คอลัมนิสต์

มิชลินสตาร์ ดาวดวงนี้...มีที่มา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่น่าเชื่อว่าจากจุดเริ่มต้น อยากกระตุ้นยอดขายยางรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสของสองพี่น้อง อังเดร และเอดเวิร์ด มิชลิน ที่จะทำอย่างไรให้คนเดินทางมากขึ้น

 

           จนออกมาเป็นไกด์บุ๊คเล่มเล็กๆ สีแดง “มิชลิน ไกด์” ในปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ.2443) ซึ่งมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับเป็นอันมากแล้ว

           แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต่อมายังแตกขยายมาสู่การมอบเป็น “รางวัลมิชลินสตาร์” ที่เกิดขึ้นตามมาในปี พ.ศ 2469 จนกลายมาเป็น “ตัวชี้วัดอันทรงเกียรติ” ที่ทั่วโลกยอมรับว่า หากร้านอาหาร หรือเชฟไหนได้รางวัลนี้ไป คือที่สุดแล้วของชีวิต

           รางวัลนี้เดิมทีเริ่มทำครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ช่วงดังกล่าว จากนั้นขยายออกไปหลายต่อหลายเมืองในยุโรป ข้ามไปทำถึงอเมริกาเหนือ และได้เข้ามาเอเชีย ในปี 2549

           ซึ่งประเทศในเอเชียที่มิชลินเจาะเข้าไปแล้ว คือ จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และล่าสุดคือ ไทย

           ส่วนประเทศในเอเชียที่มีการจัดทำไกด์บุ๊ค และให้มิชลินสตาร์แล้ว คือ จีน, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไทย (6 ธ.ค.ที่ผ่านมา)

           ทั้งนี้ ญี่ปุ่น คือประเทศในเอเชียที่ติดท็อปไฟว์ ได้มาถึง 317 ร้าน ที่เหลือคือ ฝรั่งเศส 594 ร้าน, อิตาลี 295 ร้าน, เยอรมนี 290 ร้าน และสหราชอาณาจักร 125 ร้าน

           โดยการกำหนดดาว จะดูจากหลายองค์ประกอบ ทั้งบรรยากาศภายในร้าน การตกแต่งอาหาร การบริการ ความสะอาด รวมไปถึงรสมือของเชฟให้ร้านอาหารแต่ละร้าน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ขั้นด้วยกัน

           1 ดาว สำหรับร้านอาหารระดับที่ดีมาก, 2 ดาว สำหรับร้านที่ดีเลิศ และ 3 ดาว สำหรับการรับประกันประสบการณ์ที่พิเศษสุดๆ ชนิดที่ต่อให้ไกลแค่ไหน ไปยากอย่างไร ก็ต้องไปกินสักครั้งในชีวิต

           และหากร้านอาหารใดได้รับการแนะนำจากมิชลิน ไกด์ เชฟของร้านนั้นก็จะได้รับการขนานนามไปด้วยว่า เป็นเชฟระดับมิชลินสตาร์

           แต่ไม่ง่าย เพราะนักชิมหรือ “นักสำรวจ” นั้น จะมีความละเอียดถี่ถ้วนมาก โดยจะปลอมตัวไปเป็นลูกค้าปกติ และจ่ายเงินเหมือนคนทั่วไป โดยพวกเขาจะกระจายอยู่ทั่วโลก ชิมอาหาร 250 มื้อ/ปี

           และบางทีมีอาชีพหลักเป็นอย่างอื่น นายธนาคาร ทนาย หมอ หรือนักธุรกิจ แต่ล้วนมีความรู้ความชำนาญทางด้านอาหารและรสนิยมที่เป็นเลิศ

           มากไปกว่านั้นคือ ความอดทนต้องสูง เพราะบางร้านต้องชิม 3-4 ครั้งใน 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่ารสชาติยังคงที่ รวมไปถึงองค์ประกอบทุกด้านรวมกัน 

           ที่คิดไม่ถึงคือ บรรดาจดหมายจากลูกค้าที่เขียนถึงมิชลินไกด์ ก็จะถูกนำมาใช้ในการพิจารณาด้วย ขณะที่ปัจจุบันมีการใช้คอมเมนท์จากโซเชียลเน็ตเวิร์กมาร่วมด้วย เพราะการให้ดาวมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยทุกปี

           แต่...ได้รางวัลแล้ว ใช่จะอยู่ตลอดกาล เพราะมิชลินไกด์มีสิทธิเรียกคืน หากนักสำรวจแอบย่องไปชิมหลังจากนั้น แล้วพบว่าไม่สามารถรักษามาตรฐานเอาไว้ได้

           จนเชฟบางคนประกาศไม่รับมิชลินสตาร์ อย่างล่าสุด เชฟฝรั่งเศส เซบาสเตียน บราส์ จากร้านอาหาร Le Suquet ที่ได้รางวัลสามดาวมานานกว่าทศวรรษ เพิ่งประกาศให้เอาเขาออกมาจากมิชลินไกด์ปี 2018

           ทั้งนี้ เพราะพวกเขาไม่อยากเจอเหตุการณ์ถูกเรียกดาวคืน ที่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของร้าน

           แต่ความหอมหวานก็เย้ายวนชวนลอง เพราะใครที่เป็นเชฟมิชลินสตาร์ ก็เหมือนเป็นคนดังที่จะได้รับเชิญไปยังที่ต่างๆ เพื่อโชว์ ชิม และปรุงอาหารตามเทศกาลหรืองานพิเศษ

           วันนี้ ไทยเราเองมีร้านที่ได้รางวัลสุดปังนี้ โดยมีชื่อในมิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ 98 ร้าน

           แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีร้านใด มีคุณสมบัติถึงพร้อมจนได้ 3 ดาว นอกจากไฮไลต์ที่สุดเห็นจะเป็น “ร้านเจ๊ไฝ ประตูผี” ที่แม้จะได้ 1 ดาวมาครอง แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวที่เป็น สตรีทฟู้ดส์ นั่นเอง

 

-----------------------------------------------------------

"อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง"

-‘เจ๊ไฝ’ เตรียมเสิร์ฟไข่เจียวปูลุงตู่

-ลีลา "เจ๊ไฝ" สตรีทฟู้ดดาวมิชลิน เนรมิตไข่เจียวปู (ภาพชุด)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ