรื่องชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยว่าจะทำอย่างไรดี ในเรื่องเซ็นสัญญายุติการรบและการเจรจาการเมือง สามคือ เรื่องเสรีภาพสื่อ ในตอนนี้มีอยู่ในอันดับต้นๆ ของอาเซียน

             เมียนมาร์โชคดีที่มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในขณะนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังสับสนวุ่นวายกับเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง ฉะนั้นเมียนมาร์จึงกลายเรื่องมงคลที่ประชาคมโลกต้องการเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ตัวอย่างประธานาธิบดีโอบามาชื่นชมเมียนมาร์มาก และถือเป็นเหรียญทองนโยบายการทูตอเมริกันทีเดียว

             อย่างไรก็ดี ไทยต้องเข้าหารัฐบาลเมียนมาร์ พยายามตอกย้ำถึงผลคืบหน้าด้านแรงงานและความร่วมมือด้านอื่นๆ เพราะในที่สุดทั้งสองประเทศต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันอยู่ ใครจะปล่อยให้แรงงานห้า-หกล้านคนในไทยให้อยู่แบบโดยไม่มีรัฐบาลเมียนมาร์ใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ