คอลัมนิสต์

วัฒนธรรมความอับอายในเกาหลี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่น่าแปลกใจเลย อดีตประธานาธิบดีโรห์ มู ฮุน จะตัดสินใจโดดหน้าผาฆ่าตัวตายอย่างน่าอนาจ เจ้าตัวรู้ดีว่าได้ละเมิดจรรยาบรรณของการเป็นผู้นำเกาหลี โดยการรับเงินสินบนกว่าหกล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่

 อดีตประธานาธิบดีโรห์ เป็นคนธรรมดาเติบโตในชนบท ชีวิตต้องต่อสู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา ศึกษากฎหมายด้วยตัวเองจนได้เป็นทนายความ ทางด้านสิทธิมนุษยชนและผู้นำแรงงาน ก่อนจะมาเป็นผู้นำเกาหลีใต้ เขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในตอนนั้น เพราะคนเกาหลีเห็นว่าเขาเป็นคนนอกคอก อาจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองเกาหลีที่เล่นพรรคเล่นพวกกับบรรษัทใหญ่ๆ ได้

 "โรห์" ต้องฆ่าตัวตาย เพราะวัฒนธรรมความอับอายของเกาหลีนั้นมันเป็นความรู้สึกที่รุนแรงและประนีประนอมกันไม่ จึงทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของคนเกาหลีมีมาก เพราะมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่สามารถทนแรงกดดันสังคมได้ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 หลายร้อยคนได้ปลิดชีวิตตัวเอง

 ผู้นำเกาหลีมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องศักดิ์ศรีเป็นอย่างมาก ใครทำให้ตัวเองหรือชาติตระกูลขายหน้าจะรู้สึกอับอายตลอดชีวิต ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมอื่นในโลกยกเว้นญี่ปุ่น ในสังคมอื่นๆ ถ้าทำผิดแล้วจับไม่ได้ อาจไม่ต้องรู้สึกผิดหรืออับอายอะไรเพราะสามารถปิดเป็นความลับได้

 คงจำกันได้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา มีการลงโทษอดีตประธานาธิบดีเกาหลีสองคนในฐานะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนเกาหลีคืออดีตประธานาธิบดีชุน ดู วาน และโร แต วู ทั้งสองคนต้องสวมชุดนักโทษเดินตามถนนโดยถูกประจานอย่างกว้างขวาง แต่ทั้งสองคนไม่ได้ฆ่าตัวตายเหมือนโรห์

 ที่น่าสนใจคือความรู้สึกอับอายในวัฒนธรรมการเมืองเกาหลี และความรู้สึกผิดชั่วดีของนักการเมืองเกาหลีมีสูงมาก เวลามีการสาดโคลนในเวทีสาธารณะต่างๆ หรือในสภาก็ตามมักจะมีปากเสียงและการชกต่อยกัน เพราะคนเกาหลีจะเสียหน้า เสียศักดิ์ศรีไม่ได้

 ในวัฒนธรรมอื่นๆ ความรู้สึกแบบนี้ไม่มี อาจจะมีความรู้สึกอับอายบ้าง แต่มันจะเกี่ยวโยงกับศาสนา ไม่ได้มาจากวัฒนธรรมอับอาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่โรห์ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในญี่ปุ่นความรู้สึกอับอายอยู่ในลักษณะเดียวกัน

 ในสังคมไทยความอับอายเป็นเรื่องปรองดองกันได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเงื่อนไขที่คู่เจรจายอมรับกันได้ คนไทยในสังคมทั่วๆ ไป มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ได้ยึดมั่นในหลักการอย่างเคร่งครัด มีแก่นสาร ใครว่าคนโน้นดีคนนี้ดี ก็ว่าตามกันไป (อย่างเช่นที่เห็นในทีวีเป็นต้น) ฉะนั้นสังคมไทยจึงเต็มไปด้วยคนหน้าด้านไม่มีความอับอายเพราะไม่มีใครลงโทษ ไม่มีใครร้องเรียน เดินหน้าตาเฉย ยิ่งคนมีเงินมีหน้ามีตา ความอับอายรับรองได้ไม่มี

 สังคมเกาหลีใช้วัฒนธรรมอับอายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติ เพราะมันได้ผลมากกว่า คนเกาหลีเป็นคนมีความรู้สึกอ่อนไหว ถึงแม้ว่าบางครั้งหน้าตาจะเครียดและดุดันก็ตาม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ