ข่าว

นอนบนพื้นข้ามวันข้ามคืน ฝนตกแดดออก ต้องร่วมพระราชพิธีฯให้ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่วนใหญ่เป็นผู้มาปักหลักรอหลายวัน มีทั้งมาจากต่างจังหวัด และกทม. หลายคนหอบหิ้วถุงใส่สัมภาระใบใหญ่ ภายในมีทั้งเสื้อผ้า เสื้อกันฝน อาหาร น้ำดื่ม และยาประจำตัว

    นอนบนพื้นข้ามวันข้ามคืน ฝนตกแดดออก ต้องร่วมพระราชพิธีฯให้ได้

   วันที่ 25 ตุลาคม  ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชนที่เดินทางมาเข้าร่วมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  จะไม่ได้รับความสะดวกสบาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าหน้าที่จัดหาเบาะรองนั่งแก่ประชาชน โดยรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และร่วมกราบถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ระหว่างริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนผ่าน 

     เวลา 04.10 น.บริเวณจุดคัดกรองสะพานมอญ ผู้สื่อข่าวคมชัดลึก รายงานว่าหลังจากเปิดจุดคัดกรองมีประชาชนเดินทางเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อรอร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นจำนวนมาก โดยผ่านจุดคัดกรองทั้ง 9 จุด คือบริเวณแยกสะพานมอญ ท่าช้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม่พระธรณีบีบมวยผม ถนนกัลยาณไมตรี  แยกสะพานช้างโรงสี แยกวัดพระเชตุพนฯ ท่าพระจันทร์ และใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งประชาชนสามารถนั่งชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศได้ทั้ง 2ฝั่งถนนมหาราชจนถึงแยกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถนนท้ายวังตลอดทั้งเส้นเรื่อยมาจนถึงถนนสนามไชยทั้งฝั่งริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง และด้านข้างสวนสราญรมย์ ถนนราชดำเนินในฝั่งหน้าศาลหลักเมือง ด้านหน้าศาลฎีกาเก่า ไปจนถึงแม่พระธรณีบีบมวยผมและบริเวณจุดกึ่งกลางท้องสนามหลวง โดยประชาชนที่ผ่านจุดคัดกรองแล้ว ต่างก็รีบนำเสื่อ ผ้าพลาสติก กระดาษหนังสือพิมพ์ ฯลฯ มาปูพื้นจับจองพื้นที่ ทั้งนี้ตั้งแต่บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม ไปจนถึงแม่พระธรณีบีบมวยผม เจ้าหน้าที่ได้จัดเบาะรองนั่งไว้บริการประชาชน พร้อมทั้งมีพัดลมเปิดให้บริการตลอดเส้นทางที่ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนผ่านด้วย 

    นอนบนพื้นข้ามวันข้ามคืน ฝนตกแดดออก ต้องร่วมพระราชพิธีฯให้ได้  

        ต่อมาเวลา 04.25 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณทางเท้าหน้าศาลฎีกาที่วางเบาะรองนั่งสำหรับประชาชน เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมาได้มีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้เบาะรองนั่งซึ่งหุ้มด้วยพลาสติกใสมีน้ำขัง เจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. ได้ใช้ไม้รีดน้ำออกเพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนได้เข้ามานั่ง โดยเวลา 05.00 น.ทันทีที่จุดคัดกรองบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม หน้าโรงแรมรอยัล รัตนโกสินทร์ เปิดให้ประชาชนได้เข้ามาจับจองพื้นที่ตั้งแต่พระแม่ธรณีบีบมวยผมยาวไปจนถึงสุดรั้วศาลฎีกา ฝั่งศาลหลักเมือง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนเป็นแนวยาวคอยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าไปนั่งด้านในจนเต็มก่อนที่จะเกลี่ยจนเต็มทุกพื้นที่ ซึ่งประชาชนที่ได้เข้าเป็นกลุ่มแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้มาปักหลักรอหลายวัน มีทั้งมาจากต่างจังหวัด และกทม. หลายคนหอบหิ้วถุงใส่สัมภาระใบใหญ่ ภายในมีทั้งเสื้อผ้า เสื้อกันฝน อาหาร น้ำดื่ม และยาประจำตัว แต่แม้จะรอนอนและต้องเจอแดดฝนมาหลายวัน หน้าตาแต่ละคนยังสดชื่นด้วยมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการร่วมพระราชพีธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 สักครั้งหนึ่งในชีวิต

     น.ส.โศภิต มุนินทร์นพมาศ อายุ 54 ปี ชาว อ.สุไหงโก-ภลก จ.นราธิวาส  อาชีพค้าขาย เดินทางมาพร้อมญาติและเพื่อนๆ รวม 6 คน กล่าวว่า ออกเดินทางจากบ้านเกิดตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.โดยรถไฟและต่อรถยนต์ส่วนตัวที่บ้านพี่สาวที่สุราษฎร์ธานี มาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 23 ต.ค. แล้วอาศัยนอนอยู่ริมคลองหลอด เพื่อรอเข้าคิวบางวันฝนตกหนักต้องอาศัยหลบฝนใต้ชายคา รวมถึงเข้าห้องน้ำในร้านค้าละแวกนั้น ในกระเป๋าสัมภาระเตรียมเสื้อผ้ามาเพียง 2 ชุดเพื่อความสะดวกในการพกพานอกจากนี้ยังมีอาหารและน้ำดื่มอีกเล็กน้อยเพราะทราบว่าจะมีการแจกอาหารในแต่ละมื้อ 

        "ก่อนหน้านี้เคยมากราบสักการะพระบรมศพในหลวง ร.9 ในพระบรมมหาราชวังแล้ว 2 รอบ เห็นบรรยากาศผู้คนมากันจำนวนมากแล้วแอบหวั่นใจว่าวันถวายพระเพลิงอายเข้าไม่ถึง จึงวางแผนมาแต่เนินๆ จะต้องลำบาก เจอแดดฝนอย่างไรก็จะอดทน ช่วงนี้กินเจไม่มีปัญหาเลย ตั้งใจจะกินผลไม้ คิดว่าอยู่ได้ ได้รับแจกร่ม เสื้อกันฝนด้วย  รู้สึกปลื้มใจที่ได้รับน้ำใจ        

         ส่วนตัวเคยไปรอรับเสด็จในหลวง ร.9  ริมทางที่ขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน เราอยู่สุไหงโก-ลก เป็นทางผ่านท่านเสด็จฯ ไป อ.สุคิริน ซึ่งอยู่ไกลมาก ที่นี่สมเด็จย่า เสด็จฯ มาตั้งนิคมสร้างตนเองให้ชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงตัว  ในหลวง ร.9 เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมทุกข์ประชาชน เสร็จแล้วก็เสด็จฯ ไปประทับที่พระตำหนักทักษินราชนิเวศน์  ชาวนราธิวาสต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพราะพระองค์ท่านมาช่วยปรับปรุงสภาพดินเสียให้มีความสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชได้ ถึงพวกเราจะอยู่ใต้สุดประเทศก็อุ่นใจเพราะพระองค์เสด็จฯ มาค่อนข้างบ่อย  ทุกวันนี้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ค้าขายอย่างสุจริต ไม่โลภมาก" น.ว.โศภิต กล่าว 

    นอนบนพื้นข้ามวันข้ามคืน ฝนตกแดดออก ต้องร่วมพระราชพิธีฯให้ได้

     ด้านนางสุภารัตน์ บุญมี อายุ 66 ปี ชาวสุราษฎร์ธานี ครูบำนาญ ที่มาพร้อมกันเผยว่า  ให้ต้องอดทนแค่ไหนก็ทำได้ เพราะ ถ้าเป็นสิ่งที่รักเราจะทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด ก่อนหน้านี้เคยมารอกราบพระบรมนานถึง 8 ชม.ถ้าเป็นคนไม่มีใจอาจจะบ่นหรือเบื่อการมาตรงนี้ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณทำให้เราสงบ รวมถึงได้เพื่อนคุยฆ่าเวลา ทำให้ไม่เบื่อ ความดีของในหลวง ร.9 ทำให้เรารักพระองค์ท่านสุดหัวใจ เทิดทูน 3 สถาบันยิ่งชีวิต การสูญเสียครั้งใหญ่นี้ เราพยามยื้อไว้ให้นานที่สุด แต่ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเวลา และมาถึงวันนี้จนได้ 365 วันไม่น้อยนะแต่ก็ไม่พอกับการแสดงความอาลัย

        "เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ อยู่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ด้วยความที่โรงเรียนกับวัดอยู่พื้นที่เดียวกัน วันนั้นในหลวง ร.9 เสด็จฯ มาทรงทอดกฐินพระราชทานที่วัด เราเป็นข้าราชการก็ได้เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ในระยะใกล้มาก ห่างพระองค์เพียง 3 เมตร ปลื้มปิติมากวันนั้น รู้สึกมีบุญ ในหลวงร.9 ทรงเป็นทุกอย่างในชีวิต ทรงสอนให้อยู่แบบพอเพียง เราเป็นแม่พิมพ์ก็พยายามทำตัวเป็นแม่แบบที่ดี ยึดคำสอนของพระองค์ท่านมาปรับใช้ฝนการสอนเด็ก เวลาเด็กดื้อ แม้จะทำให้เขาหายดื้อและเป็นเด็กดีทุกคนไม่ได้ ก็ต้องสอนไปให้เขาเป็นคนดีให้มากที่สุด ให้เกิดจิตใต้สำนึกที่ดี 

       เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรารักชาติมากขึ้น ท่านทำให้คนทั้งประเทศปิดทองหลังพระ จนล้นมาข้างหน้า จนทุกคนรับรู้ อยากทำตามคำสอนของท่าน เป็นกุศโลบายของท่าน ขนาดท่านไปสวรรค์แล้วยังทิ้งข้อคิดดีๆ ไว้ให้ สอนให้อดทน ให้มีความเพียร ถ้ามีต้นทุนอยู่แล้วจะไม่หงุดหงิด ถ้าใครบ่นก็ช่วยลดความหงุดหงิด บรรยากาศก็ผ่อนคลายขึ้น เพราะเรามีความตั้งใจเดียวกัน นั่นคือแสดงความอาลัยพระองค์ท่าน" ครูบำนาญ กล่าว

นอนบนพื้นข้ามวันข้ามคืน ฝนตกแดดออก ต้องร่วมพระราชพิธีฯให้ได้

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 07.00 น.จิตอาสาเฉพาะกิจได้นำอาหารและน้ำดื่มพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากจุดอาหารพระราชทาน 22 จุดโดยรอบพระบรมมหาราชวังและท้องสนามหลวง โดยเฉพาะภายในบริเวณศาลฎีกาเป็นจุดใหญ่ มีทั้งอาหาร น้ำดื่ม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ นม อาหารเจ ฯลฯ ลำเลียงมาแจกจ่ายแก่ประชาชนที่มาปักหลักรอร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเมนูพระราชทาน อาทิ ข้าวคั่วกลิ้ง+ไข่ต้ม, ข้าวขาหมู+กุนเชียง, ข้าวกะเพราหมู+ไข่ต้ม และผัดหมี่เจ เป็นต้น 

       นางวันจันทร์ จันทร์ประเสริฐ อายุ 74 ปี ชาวอุดรธานี กล่าวว่า เดินทางโดยรถไฟฟรีจากจ.อุดรธานี มากับญาติรวม 4 คน ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 ต.ค. ก่อนมาถึงจุดคัดกรองแยกสะพานมอญตั้งแต่เช้าวันที่ 24 ต.ค. เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดจุดคัดกรองจึงรีบมาจับจองพื้นที่ โดยตัดสินใจมารอที่จุดคัดกรองแยกสะพานมอญเนื่องจากเป็นจุดที่มีชัตเติลบัสรับส่งจากหัวลำโพงมายังจุดดังกล่าว ซึ่งตัวเองเคยเดินทางมากราบพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศถึง 10 ครั้ง ด้วยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำเพื่อประชาชนเสมอมา ยิ่งดูโทรทัศน์ยิ่งร้องไห้ จึงอยากมากราบพระบรมศพและร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในครั้งนี้ และคิดว่าจะกลับในวันที่ 27 ต.ค. 

นอนบนพื้นข้ามวันข้ามคืน ฝนตกแดดออก ต้องร่วมพระราชพิธีฯให้ได้

        “ทุกวันนี้ยังคิดอยู่ว่าทำไมต้องเผาหนอ ความรู้สึกเหมือนทุกอย่างสลายหายไป อยากให้เก็บเอาไว้กราบไหว้ไปนาน ๆ แม้คนอื่นจะบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมเนียมประเพณี แต่ในใจยังอยากกราบท่านอีกหลาย ๆ ครั้ง ส่วนตัวน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ปลูกพืชผักผลไม้ไว้กินเอง เหลือก็แบ่งให้คนอื่นบ้าง ขายในราคาถูกบ้าง ไม่ค่อยซื้อจากที่อื่นมากิน เพราะเป็ดไก่ก็เลี้ยงเอง ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ขณะนั้นคุณแม่ไปเฝ้าฯรับเสด็จ และได้ทูลเกล้าฯถวายผ้าไหมผืนที่ชอบที่สุดแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระองค์ฯได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกเก็บไว้เป็นมรดกด้วย” นางวันจันทร์ กล่าว

นอนบนพื้นข้ามวันข้ามคืน ฝนตกแดดออก ต้องร่วมพระราชพิธีฯให้ได้

      ขณะที่นางบุญเรือง สุขณสุข อายุ 61 ปี ชาวบุรีรัมย์ ซึ่งมาจับจองพื้นที่เป็นกลุ่มแรกๆ จนได้นั่งติดรั้วเหล็ก เล่าด้วยสีหน้าปลาบปลื้มว่า เดินทางมาคนเดียวด้วยรถไฟมาลงที่สถานีหัวลำโพงก่อนมาปักหลักค้างคืนแถวแยกสะพานมอญตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 24 ตุลาคม เพราะตั้งใจอยากมาส่งพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย ส่วนตัวรักพระองค์มาก เพราะพระองค์ทำเพื่อประชาชน ช่วยประชาชนให้พ้นความเดือดร้อนทุกข์ยาก อย่างที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่อุดมสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้ได้ ก็เพราะพระองค์เสด็จฯไปพื้นที่ ได้พระราชทานโครงการชลประทานจนแปรเปลี่ยนพื้นที่ที่แห้งแล้งมาก จนเกิดวลีติดปากของคนในพื้นที่ว่า "แล้งจนต้องตำน้ำกิน" คือมีดินโคลนก็ต้องไปเหยียบๆเอาน้ำออกมา ซึ่งพอพระองค์ไปบุกเบิกทุกวันนี้ก็มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์

       "เมื่อคืนไม่ได้นอนหลับเลย เพราะฝนตกเกือบตลอด จึงต้องนั่งจับแผ่นพลาสติกมาคลุมหัวไว้ และนั่งตากตัวให้แห้ง โดยตั้งใจจะอยู่ถึงวันที่ 27 ตุลาคม เพื่อชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 4 ทั้งนี้ แม้การมาร่วมพระราชพิธีอาจต้องเจอแดดร้อน ต้องเจอฝน แต่ก็เทียบไม่ได้สิ่งที่พระองค์ผ่านมา ขณะที่พระองค์ก็ไม่เคยบ่นอะไร และในโอกาสนี้ ตั้งใจจะน้อมนำคำสอนพระองค์เรื่องการทำเกษตรสวนผสมมาปรับใช้การการทำนาของตัวเอง จากเดิมที่ทำนา 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากโครงการชั่งหัวมั่น" นางบุญเรืองกล่าว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ