คอลัมนิสต์

เสียงสะท้อน “สมคิด” ดันพ่อเมืองเศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(รายงาน) เสียงสะท้อนจากผู้ว่าฯ ถึง “สมคิด” กรณีข้อเสนอดันพ่อเมืองเศรษฐกิจ...ความจริงที่ซุกไว้!! : วัฒนา ค้ำชู สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            ทันที “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”  รองนายกรัฐมนตรี  จุดพลุชูรัฐบาลมีแนวคิดปรับวิธีแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดรูปแบบใหม่วิธีพิเศษ คัดสรรมืออาชีพนั่งบริหาร ตั้งความหวังทำสำเร็จเกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ โดยสรุปประเด็นหลักๆคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบใหม่เทเม็ดเงินลงกลุ่มจังหวัดแสนล้าน ให้บุคคลนั่งผู้ว่าฯเป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดอายุ 50 ปีต้นๆ ต้องนั่งทำงานต่อเนื่อง 4-5 ปี มีวิธีการเฟ้นหาคนเป็นพ่อเมืองเปลี่ยนจากระบบเดิมที่กระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายดำเนินการ แล้วทางรัฐบาลจัดหาผู้ว่าฯให้ที่มีคุณสมบัติหลักต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพ

            หัวหน้าสิงห์เบอร์หนึ่งฝ่ายข้าราชการประจำ “กฤษฎา บุญราช” ปลัดกระทรวงมหาดไทย เอ่ยสั้นๆเป็นอำนาจของเสนาบดีใหญ่ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา”  รมว.มหาดไทย เจ้าของรหัส “มท.1”  ผู้กุมบังเหียนเหล่าพ่อเมือง 76 จังหวัด หลังมีกระแสออกมาปัดชัดเจนไม่เคยมีการหารือพูดคุยกับ “สมคิด-ประยุทธ์” บอกแต่เพียงว่า ผู้ว่าฯที่เก่งตามแนวคิดของ “สมคิด”  ต้องมีการโชว์วิสัยทัศน์ แล้วต้องสรรหาตามกระบวนการขั้นตอนระเบียบของ ก.พ. เหมือนในอดีตที่ได้ดำเนินการกันมา

             เสียงสะท้อน “สมคิด” ดันพ่อเมืองเศรษฐกิจ

            แน่นอนว่า ข้าราชการประจำมีระเบียบวินัยค้ำคอในการปฏิบัติราชการ คงไม่มีใครกล้าออมาแสดงความคิดเห็นต่อต้าน สนับสนุน แบบเปิดเผย

            ผู้ว่าราชการจังหวัดรายหนึ่ง ในพื้นที่ภาคกลาง ได้กล่าวสะท้อนมุมมองว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นมุมมองในแง่เศรษฐกิจ จริงๆแล้วงานของผู้ว่าราชการจังหวัดมันไม่ได้มีแค่เรื่องของเศรษฐกิจ แต่มีหลายอย่างเช่น เศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม การเมือง หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นต้น ในมุมมองส่วนตัว อาทิ  1.การมองมุมใดมุมหนึ่งคัดสรรคนมาทำงานโดยเฉพาะอย่างเดียวจึงเป็นมุมมองที่ไม่ครบถ้วน  2.จังหวัดแต่ละพื้นที่ต้องมีความชัด โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องมีความต่อเนื่องเชิงนโยบาย รัฐบาลชุดใหม่มาถ้าเขาไม่เอาตรงนี้มันก็วุ่นวายแล้วจะทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี เพราะงานบางเรื่องไม่ใช่จะเสร็จได้ภายใน 1 ปีหรือ 2 ปี  และ 3.ต่อมุมมองที่จะให้ผู้ว่าฯทำงานในพื้นที่ 4-5 ปีมันไม่ใช่เป็นคำตอบที่จะแก้ปัญหา เรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่ผู้ว่าฯมีความมุ่งมั่นตั้งใจจึงจะสำเร็จ ขณะเดียวกันงบประมาณที่ลงไปพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นงบระบบฟังก์ชั่น หรืองบประมาณที่ใช้ตามปกติเป็นส่วนมาก ถ้าส่วนกลางไม่จัดงบไปให้งานที่มีจะทำได้หรือไม่

            “ผมขอเรียนว่า ผู้ว่าฯไม่ใช่เทวดา ไม่ได้เก่งมาจากไหน แล้วไม่ได้เก่งแบบปรี๊ดปร๊าด  เรื่องนี้ผมมองว่า ต้องมีการไปแก้ปัญหากฎหมาย ต้องมีมุมมองหลากหลายด้านทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง คงไม่ใช่มีเพียงแค่นี้  ถ้าทำจริงอย่างที่รัฐบาลคิดเอาไว้ ผมว่า มันชักจะไปกันใหญ่ นอกจากนี้คนที่จะขึ้นมาเป็นข้าราชการระดับ 10 หรือตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมันต้องผ่านการทำงานมาเยอะ มีประสบการณ์เยอะแยะ บางคนจะเป็นผู้ว่าฯได้อายุก็ล่วงมาในระดับ 56-58 ปีจึงจะได้เป็นพ่อเมือง แล้วจะเอาคนที่อายุ 50 ปีต้นๆมานั่งก็ต้องเป็นระบบฟาสแทร็กที่เป็นระบบพิเศษเท่านั้น  ดังนั้นถ้าจะเอาเศรษฐกิจอย่างเดียว มันไม่ใช่คำตอบทั้งหมด คงต้องเป็นนักบริหารที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีนโยบายทิศทางที่มันชัดเจน และต้องมีงบประมาณที่พร้อม เพราะต้องมีองค์ประกอบหลายหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องใด เรื่องหนึ่ง” ผู้ว่าฯหลายสมัย ระบุ

            ในส่วนหากจะผลักดันดำเนินการตามที่นำเสนอนี้ จำเป็นต้องก้าวข้ามระบบการบริหารงานบุคคลของสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.)และระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ ผู้ว่าฯคนเดียวกัน เอ่ยว่า  ต้องขอยกตัวอย่างในกรณีที่ตำแหน่งผู้ว่าฯเชียงใหม่ว่างลง ต้องการผู้ที่มีอายุราชการพร้อมปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้รวม 5 ปี  แล้วถ้ามีผู้ว่าฯคนหนึ่งต้องการย้ายมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่มีเวลาไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ โดยที่บุคคลนี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีความอาวุโส ถ้าเหตุเกิดเช่นนี้แล้วจะจัดการอย่างไร หรือจะเอาผู้ว่าฯคนใหม่ขึ้น   ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ตนมองว่า คงไปไม่รอด เพราะการเป็นผู้ว่าฯนี้ การมีประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ โดยส่วนตัวถ้าไม่มีประสบการณ์จากการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดเล็กแล้วขยับขึ้นไปบริหารจังหวัดใหญ่ก็จะทำให้เกิดปัญหา  เพราะเรื่องที่ผู้ว่าฯจะต้องรับผิดชอบดูแลนั้นมีหลากหลาย แล้วแนวความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่สามารถคิดได้ แต่ต้องมีความรอบคอบ โดยเฉพาะในภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดความครบถ้วนรอบด้าน แล้วต้องตระหนักว่า การแก้ไขปัญหาไม่ใช่คนเดียวจะทำเป็นทำได้ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงคนเดียว ต้องมีทั้งการแก้ไขเรื่องของกฎหมาย เรื่องของระบบงบประมาณ หากย้อนไปก่อนหน้านี้ที่เคยได้นำระบบผู้บริหารซีอีโอเข้ามาใช้ในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ  อยากให้ย้อนกลับไปพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จหรือไม่  

            “ผมมองว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องเขตเศรษฐกิจต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล หากแต่อยู่ที่ตัวระบบตัวนโยบาย ความต่อเนื่องในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ถ้ามองไปที่ตัวบุคคลเห็นว่า เป็นการมองที่ไม่ตรงจุด ถ้าจะเอาอนาคตของประเทศ อนาคตของจังหวัดไปฝากไว้กับคน แม้มีคนเก่งคนดี แต่ระบบมันไปไม่ได้ แล้วจะสามารถไปรอดอย่างไร แล้วในระบบการบังคับบัญชา การขอความร่วมมือนั้น เป็นศาสตร์ที่มีความเป็นศิลปะด้วย” ผู้ว่าฯคนเดิม กล่าวและมองว่า สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดหรือคลัสเตอร์ ที่มีเป้าหมายต้องการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมือง แต่ในข้อเท็จจริงภายในกลุ่มเดียวกัน อาจมีเป้าหมายการพัฒนาที่ต่างกันก็เป็นได้ หากกลุ่มจังหวัดมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ขณะที่บางจังหวัดที่อยู่ในกลุ่ม อาจจะไม่สามารถพัฒนาจังหวัดของตนเองได้เลย ในเรื่องเดียวกันย่อมส่งผลต่อการของบประมาณด้วยเหตุที่มีวิสัยทัศน์ไม่ตรงกับกลุ่มที่จังหวัดสังกัดอยู่

             เสียงสะท้อน “สมคิด” ดันพ่อเมืองเศรษฐกิจ

            ขณะที่ผู้ว่าฯอีกคนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า บอกได้เลยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้เก่งด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มีภารกิจงานรับผิดชอบบูรณาการจากของทุกกระทรวง ทบวงกรม ถ้ามุ่งจะเอาผู้ว่าฯมาทำงานด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวเพื่อให้รัฐบาลบรรลุวัตถุประสงค์ ตนขอเสนอให้ตั้งเป็นศูนย์อำนวยการทำงานด้านเศรษฐกิจเลยจะดีกว่า เหมือนกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เขาทำงานด้านความมั่นคง ด้านงานพัฒนาแล้วถ้าต้องการย้อนไปในอดีตที่รัฐบาลเคยบอกว่า ผู้ว่าฯเป็นซีอีโอ ก็ต้องบอกว่า ผู้ว่าฯไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริง ทุกกระทรวงมอบงานไปให้ไปทำ แต่คนที่อยู่ในพื้นที่ตามภูมิภาคก็ยังสังกัดในกระทรวงนั้นๆอยู่ ในความเป็นจริงเขาไม่ได้มอบมา เช่น กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน กรมศุลกากร ที่เก็บภาษี คนเหล่านี้เขาขึ้นอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัดทางส่วนกลางทั้งหมด

            “คนเหล่านี้ที่ทำงานเขาขึ้นอยู่กับราชการส่วนกลางหมด เขาไม่ได้มาสนใจผู้ว่าฯหรอก ถ้าจะให้เป็นคนทำงานแบบซีอีโอจริงต้องให้คนเหล่านี้มาขึ้นตรงกับผู้ว่าฯแล้วมีอำนาจให้คุณให้โทษเขา ความเป็นจริงทุกวันนี้จะไปสั่งอะไรเขาก็ไม่ได้ ให้มาแต่หน้าที่ตามที่ได้รับมอบมา แล้วการที่ต้องการให้ผู้ว่าฯนั่งทำงานพื้นที่ 4- 5 ปี ตรงนี้ต้องไปดูนโยบายของรัฐบาลที่ให้มาจะทำแล้วเสร็จภายในกี่ปี ถ้าเสร็จในช่วง 1-3 ปี มันก็ทำได้ แต่ถ้านานกว่านั้นมันก็ยาก” พ่อเมืองพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าว  

            ในความเป็นจริงแล้วนโยบายถูกกำหนดออกมาจากส่วนกลาง ซึ่งสามารถกำหนดการพัฒนาออกมาได้ว่า จะเป็นอย่างไร แต่ก็เห็นว่า ควรจะเฉพาะเจาะจงไปที่จังหวัดนั้นๆ บนฐานของศักยภาพและความพร้อม ในส่วนของงบประมาณที่ระบุว่า จะมีการอัดฉีดเข้าสู่ระบบกลุ่มจังหวัดก็เป็นเรื่องของการใช้จ่ายของภาครัฐ  

            ผู้ว่าฯ รายนี้ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจควรจะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาโดยเฉพาะ เทียบเคียงกับกรณีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ที่ดูแลด้านความมั่นคง โดยมาตั้งเป็นศูนย์อำนวยการพิเศษดูแลด้านเศรษฐกิจ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเข้ามาขับเคลื่อนดูแลน่าจะมีความเหมาะสมเกิดผลลัพธ์มากกว่าที่จะให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการ

            ด้านพ่อเมืองภาคอีสาน กล่าวว่า เป็นรูปแบบนโยบายที่มุ่งเน้นด้านธุรกิจมากจนเกินไป ด้วยเหตุที่ว่า การทำหน้าที่ของผู้ว่าฯมีหลากมิติ ซึ่งหมายรวมมิติด้านอื่นๆเข้าไปด้วย อีกทั้งประเทศไทยไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนเช่นประเทศจีน ที่จะเอานักธุรกิจเข้าไปบริหารมณฑลหนึ่งๆ ให้เกิดการพัฒนา หากเน้นที่มิติทางเศรษฐกิจเช่นนี้เกรงว่าจะทำให้จังหวัดจะต้องมาแข่งขันระหว่างกันโดยมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเป็นมาตรวัด ส่วนตัวเห็นว่า รัฐส่วนกลางสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยจังหวัดอาจมีมิติในการพัฒนาที่แตกต่างกัน และปัจจุบันการรวมกลุ่มจังหวัดก็มีการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันเช่นกัน ดังนั้นการต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นนักบริหารที่เน้นด้านเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นสิ่งที่ถูกทิศทางมากนัก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ