ข่าว

ตร.-ปปง.แฉ!! "ดูไบ"แหล่งกบดานแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตร.-ปปง.คืนเงินเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ครั้งที่9 ระบุแก๊งเลือกดูไบเป็นฐานเพราะล้ำสมัย-พัฒนารูปแบบตุ๋นให้ซับซ้อนขึ้น

 

         เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 มีนาคม 2561 - ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และสถาบันการเงิน แถลงการมอบเงินคืนให้กับผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ครั้งที่ 9 โดยเป็นผู้เสียหายในคดีของ สภ.ถลาง และ สภ.กะรน จังหวัดภูเก็ต 2 คน สน.พหลโยธิน 2 คน และ สภ.เมืองนนทบุรี 1 คน รวม 5 คน จำนวนเงิน 861,664 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินของผู้เสียหายได้เต็มจำนวนทั้งหมด 3 คน

         พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่จับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งในและนอกประเทศไทยจำนวนมาก โดยที่ผ่านมามีการทลายแก๊งเหล่านี้ทั้งในประเทศมาเลเซีย กัมพูชา และล่าสุดคือเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาเป็นคนไทย 23 คน และไต้หวัน 1 คน ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่าส่วนใหญ่แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีหัวหน้าเป็นชาวไต้หวันว่าจ้างคนไทยให้เปิดบัญชี และทำหน้าที่เป็นม้ากดเงินให้กับแก๊ง

         ด้าน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากการสืบสวน พบว่า เมืองดูไบ เป็นสถานที่ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักจะเลือกใช้เป็นฐานปฏิบัติการ ถึงกว่าร้อยละ 60 ถึง 70 เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความทันสมัยของเทคโนโลยี ง่ายและสะดวกในการก่อเหตุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบได้ยาก โดยหลังจากนี้จะมีการประสานกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทย หารือแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นทางการ

         ขณะที่ นายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงให้มีความซับซ้อนและตรวจสอบยากมากขึ้น เช่น การหลอกให้ผู้เสียหายเปิดบัญชีใหม่ แล้วนำเลขบัญชีไปเปิดใช้งานผ่านระบบเอ็มแบงก์กิ้ง ก่อนจะให้ผู้เสียหายโอนเงินจากบัญชีเก่าเข้าบัญชีใหม่ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะโอนเงินต่อจากเอ็มแบงก์กิ้งเข้าสู่บัญชีของตนเอง

          ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินคืนผู้เสียหายจากแก๊งคอบเซ็นเตอร์ได้ 71 คน จำนวนเงินกว่า 13 ล้านบาท ขณะที่สถิติการรับแจ้งเหตุของศูนย์ป้องก้นและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2560 ถึง 22 มีนาคม ที่ผ่านมา จำนวน 408 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ