Lifestyle

ชวนวัย 50+ เช็กอาการ"มวลกล้ามเนื้อน้อย" รู้แล้วรีบเสริมด่วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนเราเมื่อเข้าวัย 50 "มวลกล้ามเนื้อ"จะลดลงเร็วมาก จนเกิดภาวะต่างๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต จึงชวนมา"เช็ก"อาการมวลกล้ามเนื้อน้อย เพื่อการป้องกันและเสริมความแข็งแรงได้ทันท่วงที

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เผยแพร่ความรู้ว่า ปกติแล้วคนเราจะมีมวลกล้ามเนื้อสูงที่สุด (Peak Muscle Mass) ที่ช่วงอายุ 30 – 40 ปี หลังจากอายุ 40 ปี มวลกล้ามเนื้อก็จะเริ่มลดลงร้อยละ 1 – 2 ต่อปี ในช่วงแรกอาจจะยังไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อหลังอายุ 50 – 60 ปี ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็จะลดลงประมาณร้อยละ 1.5 ต่อปี และลดลงเร็วขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น จนเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลังอายุ 65 ปี ดังนั้นการรู้ทันและหมั่นสังเกตภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เริ่มเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ  ป้องกันมวลกล้ามเนื้อลดลงก่อนวัย ให้มีสุขภาพดีได้ยืนยาว

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) คือ การสูญเสียมวลของกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งภาวะนี้ถือเป็นกลุ่มอาการของผู้สูงอายุ (Geriatric Syndrome) ที่พบบ่อยถึง 1 ใน 3  ซึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ถึงภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ได้แก่ มวลกล้ามเนื้อลดลงร่วมกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง หรือสมรรถภาพทางกายลดลง โดยเครื่องมือที่ใช้ประเมินมวลกล้ามเนื้อ คือ Bioelectrical Impedence Analysis (BIA) เครื่องมือที่ใช้ประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ คือ การวัดแรงบีบมือ (Hand – Grip Strength) และเครื่องมือที่ใช้ประเมินสมรรถภาพคือ การวัดความเร็วของการเดินปกติ (Gait Speed) 

 

 

ชวนวัย 50+ เช็กอาการ\"มวลกล้ามเนื้อน้อย\" รู้แล้วรีบเสริมด่วน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

สังเกตอาการบอกมวลกล้ามเนื้อน้อย

  • ลุกนั่งลำบาก
  • ทรงตัวไม่ดี
  • หกล้มบ่อย ๆ
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ตั้งใจ
  • เพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกหัก ภาวะเปราะบาง
  • เหนื่อยง่ายจนจำกัดความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • คุณภาพชีวิตลดลง
  • อาจเกิดโรคซึมเศร้า
  • เพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ

หากผู้สูงวัยมีอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณบอกมวลกล้ามเนื้อน้อยเหล่านี้เมื่อไร ควรจะมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินด้วยเครื่องมือต่างๆ จะได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง 

 

 

ชวนวัย 50+ เช็กอาการ\"มวลกล้ามเนื้อน้อย\" รู้แล้วรีบเสริมด่วน

 

 

“เสริมมวลกล้ามเนื้อ”ป้องกันรักษาภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ด้วย 3 ปัจจัยสำคัญที่ควรทำร่วมกัน ได้แก่

1.ออกกำลังกาย ชนิดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Resistive Exercise) อย่างน้อย 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับการบริหารร่างกายด้วยการแอโรบิก (Aerobic Exercise) จะช่วยให้มีการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อและช่วยให้ไขมันในกล้ามเนื้อลดลง  ลดปริมาณไขมันในร่างกาย เพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้มากขึ้น

2.อาหาร เน้นการกินอาหารที่สร้างมวลกล้ามเนื้อและมีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น เนื้อปลา ถั่วเหลือง เนื้อวัว เพื่อให้ได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ ป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและเพิ่มเส้นใยของกล้ามเนื้อ

 

 

ชวนวัย 50+ เช็กอาการ\"มวลกล้ามเนื้อน้อย\" รู้แล้วรีบเสริมด่วน

 

 

3. ปรับเปลี่ยน Lifestyle ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ หยุดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รักษาโรคเรื้อรังที่เป็นสาเหตุ  รวมถึงหมั่นดูแลตัวเอง รักษาหรือควบคุมโรคเรื้อรังไม่ให้กำเริบ ทำจิตใจให้แจ่มใส  พักผ่อนให้เพียงพอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ฉะนั้นเพื่ออายุที่ยืนยาวแนะนำให้คนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี เริ่มป้องกันภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ป้องกันมวลกล้ามเนื้อลดลงเร็ว ไม่ให้มีอาการเจ็บปวดต่างๆ เกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร ให้ร่างกายแก่ช้า ฟิต พิชิตสุขภาพดีไปนานๆ

ภาพจาก Pixabay

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ