ข่าว

รฟท. สั่งอัพเซฟตี้ เขตก่อสร้างรถไฟฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รฟท." แจ้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยพื้นที่สร้างรถไฟฟ้า ใช้กฎ10ข้อกันของหนักร่วงซ้ำ

            13 พฤษภาคม 2560 -- การรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.) แจ้งความคืบหน้าต่อกรณีการปรับมาตรฐานรักษาความปลอดภัยพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า (สายสีแดง) ช่วง บางซื่อ-รังสิต หลังจากเกิดอุบัติเหตุเครนก่อสร้างรถไฟฟ้าร่วงหล่นบริเวณหน้าวัดดอนเมืองจนเป็นเหตุให้คนงานของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสียชีวิต 3 ราย เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา 


            โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางบริษัท อิตาเลียนไทยฯ  รวมถึงที่ปรึกษาควบคุมงาน CSC และ การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง ได้นำชิ้นเหล็ก PT Bar ไปทดสอบวิเคราะห์ชิ้นงาน ด้วยวิธี Microstructure Test ที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.)  ซึ่งการทดสอบดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะทราบผล จากนั้นเมื่อได้ผลทดสอบอย่างเป็นทางการแล้ว จะนำไปวิเคราะห์ความสอดคล้องของข้อสันนิษฐาทางวิศวกรรมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป 

 

            ขณะที่การทำงานในพื้นที่ได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยตามที่สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยได้หารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดคือ 1. เพิ่มความแข็งแรงของการยึด ชุดล้อเลื่อน คานเหล็ก และขายึด ให้ติดกับเสาตอม่อให้แข็งแรงขึ้น ให้สามารถรับน้ำหนักแนวราบในทางเดินหน้า และถอยหลังไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนัก (โครงเหล็ก 360 ตัน) และไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของน้ำหนัก โครงเหล็ก และน้ำหนักชิ้นส่วนคานคอนกรีต 129 ตัน ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่นเพิ่มคานเหล็กและ PT Bar รัดขาเหล็กติดกับเสาโดยมี Safety factor  ที่เหมาะสม, 2. ติดตั้ง limit switch เพื่อจำกัด แรงดัน และแรงดึงที่ควบคุมการ เดินหน้า และถอยหลัง โครงเหล็ก ให้มีค่าแรง
ไม่เกิน แรงที่ใช้ออกแบบ, 3. จัดอบรมพนักงาน ช่างเทคนิคและคนงานที่ทำการติดตั้งโครงสร้างชิ้นส่วนคานคอนกรีตที่มีน้ำหนัก ให้มีเข้าใจขั้นตอนที่ถูกต้อง และขีดจำกัดของอุปกรณ์

 

         4. จัดให้มีวิศวกรหรือช่างเทคนิค ให้มีหน้าที่ตรวจสอบขั้นตอนการทำงานอย่างเข้มงวด หากพบการทำงานผิดขั้นตอนหรือลัดขั้นตอนให้ถือว่าพนักงานหรือคนงานจงใจกระทำผิดเพื่อเป็นการบ่อนทำลายให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานก่อสร้าง ความผิดเทียบเท่าการกระทำผิดวินัยขั้นร้ายแรง ให้ลงโทษขั้นสูงสุด, 5. ให้มีการรัดหัวเสาเหล็กโดยรอบทุกตัว, 6. ในกรณีที่เกิดความขัดข้องเครื่องจักรอุปกรณ์ระหว่างปฏิบัติงานต้องหยุดดำเนินการทันที และให้แจ้งวิศวกรควบคุมและหัวหน้าโครงการทันที, 7. กั้นพื้นที่ไม่อนุญาตให้คนทำงานอยู่บริเวณเสาตัวแรกของการยกอุปกรณ์, 8. กั้นพื้นที่ไม่อนุญาตให้รถผ่านไปมาระหว่างการยกแท่งเหล็ก, 9.ติดตั้งวัสดุทึบป้องกันวัสดุตกหล่นจากที่สูง และ 10.ต้องทำการตรวจ Launching truss ทุกตัว


       การรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งด้วยว่าสำหรับการเพิ่มมาตรการป้องกันในที่ทำงานเพิ่มเติมจากมาตรการของสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ขอให้บริษัทผู้รับจ้าง และ ที่ปรึกษาควบคุมงาน CSC ทำรายงานเพิ่มเติมเพื่อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความรัดกุมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนรวมถึงจะนำมาตรการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยดังกล่าวใช้กับโครงการอื่นๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ