ข่าว

ทีมทนาย 'บิ๊กโจ๊ก' โชว์หลักฐานเส้นทางเงิน บิ๊ก ตร. เอี่ยวเว็บพนัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมทนายความ 'บิ๊กโจ๊ก' พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ รอง ผบ.ตร. งัดหลักฐานแฉเส้นทางเงิน เว็บพนัน BNKMaster โยง บิ๊กตำรวจ พร้อมตั้งข้อสงสัยทำไมไม่มีการออกหมายจับ

19 มี.ค.2567  นายณัฐวิชช์ เนติจารุโรจน์ และ นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทีมทนาย ความได้รับมอบหมายให้ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ถูกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกหมายเรียก กรณีพัวพันเว็บพนัน BNKMaster โดยทางทีมทนายความนำหลักฐานชี้แจง ใน 5 ประเด็น คือ 

 

1. เรื่องใบอนุโมทนาบัตรทอดกฐินพระราชทาน

 

2.ประเด็นการซื้อตั๋วเครื่องบินโดยสาร 

 

3. กรณียื่นคำร้องขอออกหมายจับ  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล 

 

4.การเลือกปฏิบัติในการสืบสวนจับกุมเส้นเงิน

 

5 ประเด็นร้องขอความเป็นธรรม
 

ทีมทนายความ บิ๊กโจ๊ก นำหลักฐานแถลงแจงเส้นทางเงิน

 

 

1. เรื่องใบอนุโมทนาบัตรทอดกฐินพระราชทาน 

- กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านสื่อ ว่า พล.ต.สุรเชษฐ์  เกี่ยวข้องกับการนำเงินจากเว็บพนัน ไปทำบุญกฐินพระราชทาน เมื่อปี 2565  โดยโอนเงินจากบัญชีม้า ไปยังบัญชีของวัด โดยมีการออกใบอนุโมทนาบัตร เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ในชื่อของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี ซึ่งใบอนุโมทนาบัตรดังกล่าว ผู้ปล่อยข่าว ระบุว่าเป็นการกระทำผิดที่อาจเข้าข่าย ม.112 ด้วยนั้น 

 

จากการตรวจสอบพบว่า การโอนเงินจำนวนเงินดังกล่าวที่ถูกอ้างว่าเป็นบัญชีม้าไปยังวัด มีเพียงรายการเดียว เป็นเงิน 200,000 บาท เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 จากบัญชีที่ พ.ต.ท.คริษฐ์  ปริยะเกตุ ถือใช้อยู่ ซึ่ง พ.ต.ท.คริษฐ์ เป็นผู้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเนื่องจากได้รับเงินมาจาก น.ส.หลุย เพื่อร่วมทำบุญ จึงมีการออกใบอนุโมทนาบัตร เป็นชื่อของ น.ส.หลุย  ส่วนรายการใบอนุโมทนาบัตร ที่มีชื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์  เป็นการนำเงินส่วนตัวไปร่วมทำบุญในวันที่ 29 ต.ค. 2565 จึงไม่มีความเชื่อมโยงกับบัญชีม้าของเว็บพนันแต่อย่างใด 

 

 

ใบอนุโมทนาบัตร ของบิ๊กโจ๊ก

 

อย่างไรก็ตาม การโอนเงินทำบุญของ น.ส.หลุย มีการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่าง พ.ต.ท.คริษฐ์ กับ เลขาฯของ น.ส.หลุย ผ่านแอปพลิเคชันไลน์  และปัจจุบันข้อมูลดังกล่าว อยู่ในโทรศัพท์ของ พ.ต.ท.คริษฐ์  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ยึดไว้ ส่วนกรณีที่อ้างการนำเงินเว็บพนันไปทำบุญกฐินพระราชทาน อาจเข้าข่าย ม.112 จึงเป็นการกล่าวอ้างกันเอง 

 

 


 

2.ประเด็นการซื้อตั๋วเครื่องบินโดยสาร 

กรณีข้อกล่าวหาว่าซื้อตั๋วเครื่องบินให้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. โดยมีการใช้เงินจากบัญชีม้า ใช้ซื้อตั๋วเครืองบินให้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.แล้วผูกโยงมาว่ามีความใกล้ชิด กับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.นั้น ข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบว่า เป็นการซื้อตั๋วเครืองบิน เมื่อวันที่ 11 มี.ค 2565 โดย พ.ต.ท.คริษฐ์ และครอบครัว เส้นทางไปกลับ กทม.-หาดใหญ่  เป็นจำนวนเงิน  13,100 บาท  ไม่เกี่ยวกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. แต่อย่างใด  

 

 

หลักฐานการซื้อตั๋วเครื่องบินของ พ.ต.ท.คริษฐ์

 

 

3. กรณียื่นคำร้องขอออกหมายจับ  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล 

กรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์   ถูกโยงในคดี สน.เตาปูน กรณีเว็บ BNKMaster นั้น  จากการตรวจสอบไม่พบเส้นเงินที่เกี่ยวข้องพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งจากผังเส้นทางเงินบัญชีม้าของ น.ส.พิม เป็นบัญชีเดียวกับ คดีเว็บพนันมินนี่ ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้รับไว้ไต่สวนแล้ว  

 

ซึ่งจากการตรวจสอบ  รายละเอียดของบัญชี น.ส.พิม  มีอยู่ในคดี ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ  ตามที่พนักงานสอบสวน ระบุไว้ในหมายจับ  วันที่ 22 กย 2566 เงินหมุนเวียน บัญชีของ น.ส.พิม จำนวน 600 ล้าน  ใน ส่วนคดี สน.เตาปูน มีจำนวนเงิน 400 ล้าน เป็นคดีฟอกเงินเว็บพนัน ซึ่งตามกฎหมายการฟอกเงินของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กำหนดว่าคดีที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ 300 ล้าน ขึ้นไป อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ แต่ทำไมกองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงดึงเรื่องเว็บ BNKMaster ไว้ไม่ส่งไปดีเอสไอ 
 

 

เส้นเงินของ ของบัญชีม้า เป็นคดีเดียวกันกับใินนี่

 


4.การเลือกปฏิบัติในการสืบสวนจับกุมเส้นเงิน

เส้นทางการเงิน การทำธุรกรรมทางการเงินของ น.ส.พิม มีการโอนเงินเข้าบัญชีต่างๆ ซึ่งเป็นตำรวจยศตั้งแต่ ดาบตำรวจ ถึง พล.ต.ต. ที่เปิดบัญชีรับเงินจำนวนเกือบ 30 ราย รวมเป็นเงินหลายสิบล้านบาท  แต่มีการออกหมายจับเพิยงแค่ 3 เส้นเงิน พนักงานสอบสวนทำไมไม่ออกหมายจับเส้นทางเงินอื่นซึ่งเป็นชุดเดียวกับของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ 

 

ก่อนหน้านี้  น.ส.พิม ได้เคยร้องต่อกระทรวงยุติธรรม ว่าถูกตำรวจเรียกรับเงิน ซึ่งเรื่องอยู่ที่ดีเอสไอ และมีการสอบถามมายังพนักงานสอบสวนหลายครั้งแต่ไม่มีการตอบกลับ  และ น.ส.พิม ยังไปแจ้งความที่ สภ.คอหงษ์ และมีการออกหมายจับ 2 เส้นทางเงิน ถูกจับกุมแล้ว 1 

 

 

เส้นทางเงิน น.ส.พิม ที่มีการโอนเงินให้กับตำรวจกว่า 30 นาย แต่ไม่ถูกออกหมายจับ

 

 


5 ประเด็นร้องขอความเป็นธรรม

ผู้ถูกกล่าวได้ยื่นคำร้อง ขอเปลี่ยนตัวคณะพนักงานสอบสวนไปแล้ว 3 ครั้ง เนื่องจากเกรงว่าผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้รับความเป็นธรรม  แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ อีกทั้งการขอหมายจับดำเนินการในขณะที่หัวหน้าพนักงานสอบสวน ไม่อยู่ในประเทศ จึงตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่เป็นคนยื่นคำร้องเป็นผู้ที่มีชื่อกับเส้นเงิน  มีข้อต้องปกปิดหรือไม่ 

 

 

หนังสือร้องขอเปลี่ยนคณะพนักงานสอบสวน 3 ครั้ง

 

 

หลังจากนี้ ทางทีมทนายความ จะนำเอกสารหลักฐานไปยื่นใน 4 ช่องทาง คือ 

1. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ 

2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. 

3. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือบชก.ก 

4. นายกรัฐมนตรี  
 

 

logoline