Program Online

(คลิปข่าว) อธิการเกษียณครอง "มหาวิทยาลัย" อายุสูงสุด 76 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(คลิปข่าว) อธิการเกษียณครอง "มหาวิทยาลัย" อายุสูงสุด 76 ปี

เมื่อเร็วๆ นี้ มีความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวโยงกับเรื่องธรรมาภิบาลในรั้วอุดมศึกษา เป็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นบรรทัดฐานเรื่องการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพราะศาลชี้ชัดว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือไม่ใช่ข้าราชการตามที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 เปิดช่องเอาไว้ก็ตาม เนื่องจากอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติ "อายุไม่เกิน 60 ปี" ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วย

(คลิปข่าว) อธิการเกษียณครอง "มหาวิทยาลัย" อายุสูงสุด 76 ปี

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับนี้ เป็นคดีที่อาจารย์ท่านหนึ่งยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เนื่องจากแต่งตั้งข้าราชการบำนาญซึ่งอายุเกิน 60 ปีแล้วเป็น "รักษาการอธิการบดี" คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง คือพิพากษาว่าการแต่งตั้งข้าราชการบำนาญ อายุเกิน 60 ปี เป็นรักษาการอธิการบดีหรือเป็นอธิการบดีเต็มตัวสามารถทำได้ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับมาอีกทาง โดยชี้ว่าข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุแล้ว หรือคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่อายุเกิน 60 ปี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้เหตุผลของศาลปกครองสูงสุดก็คือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ ต้องมีคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และตามกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งคุณสมบัตินี้ยึดโยงกับสถานภาพความเป็นข้าราชการตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการที่กำหนดชัดว่า ข้าราชการต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี ยกเว้นบางหน่วยงานที่ระบุไว้ในกฎหมายชัดเจนให้เกษียณอายุเกิน 60 ปี เช่น 65 ปีฉะนั้นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจึงต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี แม้จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 37/2560 ออกมาเมื่อปีที่แล้ว เปิดทางให้มหาวิทยาลัยของรัฐสามารถตั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการขึ้นมาเป็นอธิการบดีได้ก็ตาม แต่ศาลก็เห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้ยกเว้นคุณสมบัติเรื่องอายุไม่เกิน 60 ปี ตามกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับที่กล่าวมา โดยเฉพาะ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการนี่คือสาระสำคัญของคำพิพากษา ซึ่งผลของมันแม้จะผูกพันเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เฉพาะคดีที่มีการยื่นฟ้อง แต่คนในแวดวงอุดมศึกษาจำนวนไม่น้อยมองว่าน่าจะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายสำหรับการแต่งตั้งบุคคลที่เกษียณอายุราชการแล้วเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งที่ผ่านมาหลายมหาวิทยาลัยมีการฮั้วกันระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับผู้บริหาร แต่งตั้งอธิการบดีที่หมดวาระการดำรงตำแหน่ง และเกษียณอายุราชการแล้วให้เป็นอธิการบดีต่อไป เมื่อถูกร้องเรียนคัดค้าน ก็ตั้งเป็น "รักษาการ" ไปเรื่อยๆ แต่มีอำนาจเท่าอธิการบดีตัวจริงที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏ-ราชมงคลนับสิบแห่งที่อธิการบดีเป็นผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้ว คืออายุเกิน 60 ปี เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นต้นการจะสร้างบรรทัดฐานในเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ.

(คลิปข่าว) อธิการเกษียณครอง "มหาวิทยาลัย" อายุสูงสุด 76 ปี

เหตุนี้เองแกนนำที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย หรือ ทปสท. จึงได้ออกมาเคลื่อนไหวทันที โดยเดินสายยื่นหนังสือเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน รวมทั้งกระทรวงศึกษาฯ และ สกอ.ด้วย เพื่อให้ประกาศบรรทัดฐานเรื่องนี้ออกมาให้ชัด จะได้ไม่มีปัญหาต้องฟ้องร้องตีความกันอีกต่อไปผศ.วิริยะ ศิริชานนท์ ประธาน ทปสท. อธิบายว่า การตั้งบุคคลที่อายุเกิน 60 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณไปดำรงตำแหน่งอธิการบดี ทำให้เกิดผลกระทบอย่างน้อย 2 ประการ คือ1.ค่าจ้างที่มอบให้อธิการบดีประเภทนี้ สูงกว่าอธิการบดีที่เป็นข้าราชการทั่วไปที่ยังอายุไม่เกิน 60 ปี เพราะเมื่อไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว ก็สามารถกำหนดอัตราเงินเดือนเท่าไรก็ได้ โดยไม่ต้องยึดโยงกับระดับขั้น หรือ "ซี" ของข้าราชการ2.มีค่าตอบแทนอื่นๆ มอบให้อีก เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่ายานพาหนะ ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐย่อมไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้ ก็ต้องไปเพิ่มค่าหน่วยกิตของนักศึกษา เพื่อนำเงินมาจ่ายในส่วนนี้ โดยผู้บริหารของมหาวิทยาลัยกลุ่มที่เกษียณอายุแล้ว ไม่ได้มีแค่อธิการบดี แต่ยังมีรองอธิการบดี ผู้ช่วยฯ และคณบดีต่างๆ อีก แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีเป็นจำนวนมาก"เรื่องนี้มีผลเสียชัดเจน เมื่อรายจ่ายของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง มหาวิทยาลัยก็ต้องหาเงินมา โดยใช้ช่องทางต่างๆ รวมถึงการขึ้นค่าเทอมนักศึกษา ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ปกครอง ผมอยากจะย้อนถามไปยังผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีที่อยากเข้ามาดำรงตำแหน่งเหล่านี้ว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร ทำไมถึงอยากเป็นอธิการบดี สังคมต้องถามกลับไป เพราะคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้วว่าคนกลุ่มนี้ขาดคุณสมบัติ" ประธาน ทปสท.ระบุเรื่องค่าตอบแทนเปรียบเทียบกันระหว่างอธิการบดีที่เป็นผู้เกษียณอายุราชการแล้ว หรืออายุเกิน 60 ปี กับอธิการบดีที่ยังเป็นข้าราชการอยู่ คืออายุยังไม่เกิน 60 ปี ต้องบอกว่าค่าตอบแทนต่างกันมากจริงๆ ซึ่งทาง ทปสท.แจกแจงให้เห็นชัดๆ แบบนี้ (ดูตารางประกอบ)เริ่มจากรายได้ของอธิการที่ยังไม่เกษียณ ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบราชการ คือเงินเดือน 50,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 30,000 บาท และเงินค่าพาหนะ 31,800 บาท รวมรายได้ต่อเดือน 111,800 บาท หรือคิดเป็น 1,341,600 บาทต่อปี รวมทั้งหมดตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี อยู่ที่ 5,366,400 บาทส่วนรายได้ของอธิการบดีที่เกษียณอายุไปแล้ว เมื่อไม่มีสถานะเป็นข้าราชการ ก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดิน ทำให้ต้องตั้งเงินเดือนขึ้นมาเองจากรายได้ของมหาวิทยาลัย ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยก็ตั้งกันแบบไม่มีเพดาน ตั้งแต่แสนกว่าบาทไปจนถึงหลายแสนบาท เงินเหล่านี้มาจากเงินค่าเทอมของนักศึกษา จนนำมาสู่การขึ้นค่าเทอมสมมุติตั้งเงินเดือนไว้ที่ 120,000 บาท อธิการบดีเกษียณแล้วก็ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินประจำตำแหน่งอีกเดือนละ 30,000 บาท ค่าพาหนะอีก 31,800 บาท และยังมีเงินบำนาญ กรณีที่เคยเป็นข้าราชการมาก่อน อีกอย่างต่ำๆ ก็เดือนละ 30,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 211,800 บาท มากกว่าอธิการบดีที่เป็นข้าราชการเดือนละเป็นแสน รายได้ต่อปีอยู่ที่ 2,541,600 บาท และตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง สูงถึง 10,166,400 บาท สูงกว่าอธิการบดีที่ยังไม่เกษียณถึง 5 ล้านบาทอาจารย์จิตเจริญ ศรขวัญ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทป.มรภ.) อธิบายเพิ่มเติมว่า

(คลิปข่าว) อธิการเกษียณครอง "มหาวิทยาลัย" อายุสูงสุด 76 ปี

การตั้งอธิการบดีจากคนที่เกษียณอายุราชการแล้ว มหาวิทยาลัยต้องหาเงินให้ได้มากขึ้น จนนำมาสู่การขึ้นค่าเทอมนักศึกษา เพราะค่าตอบแทนอธิการบดีอยู่ที่ 1-3 แสนบาทต่อเดือน จึงมองว่าไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษา ทั้งๆ ที่จริงสามารถตั้งอธิการบดีที่ยังไม่เกษียณอายุราชการมาทำหน้าที่ก็ได้ แถมค่าตอบแทนก็ไม่แพงอีกด้วย และสามารถนำเงินส่วนต่างของเงินเดือนอธิการบดีไปพัฒนาการเรียนการสอนและจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่นักศึกษา"หากดูตัวเลขความแตกต่างเรื่องเงินค่าตอบแทน จะเห็นว่าแต่ละปีถ้ารวมๆ กันหลายๆ ตำแหน่ง และหลายมหาวิทยาลัย ก็เป็นหลักสิบล้านบาทจนถึงร้อยล้านบาทเลยทีเดียว" อาจารย์จิตเจริญ ระบุประธาน ทป.มรภ. บอกอีกว่า ปัญหานี้มักเกิดกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคล เพราะจะมีประเพณี "วนเก้าอี้ผู้บริหาร" จากมหาวิทยาลัยหนึ่งไปอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง เช่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในภาคกลาง เมื่อพ้นตำแหน่งก็จะติดต่อพรรคพวกที่รู้จักกันให้ดูตำแหน่งว่างของมหาวิทยาลัยในภาคอื่นๆ ทำให้ผู้บริหารหน้าเดิมๆ เวียนเข้าไปบริหารมหาวิทยาลัย หลักการบริหารแบบนี้ อาจารย์จิตเจริญ เรียกว่า "3 ง.""พวกผมสงสัยว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงต้องการเป็นอธิการบดีกันเหลือเกิน ทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้วก็ยังไม่ยอมออกจากตำแหน่ง หรือวนไปหาตำแหน่งในมหาวิทยาลัยอื่นอีก ผมมองว่าคนเหล่านี้บริหารงานด้วยหลักการ 3 ง. คือ งกอำนาจ, งุบงิบ คือแอบทำโครงการแบบไม่โปร่งใส และเงียบ คือเมื่อเกิดเรื่องหรือความไม่โปร่งใสอะไรขึ้นมา ก็จะเงียบ ตีมึนไปเรื่อยๆ รอจนกว่าเรื่องจะเงียบหายไปเอง นี่ยังไม่รวมถึงการมานั่งทับตำแหน่งอธิการบดีเพื่อปกปิดเรื่องทุจริตที่ตัวเองเคยก่อเอาไว้ ซึ่งการเข้ามาตำแหน่งนี้ก็เพื่อป้องกันตัวเองแบบหนึ่งนั่นเอง""อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผลเสียสำหรับการตั้งอธิการบดีจากคนที่เกษียณอายุแล้ว ก็คือแนวคิดของคนเกษียณ โดยมากมักไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้น แตกต่างจากคนหนุ่มสาว หรือคนที่ยังไม่เกษียณอายุที่มีลักษณะความเป็นรุ่นใหม่มากกว่า เหมือนกับการที่ คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 ให้คนนอกมหาวิทยาลัยเข้ามาทำหน้าที่อธิการบดีได้ ก็ถือเป็นเจตนาที่ดี

(คลิปข่าว) อธิการเกษียณครอง "มหาวิทยาลัย" อายุสูงสุด 76 ปี

 

แต่ผมมองว่าหากมีคนนอกเข้ามาก็จะต้องอายุไม่เกิน 60 ปีเหมือนเดิม แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นมีมหาวิทยาลัยไหนนำคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้มาใช้เลย มีแต่การนำอดีตอธิการบดีที่เกษียณแล้วมาเป็นอธิการบดีต่อ แบบนี้เป็นการอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.เพื่อเจตนาสืบทอดอำนาจมากกว่า" อาจารย์จิตเจริญ กล่าวประธาน ทป.มรภ. บอกอีกว่า เรื่องนี้โยงกับปัญหาธรรมาภิบาลด้วย เพราะหากตรวจสอบย้อนกลับไปจะพบว่า ถ้าอธิการบดีเกษียณแล้วมีปัญหาธรรมาภิบาล จะเอาผิดยาก เนื่องจากไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการ จึงเอาผิดวินัยไม่ได้ ต้องฟ้องร้องอย่างเดียว นี่เองที่ทำให้คดีฟ้องร้องในแวดวงอุดมศึกษามีมากมายหลายร้อยคดีเขาย้ำด้วยว่า มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งราชภัฏและเทคโนโลยีราชมงคลล้วนเป็นส่วนราชการ มี "กฎหมายกลาง" ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งทุกสถาบันต้องใช้ร่วมกัน เมื่อมหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นส่วนราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารจึงต้องเป็นข้าราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งกฎหมายกำหนดตำแหน่งไว้ชัดเจน เช่น อธิการบดีฉะนั้นผู้ดำรงตำแหน่งบริหารจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการ และ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ด้วย คือมีอายุเกิน 60 ปีไม่ได้ ตามที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเอาไว้ ซึ่งจากคำพิพากษานี้ กระทรวงศึกษาธิการควรประกาศหลักการให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เพราะทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมีพระราชบัญญัติที่ใช้ร่วมกัน จึงเปรียบเสมือนเป็น "บ้านหลังเดียวกัน"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ