ข่าว

กอท.สั่งสืบเบื้องลึกชายมาเลย์วิวาห์เด็กไทย 11 ขวบ  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะกรรมการกลางอิสลามสั่งสอบข้อเท็จจริงหนุ่มใหญ่มาเลเซียแต่งเด็กไทย 11 ขวบ จัดพิธีที่ไหน - ใครอนุญาต?

 

                            พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ให้ข้อมูล “คมชัดลึก” ว่า คดีของนาย เจ๊ะ อับดุล การิม ชายมาเลเซียวัย 41 ปีที่มาแต่งงานใน จ. .นราธิวาสกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปี ให้ไปเป็นภรรยาคนที่ 3 จนถูกต่อต้านไปทั่วโลกนั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยทราบเรื่องแล้ว และได้สั่งให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่ามีการแต่งงานแบบไม่ถูกต้องแบบนี้จริงหรือไม่ การแต่งงานจัดที่มัสยิดใดและใครเป็นผู้อนุญาตออกเอกสารแต่งงาน

จี้ตร.จับหนุ่มใหญ่มาเลเซียแต่งเจ้าสาวเด็กไทยวัย 11

ชายมาเลย์ใช้ช่องโหว่กฎหมาย 4 จ.แดนใต้ แต่งเด็กไทย11ขวบ

กสม.ชี้ให้เด็กแต่งงานทำลายอนาคต-สวนกระแสโลก

 

                           “เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่การแต่งงานจริง อาจเป็นการแต่งงานแบบหลอกลวงมากกว่า เพราะตามขั้นตอนแล้วต้องมีคณะกรรมการกลางประจำจังหวัดและสถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา ให้การรับรองถึงจะจดทะเบียนสมรสได้ การแต่งงานกับเด็กที่อายุต่ำขนาด 11-12 ขวบ ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะออกใบทะเบียนสมรสให้ง่าย ๆ หรือไปแต่งงานที่มัสยิดไหนก็ได้ ต้องดำเนินเรื่องผ่านระดับกรรมการจังหวัด มีหลายฝ่ายช่วยกันพิจารณา”

 

กอท.สั่งสืบเบื้องลึกชายมาเลย์วิวาห์เด็กไทย 11 ขวบ  

 

                           ส่วนกรณีที่เครือข่ายสิทธิเด็กและสตรีเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎระเบียบของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับสิทธิพิเศษตาม กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก  ที่ไม่ระบุอายุขั้นต่ำก่อนแต่งงานของเด็กผู้หญิงไว้ จนก่อให้เกิดปัญหาการแต่งงานกับเด็กก่อนวัยอันควรนั้น   พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวอธิบายว่าทาง กอท. ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้แล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสากล

                           ทั้งนี้ กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก หรือ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489”  เป็นกฎหมายพิเศษยกเว้นสำหรับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎมายฉบับนี้ให้ความหมายของการสมรส หรือ “การนิกะห์” ว่าเป็นการผูกนิติสัมพันธ์ทางการสมรสระหว่างชายและหญิง เพื่อเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย เมื่อทำพิธีนิกะห์ในมัสยิดเรียบร้อยแล้วถือว่ามีผลตามกฎหมาย แต่หากคู่สมรสใดอยากไปจดทะเบียนที่อําเภอตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้

                           โดยเกณฑ์อายุของการนิกะห์หรือการสมรสนั้น กฎหมายอิสลามฯไม่ได้ระบุว่าให้ทำได้เมื่ออายุเท่าไร มีเพียงการใช้คำว่าเมื่อชายและหญิง  “บรรลุศาสนภาวะ” เช่น พ้นจากการเป็นผู้เยาว์หมายถึงอายุ 15 ปีบริบูรณ์  หรือ ผู้ชายมีน้ำกามเคลื่อนด้วยเหตุใดๆ ส่วนกรณีผู้หญิงหากมีประจําเดือนแล้ว ก็สามารถสมรสได้เช่นกัน

                           จากเกณฑ์การสมรสที่ไม่ระบุอายุขั้นต่ำฝ่ายหญิง เพียงแต่ขอให้มีประจำเดือนเท่านั้น กลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาเด็กผู้หญิงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบังคับหรือล่อลวงให้แต่งงานโดยอ้างว่าไม่ผิดกฎหมายจำนวนมากจนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก


                    

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ