Lifestyle

"ภาวะหมดไฟ" โรค หรือ อารมณ์ เช็คสัญญาณเตือน งานแบบไหน เสี่ยง หมดไฟ มากที่สุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ภาวะหมดไฟ" หมดไฟทำงาน Burnout โรค หรือ อารมณ์ เช็คสัญญาณเตือน งาน แบบไหน เสี่ยง หมดไฟ มากที่สุด สุดท้าย กลายเป็น โรคซึมเศร้า ได้หรือไม่

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่า สถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะ หมอ 
มี "ภาวะหมดไฟ" (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2565 ค่าเฉลี่ย 3 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 12.2 หรือ 6 เท่า โดยสาเหตุหลัก มาจากภาระความรับผิดชอบ ในภาวะวิกฤตของผู้ป่วย และจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน แล้ว ภาวะหมดไฟ คืออะไร มีสัญญาณเตือนแบบไหน ที่จะทำให้รู้ว่า กำลังเข้าข่าย
ภาวะหมดไฟทำงาน และทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้หรือไม่ เพื่อให้รู้เท่าทัน และหมั่นสังเกตสัญญาณเตือน จะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธีก่อนสายเกินไป
 

"ภาวะหมดไฟ" หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน Burnout คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเป็นโรคที่เป็นผลจากการความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง ก่อนจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต แบ่งลักษณะอาการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง สูญเสียพลังจิตใจ
  2. มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ
  3. ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่างหรือเป็นไปทางลบกับผู้ร่วมงานและลูกค้า
     

ภาวะหมดไฟในการทำงาน

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟ

 

1. ด้านอารมณ์

  • หดหู่
  • ซึมเศร้า 
  • หงุดหงิด โมโหง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ไม่พอใจในงานที่ทำ

2. ด้านความคิด

  • มองคนอื่นในแง่ลบแง่ร้าย
  • โทษคนอื่นเสมอ
  • ระแวง
  • หนีปัญหา ไม่จัดการปัญหา
  • สงสัยและไม่เชื่อในศักยภาพของตนเอง

3. ด้านพฤติกรรม

  • ผลัดวันประกันพรุ่ง
  • ขาดความกระตือรือร้น
  • หุนหันพลันแล่น
  • บริหารจัดการเวลาไม่ได้
  • ไม่อยากตื่นไปทำงาน 
  • มาสายจนผิดสังเกตติดต่อกัน
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน
  • ไม่มีความสุขในการทำงาน

 

ระยะเวลาก่อนหมดไฟทำงาน แบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ที่นำมาสู่ภาวะหมดไฟในที่สุดดังนี้   

 

  • ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงานหรือที่เรียกว่าช่วงไฟแรง คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานและองค์กร   
  • ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตัวเองอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการ ทั้งในแง่การได้รับค่าตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ อาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความคับข้องใจและเหนื่อยล้า   
  • ระยะไฟตก (brownout) รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเชน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความคับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน   
  • ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข จะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่   
  • ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากได้มีโอกาสผ่อนคลาย ได้พูดคุยกับคนที่ไว้ใจและให้กำลังใจ รวมถึงได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตัวเอง และความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย   

ภาวะหมดไฟในการทำงาน

 

อย่างไรก็ตาม หากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลด้านต่าง ๆ เช่น ผลด้านร่างกายอาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ผลด้านจิตใจ บางคนอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ ส่งผลต่อการทำงาน อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรืออาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

 


งานแบบไหนเสี่ยงภาวะหมดไฟ

 

  • งานหนักและปริมาณมากเกินไป
  • งานซับซ้อน งานเร่งรีบ
  • งานที่ผลตอบแทนไม่เหมาะสม 
  • งานที่ทำให้รู้สึกไม่ได้รับคุณค่าและความภูมิใจในการทำงาน
  • งานที่ขาดความยุติธรรม ความเชื่อใจ การยอมรับในการทำงาน
  • งานที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในงานที่ทำ
  • งานที่การบริหารงานไร้ระบบ ไม่มีเป้าหมายชัดเจน

 

การบำบัดรักษาภาวะหมดไฟ

 

  1. ลดการใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร และจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย 
  2. ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบนอกเวลาทำงาน เช่น ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ท่องเที่ยว ฯลฯ นอกจากนี้การทำสมาธิ และฝึกฝนเทคนิคการผ่อนคลายก็เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ
  3. จัดระเบียบการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญของงาน เช่น โฟกัสกับงานแต่ละชิ้นตามลำดับความสำคัญ กำหนดเวลาที่จะใช้ตอบอีเมลล์ในแต่ละวัน ไม่นำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน หรือนอกเวลางาน
  4. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. ปรับทัศนคติในการทำงาน
  6. พัฒนาทักษะการปรับตัว การสื่อสาร การแก้ปัญหา
  7. ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนากับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย ใช้เวลามากขึ้นกับคนที่เข้าใจและมองเห็นคุณค่าในตัวของคุณ

 

 

ทั้งนี้ หลายคนมักสงสัยว่า ภาวะหมดไฟทำงาน (Burnout Syndrome) เป็นอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ แพทย์ด้านจิตเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน กับโรคซึมเศร้า มีความแตกต่างกัน ไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างทันท่วงที 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ