ข่าว

'43 องค์กร' แถลงการณ์ เรียกร้อง ครม.ทบทวน 'คำถามทำประชามติ' หวั่นเกิดขัดแย้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

43 องค์กร ภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง ครม.ทบทวน ‘คำถามทำประชามติ’ หวั่นนำไปสู่ความขัดแย้ง ขอให้รับรอง-นำคำถามประชามติที่ปชช.กว่า 211,904 ราย เสนอมา ใช้ทำประชามติคู่ขนาน ไปกับคำถามของคกก.ฯ

วันที่ 29 ธ.ค. 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Con for All) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้คณะรัฐมนตรีใช้คำถามประชามติที่โอบอุ้มทุกความฝัน โดยมีเนื้อหาสาระความว่า...

 

 

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ได้แถลงผลสรุปการทำงาน โดยมีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ จะมีการจัดทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 3 ครั้ง ได้แก่

 

ครั้งที่ 1 การทำประชามติถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

 

ครั้งที่ 2 การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตามที่มาตรา 256 กำหนดไว้

 

ครั้งที่ 3 การทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

และคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติครั้งที่หนึ่งจะมีเพียงคำถามเดียว คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

 

 

จากผลสรุปดังกล่าว ทำให้ภาคประชาชนผิดหวังและมีความห่วงกังวลต่ออนาคตการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนอยู่อย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้

 

 

1. ภาคประชาชนผิดหวังที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ไม่สามารถออกแบบกระบวนการประชามติให้เป็นที่ยอมรับได้ ทั้งที่การทำประชามติครั้งแรกมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็น ‘ประตูบานแรก’ ไปสู่การสร้างฉันทามติในสังคมว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ดังนั้น คำถามประชามติที่จะใช้ควร “เปิดกว้าง” เพื่อโอบรับทุกความฝัน และควร “ชัดเจน” ไม่มีวาระแอบแฝง เพื่อให้การทำประชามตินั้นสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน

 

2. ภาคประชาชนผิดหวังที่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ เป็นเพียงพิธีกรรม เนื่องจากตลอดระยะเวลาประมาณสามเดือนที่มีการรับฟังความคิดเห็น พบว่า มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของทางรัฐบาล แต่เวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งจะเข้าได้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้นโดยเอา “ธงคำถาม” ที่รัฐบาลต้องการใช้ตั้งไว้เป็นหลักในการพูดคุยและไม่เปิดให้เสนอแตกต่างเป็นอย่างอื่น ทำให้ผลสรุปออกมาเป็นไปตามที่วางธงไว้ตั้งแต่แรก กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้คำตอบของรัฐบาลเท่านั้น และทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องการถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญมีน้ำหนักมากขึ้น

 

 

3. ภาคประชาชนกังวลว่า การตั้งคำถามประชามติของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหมวด 2 หรือ หมวดพระมหากษัตริย์ มาใส่ไว้ในคำถามประชามติ เนื่องจากจะทำให้บทบาทและสถานะทางกฎหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นประเด็นถกเถียงหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งและรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือ รัฐกับประชาชน ที่มองเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แตกต่างกัน และไม่ว่าผลการทำประชามติจะออกมาเช่นไร ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อย่างชัดเจนขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

 

 

นอกจากนี้ยังอาจทำให้ประเด็นการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ วุฒิสภา ยุทธศาสตร์ชาติ หรือระบบเลือกตั้ง ถูกลดความสำคัญลงและมุ่งไปที่เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แทน

 

 

4. ภาคประชาชนกังวลว่า การตั้งคำถามที่มีเงื่อนไขซับซ้อนตามใจรัฐบาลอาจทำให้เสียงของประชาชนถูกบิดเบือน เนื่องจากการตั้งคำถามเพียงคำถามเดียวแต่ประชาชนต้องพิจารณาถึงสองประเด็น ทั้งประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และการไม่แก้ไขหมวดที่ 1 และ หมวดที่ 2 จะทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยการประเด็นใดประเด็นหนึ่งตกอยู่ในสภาวะจำยอมและเสียงที่ลงมติไปไม่สามารถถือได้ว่าเป็นเสียงที่ตรงตามเจตนามรมณ์ของผู้ออกเสียงได้อย่างแท้จริง

 

 

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการและตัวคำถาม หากลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ก็อาจจะถูกตีความว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสะดุดลง ประชาชนก็ยังคงอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อไป

 

 

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากไปลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ก็อาจจะถูกตีความได้ว่า ต้องการแก้ไขหมวดที่ 1 และ 2 หรือแปลว่า ไม่เห็นชอบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วยเช่นกัน

 

 

อย่างไรก็ดี ทางภาคประชาชนทราบดีว่า ผลสรุปของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ ยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย เนื่องจากการ “เคาะ” คำถามประชามติเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ จะต้องทำรายงานเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณช่วงเดือนมกราคม 2567

 

 

ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจึงขอใช้โอกาสนี้มีข้อเรียกร้องไปยังคณะรัฐมนตรีที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน ให้พิจารณาประเด็นนี้ให้รอบคอบยิ่งขึ้น ดังนี้

 

1. ขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนการตั้งคำถามประชามติที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ เสนอ และใช้คำถามประชามติที่เปิดกว้าง ชัดเจน ต่อการสร้างฉันทามติว่า ทุกฝ่ายเห็นชอบกับการเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญใหม่ร่วมกัน เช่น การตั้งคำถามแต่เพียงว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”


 

 

ถ้าหากคณะรัฐมนตรีกังวลว่า คำถามดังกล่าวจะไม่ครอบคลุมประเด็นรูปแบบของรัฐหรือสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรีสามารถเติมเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 เข้ามาได้ เช่น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าควรจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ส่วนการจะไม่แก้ไขหมวด 1 หรือหมวด 2 หรือไม่ เป็นเพียงประเด็นในเชิงรายละเอียดที่รัฐสภาหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถถกเถียงและหาข้อยุติโดยใช้เสียงข้างมาก ไม่ต้องนำมาใส่ในคำถามประชามติ

 

 

2. ขอให้คณะรัฐมนตรีรับรองคำถามประชามติที่ประชาชนกว่า 211,904 รายชื่อ ใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอตามกฎหมายเป็นหนึ่งในคำถามประชามติ โดยให้คณะรัฐมนตรีนำคำถามที่ประชาชนเสนอมาใช้ทำประชามติคู่ขนานไปกับคำถามของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ

 

 

โดยคำถามที่ประชาชนเสนอคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

 

 

ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยสร้างความชอบธรรม และเพิ่มน้ำหนักของการมีส่วนร่วมจากประชาชนให้กับการทำประชามติของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

 

รายชื่อองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์

 

1. เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL)

2. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

3. คณะรณรงค์เพื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

4. เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง (We Watch)

5. ห้องทดลองนักกิจกรรม (ActLab)

6. ศิลปะปลดแอก (Free Art)

7. กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)

8. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)

9. ประชาไท

10. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

11. สมัชชาคนจน

12. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)

13. ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม Lagel Center For Human Rights

14. ขบวนการอีสานใหม่ New Isan Movement

15. ขบวนการสามัญชน

16. ดาวดิน

17. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ(CAN)

18. คณะก่อการล้านนาใหม่(Neo Lanna)

19. Cafe Democracy

20. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

21. ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย(PDMT)

22. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

23. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

24. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

25. คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

26. องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

27. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

28. พรรคโดมปฏิวัติ

29. สหภาพคนทำงาน

30. พิพิธภัณฑ์สามัญชน

31. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

32. เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี

33. นครเสรีเพื่อประชาธิปไตย

34. เหนือเมฆเพื่อประชาธิปไตย

35. โมกหลวงริมน้ำ

36. ทำทาง

37. Secure Ranger

38. Law Long Beach

39. The Patani

40. We Volunteer

41. We Fair

42. WeVis

43. Vote62

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ