คอลัมนิสต์

บริหารจัดการน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บริหารจัดการน้ำ : บทบรรณาธิการประจำวันที่21พ.ค.2556


             การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (Asia-Pacific Water Summit) ที่ จ.เชียงใหม่ นั้น ผู้นำแต่ละประเทศได้ขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำได้อย่างน่าสนใจ และน่าตกใจ เนื่องจากตัวแทนจากทุกประเทศมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่า อาจเกิดการขาดแคลนน้ำสะอาด บางประเทศก็เกิดขึ้นแล้ว อย่างกรณีประเทศฟิจิ ถึงกับต้องออกกฎหมายบริหารจัดการน้ำเพื่อคุ้มครองการใช้น้ำ เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีโอกาสเข้าถึงน้ำสะอาดและมีคุณภาพ

             ผู้นำจากหลายชาติต่างแสดงความกังวลถึงการเติบโตของเมืองใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้น้ำ ทั้งน้ำสะอาดและน้ำเสียที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น การต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องระดับชาติ จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อความมั่นคงของประชากร เพราะการขาดแคลนน้ำนั้นจะนำมาซึ่งปัญหาหลากหลาย และสุดท้ายจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกประเทศ ขณะเดียวกันทุกประเทศต่างก็เห็นพ้องกันว่า การบริหารจัดการน้ำนั้นจะต้องร่วมมือกัน ทั้งร่วมบริหารจัดการ แต่จะต้องแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และเทคโนโลยีให้อีกประเทศได้เรียนรู้อีกด้วย

             แต่การตระหนักรู้ถึงปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ได้น้ำสะอาดเพียงพอต่อการบริโภคอุปโภคตามที่บรรดาผู้นำชาติต่างๆ กล่าวสุนทรพจน์กันนั้น ส่วนหนึ่งที่เห็นตรงกันก็คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาความเป็นธรรมชาติของน้ำและการอยู่ร่วมกันของประชากรเอาไว้ให้ได้ ซึ่งสุนทรพจน์ที่ได้กล่าวออกไปอาจจะมีส่วนคล้ายและแตกต่างจากสิ่งที่ประเทศไทยกำลังพยายามจะบริหารจัดการน้ำด้วยงบประมาณมหาศาล 3.5 แสนล้านบาท ภายหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 และได้กลายเป็นเหตุผลใหญ่ให้รัฐบาลไทยคลอดโครงการนี้ออกมา

             ถึงแม้การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จะเป็นการประชุมครั้งที่สอง แต่ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ประกอบกับการทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อจัดการน้ำ ซึ่งเน้นไปที่การสร้างเขื่อนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ ไม่ให้ไหลบ่าท่วมเรือกสวนไร่นาตลอดจนที่อาศัยทำให้อาจมองได้ว่า การประชุมครั้งนี้คือส่วนหนึ่งของโครงการ เป็นส่วนประกอบที่จะสร้างความชอบธรรมว่าโครงการบริหารจัดการน้ำที่กำลังขับเคลื่อนนั้น แม้แต่ผู้นำชาติต่างๆ ก็เห็นพ้องด้วยกับการบริหารจัดการน้ำ

             ความจริงแล้วสิ่งที่ควรจะตระหนักอย่างที่สุดก็คือ การบริหารจัดการน้ำนั้นต้องเน้นไปที่การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ การบริหารจัดการน้ำด้วยการเน้นไปที่การสร้างเขื่อนไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ไม่อาจเรียกว่าการบริหารจัดการ และที่สำคัญการบริหารจัดการน้ำไม่ได้เกิดจากความกลัวว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง เพราะใครก็รู้ว่า น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เกิดความเสียหายมากก็เพราะอะไร ใช่การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดหรือไม่ หลายคนที่อยู่ในรัฐบาลขณะนี้คงมีคำตอบมานานแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ