Lifestyle

10 โรคฮิต คนทำงานออฟฟิศ มีอะไรบ้าง เช็กดู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

10 โรคฮิต คนทำงานออฟฟิศ ที่หลายๆ คนอาจพบเจอในชีวิตประจำวัน และประสบปัญหากับตัวเองแบบไม่รู้ตัวแบบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไมได้ เรามาดูกันว่ามีโรคอะไรบ้าง

ชีวิตประจำวันของพนักงานออฟฟิศ ต้องอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งเครื่องมือสื่อสาร ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้กลายเป็นโรคบ้างาน หรือออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในกลุ่มคนที่ทำงานออฟฟิศ  สำหรับ 10 โรคยอดนิยมสำหรับคนทำงานออฟฟิศมีอะไรบ้าง 
 

โรคเครียด 
ถือว่าเป็นโรคฮิตสำหรับคนวัยทำงาน เกิดขึ้นได้กับทุกๆ ช่วงอายุการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่หรือทำงานมาแล้วเป็นเวลานาน ซึ่งวิธีการหลีกเลี่ยงที่ง่ายที่สุดก็คือ พยายามไม่เครียด รู้จักผ่อนคลาย หากิจกรรมที่เรารู้สึกชอบทำ หรือแค่คุณลองละจากงานไปเดินเล่นสัก 10 นาที ก็ถือว่าได้ผ่อนคลายแล้ว
 

ไมเกรน 
ปวดศีรษะเรื้อรัง คุณเคยรู้สึกไหมว่าเวลานั่งทำงานนานๆ จะรู้สึกปวดหัวบริเวณขมับด้านหน้าศีรษะ หรือหลังต้นคอ นั่นคือสัญญาณเตือนให้คุณรู้ถึงภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่เกรน การพักผ่อนไม่เพียงพอ แสงแดด ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด ก็เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้เช่นกัน


กรดไหลย้อน 
การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รีบรับประทานจนเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เครียดจัดจนอาหารไม่ย่อย และคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าจัด มักเสี่ยงกับการเป็นโรคกรดไหลย้อน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี อาจจะนำไปสู่การเกิดมะเร็งหลอดอาหารส่วนปลายได้อีกด้วย


โรคอ้วน 
ล่าสุดพบว่าคนวัยทำงานเป็นโรคนี้กันมากขึ้นโดยเฉพาะพวกที่ชอบทำงานไปด้วยรับประทานไปด้วย ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ซึ่งผู้หญิงอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชาย และโรคอ้วนยังเป็นบ่อเกิดของโรคสำคัญๆ มากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนควรดูแลใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ ควรปรึกษานักโภชนาการ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


ปวดหลังเรื้อรัง 
ในชีวิตประจำวันของการทำงานเรามักจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และ การใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆ ก็เป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวดคอ บ่าไหล่ หลัง แขน ขา และสะโพก อันเนื่องมาจากโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ควรพบแพทย์ผู้เชียวชาญเพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
 

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ 
เกิดจากการอั้นปัสสาวะ เป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะการนั่งทำงานเป็นเวลานานหรือการเดินทางที่ใช้เวลานานๆ แล้วไม่สะดวกต่อการขับถ่าย ทำให้ต้องอั้นปัสสาวะเป็นประจำอาจทำให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางท่อปัสสาวะทำให้เกิดการอักเสบ โดยโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย


ความดันโลหิตสูง 
ภัยเงียบที่ไม่มีอาการ มักพบเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดจากปัจจัยบางอย่าง ได้แก่ การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยไม่ทราบสาเหตุ จะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนอื่นๆ ถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังเกิดจากโรคอ้วน ความเครียด การรับประทานอาหารรสเค็ม การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงานจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ทำงานใช้กำลัง ความดันโลหิตสูงไม่ใช่แค่เรื่องความดันแต่อาจนำมาซึ่งภาวะเส้นเลือดแตก อัมพฤกษ์อัมพาต ไตวาย พิการ และหัวใจวายอีกด้วย


มือชา เอ็นอักเสบ 
นิ้วล็อก ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้น อาการของการอักเสบ ของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือ จากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การจับเม้าส์ในท่าเดิมนานๆ ซึ่งก่อให้เกิดกล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนเกิดอาการอักเสบเกิดเป็นพังผืดยึดจับบริเวณนั้นๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้


ต้อหิน 
ตาพร่ามัว 1 ใน 10 ของคนอายุ 40 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคต้อหิน หรือบางคนอาจจะกำลังเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุนั้นเกิดจากการใช้สายตาจ้องมองคอมพิวเตอร์นานๆ หรือเกิดจากการติดเชื้อของกระจกตาจากการใส่คอนแทคเลนส์ และสิ่งที่อันตรายที่สุดคือ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้ตาบอดได้


โรคนิ่วในถุงน้ำดี 
มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น Pizza ไก่ทอด โดนัท ขนมปัง เป็นต้น มักพบในเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป คนอ้วน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนผอม แต่ก็ยังคงมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ด้วยเช่นกัน เช่น กรรมพันธุ์ การอักเสบและการคั่งของน้ำดีในถุงน้ำดี การทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ โดยเมื่อเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว ถ้าไม่รีบรักษาอาจจะก่อให้เกิดอาการเรื้อรังตามมา


พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันทีไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดโรคมาสู่ตัวคุณเองโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพเพื่อให้มีร่างกายและแข็งแรงและพร้อมที่จะทำงานอย่างมีความสุขได้ทุกวัน


ขอขอบคุณบทความจาก
แพทย์หญิงธัญลักษณ์ ศรีบูระเดช
สาขา: ศัลยศาสตร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ