Lifestyle

'แก้วน้ำกันสำลัก' ตัวช่วยผู้ป่วยระบบประสาท ดื่มน้ำอย่างมั่นใจ ไม่สำลัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์จุฬาฯ ออกแบบ 'แก้วน้ำกันสำลัก' คำนวณมุมการไหลของน้ำ ปริมาณและ ระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้วถึงริมผีปากผู้ป่วย หวังลดอัตราการสำลักที่อาจนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อ ให้ผู้ดูแลสบายใจ ผู้ป่วยปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิต

“สำลัก” ปัญหาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับ ผู้สูงวัย ที่ป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น การลำลักในผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดภาวะปอดบวม ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสโลหิต จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ในที่สุด ปัญหาการสำลักจึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ควรมองข้าม

 

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ

 

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา และปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการกลืนยาก และสำลักง่ายมาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยกินช้าๆ ดื่มช้าๆ ก้มคอแล้วค่อยกลืนอย่างมีสมาธิ และหมั่นฝึกกล้ามเนื้อคอเป็นประจำ ฟังดูเหมือนง่ายแต่มีผู้ป่วยไม่ถึงครึ่งที่สามารถทำได้ เพราะเรามักกินดื่มแบบที่เราเคยชินจนเสี่ยงเกิดการ สำลัก ตามมาบ่อยๆ

 

 

อาการสำลัก อันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

 

คนเราไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ “สำลัก” น้ำและอาหารกันได้ แต่ก็มักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และมักไม่อันตรายมากนัก (หากแก้อาการและได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที) แต่อาการสำลักที่น่าห่วงใยและเราควรใส่ใจเป็นพิเศษคือการสำลักที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้มีอาการกล้ามเนื้อคออ่อนแรง ผู้ป่วยระบบประสาทที่กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน เช่น คนไข้โรคพาร์กินสัน และผู้มีภาวะกลืนยาก (1 ใน 3 ของผู้สูงวัยมีภาวะกลืนยาก และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคทางสมองมีภาวะกลืนยาก)

ผู้สูงวัย บางรายมีปัญหาเรื่องการกลืนยากและมีความเสี่ยงที่จะสำลักสูง จนแพทย์วินิจฉัยว่าเขาถึงจุดที่ควรใส่สายให้อาหารทางจมูก หรือเจาะหน้าท้องให้อาหารได้แล้ว แต่ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่กลัวการทำแบบนี้ และมักให้เหตุผลว่า สงสารผู้สูงวัย แต่ความสงสารนี้นำมาซึ่งความเสี่ยงที่สูงมากๆ ปัญหาหนึ่งของผู้สูงวัย คือ การกลืนไม่หมด มีการตกค้างของเศษอาหารในช่องปาก ยกตัวอย่าง อาหารหนึ่งคำจะมีทั้งข้าวและกับข้าว ซึ่งผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยอาจกลืนให้หมดไม่ได้ในครั้งเดียว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ดูแลบอกให้ผู้ป่วยกลืนซ้ำรอบที่ 2 หรือบางคนอาจต้องกลืนซ้ำเป็นรอบที่ 3 เพื่อกลืนอาหารให้หมด นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังต้องตรวจสอบในช่องปากผู้ป่วยทุกครั้งด้วยว่ามีเศษอาหารหลงเหลืออยู่หรือไม่ เพราะหากมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่ในช่องปากจะทำให้ผู้ป่วยสำลักได้ในภายหลัง” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบาย

               

การสำลักภายหลัง อาจเกิดเพียงไม่กี่นาทีหลังจากการกลืนอาหาร แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ภายหลังการรับประทานอาหารในช่วง 1 ชั่วโมงได้เช่นกัน มันจะคล้ายๆ กับกลืนอาหารจนหมดแล้ว แต่จริงๆ ยังแอบมีเศษอาหารหลงติดอยู่ในช่องปาก เมื่อผู้ป่วยนอนหงาย เศษอาหารก็จะตกลงมา ทำให้มีอาการไอ และ สำลัก ตามมา  

 

'แก้วน้ำกันสำลัก' ตัวช่วยผู้ป่วยระบบประสาท ดื่มน้ำอย่างมั่นใจ ไม่สำลัก   

               

นอกจากนี้ ยังมี อาการสำลักเงียบ หมายถึงการสำลักแบบไม่มีอาการไอ ไม่แสดงอาการใดๆ แต่เศษอาหารเล็กๆ หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรีย ในช่องปากได้ไหลลงในหลอดลมเรียบร้อย จนเป็นสาเหตุทำให้ปอดติดเชื้อ ปอดบวม ผู้ป่วยจะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็นก็ต่อเมื่องเกิดอาการรุนแรงของภาวะปอดอักเสบ เช่น ไอ มีไข้ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก จนต้องเข้าโรงพยาบาล

 

กลืนอย่างไร ไม่สำลัก ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล

                

  • ชวนผู้ป่วยขยับกล้ามเนื้อบริเวณปากและคอเป็นประจำ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เช่น บริหารกล้ามเนื้อคอ โดยใช้ท่าก้มเงยศรีษะช้าๆ ท่าเอียงศรีษะไปทางซ้าย-ขวา แต่ละท่าค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง และบริหารกล้ามเนื้อปาก โดยออกเสียงอา อู อี โอ เอ ค้างไว้เสียงละ 5 วินาที ทำซ้ำเสียงละ 5 ครั้ง เป็นต้น
  • ดูแลให้ผู้ป่วยมีสมาธิในการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ตั้งใจรับประทานอาหารและกลืนอาหารให้หมด ในขณะรับประทานหรือดื่มน้ำ ต้องไม่คุย ไม่ดูโทรทัศน์ หรือไม่ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่จะทำให้เสียสมาธิขณะรับประทาน และจะทำให้ประสิทธิภาพในการกลืนลดลง เสี่ยงกับการสำลัก
  • แนะนำให้ผู้ป่วยก้มหน้าในขณะกลืน เมื่ออาหารเข้าปากแล้ว ให้เคี้ยวให้เสร็จเรียบร้อย และเมื่อจะกลืนต้องก้มคอ คางชิดหน้าอก แล้วค่อยกลืนเพื่อลดโอกาสสำลัก
  • สังเกตพฤติกรรมการกินของผู้ป่วย หากผู้ป่วยทำท่าจะลืมข้อแนะนำที่ให้ก้มหน้าขณะกลืน ผู้ดูแลต้องดันศีรษะผู้ป่วยให้ถูกจังหวะ คางชิดอก แล้วบอกให้ผู้ป่วยกลืนอาหาร

               

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ผู้ป่วยและผู้ดูแลจะได้รับคำแนะนำดังกล่าวและฝึกปฏิบัติจากนักฝึกกลืนที่โรงพยาบาล แต่ปัญหาที่มักพบเสมอๆ คือเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน ก็ไม่ได้ปรับพฤติกรรมการกินตามที่แพทย์กำชับ มีผู้ป่วยน้อยรายเท่านั้นที่ทำได้ อีกอย่างคือโรคประจำตัวบางโรคก็เป็นอุปสรรค เช่น โรคพาร์กินสัน และผู้ที่มีภาวะ Stroke กล้ามเนื้ออ่อนแรง หลอดเลือดตีบ ที่ทำให้การกลืนยากขึ้น

'แก้วน้ำกันสำลัก' ตัวช่วยผู้ป่วยระบบประสาท ดื่มน้ำอย่างมั่นใจ ไม่สำลัก

 

'แก้วน้ำกันสำลัก' ตัวช่วยผู้ป่วยระบบประสาท ดื่มน้ำอย่างมั่นใจ ไม่สำลัก

 

“ในเมื่อ ผู้สูงวัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินยาก เราจึงหาวิธีอื่นเพื่อช่วยควบคู่กันไปด้วย โดยศึกษาจากพฤติกรรมการดื่มน้ำปกติ เมื่อน้ำไหลมาแตะริมผีปาก เราจะเงยคอขึ้น มาเป็นฐานในการพัฒนา แก้วน้ำกันสำลัก เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย”

 

แก้วน้ำกันสำลัก ผลิตด้วยวัสดุประเภทเดียวกับขวดนมของเด็กทารก ดีไซน์ให้เหมือนแก้วน้ำปกติทั่วไป และใช้สีสันสดใสเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้อยากดื่มน้ำมากขึ้น

 

“เราออกแบบ แก้วน้ำกันสำลัก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดื่มน้ำ กลืนน้ำในขณะที่หลอดอาหารอยู่ในตำแหน่งที่ดี และหลอดลมปิดอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลัก แต่เราไม่ต้องการให้ผู้ใช้และคนรอบข้างรู้สึกว่าผู้ที่ใช้แก้วน้ำนี้เป็นผู้ป่วย ที่กำลังใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่ จึงดีไซน์ให้แก้วน้ำดูกลมกลืนกับของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถพกไปใช้ที่ไหนก็ได้ แม้ภายนอกจะดูไม่แตกต่างจากแก้วน้ำทั่วไป แต่ภายในมีกลไกพิเศษเพื่อกันการสำลัก ที่ทีมวิจัยได้ศึกษาและคำนวณอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นมุมการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำ และระยะเวลาการไหลของน้ำจากแก้วมาถึงริมผีปากผู้ใช้งานที่เหมาะสม 

 

'แก้วน้ำกันสำลัก' ตัวช่วยผู้ป่วยระบบประสาท ดื่มน้ำอย่างมั่นใจ ไม่สำลัก

 

แก้วน้ำนี้ช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถดื่มน้ำได้โดยไม่ต้องเงยคอ เพราะการที่ผู้สูงวัยไม่ต้องเงยคอ จะช่วยลดการสำลักลงได้มาก และที่สำคัญ แก้วน้ำกันสำลักนี้สามารถควบคุมปริมาณน้ำต่อการดื่มแต่ละครั้งให้ไม่มากจนเกินไป  และกำหนดเวลาในการดื่มให้ไม่เร็วเกินไปได้ ด้วยปริมาณการดื่มที่เหมาะสม มุมที่เหมาะสม ท่าดื่มที่เหมาะสม เวลาดื่มที่ไม่เร็วจนเกินไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยสำลักน้อยลง นอกจากนี้ แก้วน้ำกันสำลักยังมีดีไซน์พิเศษเพื่อช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันด้วย หูของแก้วน้ำมีลักษณะนูนขึ้นมา เพื่อช่วยคนไข้พาร์กินสันที่มีภาวะเกร็งกำมือได้ไม่สุด สามารถจับแก้วน้ำได้ถนัด มั่นคง และมั่นใจในการดื่มน้ำมากยิ่งขึ้น

               

ปัจจุบัน แก้วน้ำกันสำลัก ยังเป็นต้นแบบที่ผ่านการวิจัยขั้นแรก และกำลังอยู่ในช่วงการวิจัยทดสอบกับผู้ใช้งานจริงจำนวนมาก ทั้งคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาล และคนไข้ที่นำแก้วน้ำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการติดเครื่องเซนเซอร์จับพฤติกรรมขณะดื่มน้ำไว้  โดยจะประมวลผลการใช้งานจริงทั้งหมดนี้ นำมาพัฒนาดีไซน์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด แล้วจึงต่อยอดการผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป" ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

               

               

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ