Lifestyle

สยบลือ!!"บุญรักษ์"ยันไม่เคยคิดย้ายผอ.สพป.โคราช 7

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บุญรักษ์" ยันเดินหน้า 5 แนวทางแก้ข้อขัดแย้ง สพท.-ศธจ.โต้กระแสสั่งย้ายผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 7 ยันไม่เคยคิดและไม่ทำ

       ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่มีการเคลื่อนไหวตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชนวนเหตุมาจากเรื่องของอำนาจหน้าที่ในมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ที่ในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 ข้อ 13 ระบุให้โอนอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 53ให้แก่ศธจ. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

         ล่าสุดมีกระแสข่าวจะมีการโยกย้ายนายพีรพงศ์ สุรเสน ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 7 กรณีการตอบกลับหนังสือของ "สุวิทย์ ศรีฉาย" รองศธจ. รักษาการศธจ.นครราชสีมา ที่เชิญร่วมเป็นเกียรติประดับเครื่องหมายอินทรธนูแก่ข้าราชการครูบรรจุใหม่ด้วยข้อความว่า “ทราบ, ไม่ไป, ข้าราชการที่บรรจุใหม่ ล้วนเป็นข้าราชการสังกัดสพฐ.(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)ทั้งสิ้น ควรให้ผู้บังคับบัญชาโดยชอบเป็นผู้ดำเนินการ”  

         เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 60 - ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เคยพูด และไม่เคยคิดจะทำด้วย และไม่เคยมีความเห็นอะไรด้วยในเรื่องนี้ คนวิจารณ์ก็วิจารณ์กันไป  ทั้งนี้ การให้ความคิดเห็นไม่ว่าเรื่องใด ควรระวังว่าจะเกินกว่าอำนาจหน้าที่ แม้แต่ตนเองก็ต้องระวังเช่นกัน 

       หรือแม้แต่กรณีรองผู้อำนวยการรักษาการแทนผอ.สพป.เชียงราย เขต 1 ตอบบันทึกส่วนราชการในจังหวัดเชียงราย ในสังกัด สป.ศธ.ที่ขอให้ส่งผู้แทนร่วมประชุมสรุปผลการจัดกิจกรรมการประกวดระเบียบแถวลูกเสือเนตรนารีระดับประเทศ ประจำปี 2560  ก็ได้พูดคุยกันแล้ว เป็นความเข้าใจผิด เอกสารที่ปราฎชื่อนายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัด ศธ.ในหนังสือด้วยนั้น ไม่เกี่ยวข้องกัน 

        ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ก็จะเดินหน้าทำงานตามกรอบแนวคิด 5 แนวทาง ได้แก่ 1.การจัดสรรกรอบอัตรากำลังของทั้ง สำนักงานศธจ. และ สพท.  2.การตีความกฎหมายที่คณะอุกรรมการด้านกฎหมายของ ศธ.จะต้องดูทั้ง อำนาจตามมาตรา 53 เดิมให้อำนาจสพท. เป็นผู้มีอำนาจการบรรจุแต่งตั้ง กับคำสั่ง คสช. ที่19/2560 ข้อที่ 13 ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้การทำงานดีขึ้น 3. การจัดทำแผนบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 4.การจัดระบบการนิเทศการศึกษา และ 5.การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานร่วมกันของ สพท.และ ศธจ. 

         “การทำงานในระบบใหม่ก็อาจมีข้อขัดข้อง ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น ที่อาจจะไม่ลงตัวบ้าง เพราะเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่าน ซึ่งทั้ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จะมาร่วมกันกำหนดจุดแบ่งงานที่ชัดเจน จากนั้นก็จะทำความเข้าใจกับทั้ง ศธจ.และผอ.สพท. โดยจะตั้งคณะกรรมการประสานงาน 1 ชุด เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของนักเรียนและประเทศชาติเป็นสำคัญซึ่งผมเชื่อว่าทุกอย่างจะลงตัว”เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์ว่อน!! คลิปเสียงปลัด ศธ.

ศธ.ตีความม.53อำนาจบรรจุแต่งตั้ง5ประเด็น 

คนศึกษาฯล่า5หมื่นชื่อทวงคืนอำนาจบรรจุ  

"พีรพงศ์ สุรเสน" จากร้อยเอ็ดสู่ ผอ.สพป. โคราช เขต 7

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ