เด่นโซเชียล

"พม." เตรียมนโยบาย "60+ ฝ่าวิกฤต COVID-19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)" 

"พม." เตรียมนโยบาย "60+ ฝ่าวิกฤต COVID-19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)" 

10 ก.ย. 2564

กระทรวง พม. ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” จัดทำเรื่อง "60+ ฝ่าวิกฤติ COVID–19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)"

 วันนี้ 10 ก.ย. 64 เวลา 11.00 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าว พม.โพล "60+ ฝ่าวิกฤต COVID-19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)" พร้อมด้วย นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ บรรยายเรื่อง "ทิศทางการกำหนดนโยบายจากผลการสำรวจ" และ ผศ. ดร. สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล บรรยายเรื่อง "ความสำคัญของการจัดทำข้อมูลและการนำผลสำรวจไปใช้ประโยชน์" ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 นางพัชรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการมีข้อมูลที่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย และการให้บริการประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการจัดทำกิจกรรมวัดอุณภูมิทางสังคม หรือ พม.โพล เพื่อให้ได้มุมมองในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและการออกแบบมาตรการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-11 ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” จัดทำเรื่อง "60+ ฝ่าวิกฤติ COVID–19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)" ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในปี 2564 มีจำนวนมากถึง 11.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.90 ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) และกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มต้องได้รับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม การดูแลเอาใส่ใจ ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วประเทศ 

 

\"พม.\" เตรียมนโยบาย \"60+ ฝ่าวิกฤต COVID-19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)\" 

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุ จึงได้เลือกสำรวจความคิดเห็นของผู้สูงอายุที่มีต่อสถานการณ์และผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความต้องการของผู้สูงอายุใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพกาย-จิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุต่อไป ทั้งนี้ การผลการสำรวจ พบว่า

 


 ผลกระทบที่ได้รับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.00 ได้รับผลกระทบ โดยเกิดความเครียด วิตกกังวล รองลงมา ร้อยละ 59.32 รายได้ลดลง มีภาระค่าใช้จ่าย หนี้สินมากขึ้น ร้อยละ 47.86 การออกไปพบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมนอกบ้าน ลดน้อยลง 

 


 สิ่งที่ผู้สูงอายุวิตกกังวลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 31.87 เกิดความเครียดและกังวลว่าจะติดเชื้อ อันดับ 2 ร้อยละ 17.58 รายได้ รายจ่าย ภาระหนี้สิน อันดับ 3 ร้อยละ 13.89 การทำมาหาเลี้ยงชีพ การประกอบอาชีพ 

 


การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.50 มีการรับมือกับสถานการณ์โดยติดตามข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รองลงมา ร้อยละ 81.20 ปฏิบัติตนตามนโยบายมาตรการการควบคุมของรัฐ ร้อยละ 51.98 ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ COVID-19 
       

 

สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มากที่สุด 3 อันดับแรก ไดัแก่ อันดับ 1 ร้อยละ 23.56 การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 อันดับ 2 ร้อยละ 18.33 การช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา เช่น การจ่ายเงินเยียวยาและชดเชย การสร้างงาน สร้างอาชีพ อันดับ 3 ร้อยละ 15.39 อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยที่ถูกสุขลักษณะ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ 
     

 

สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการให้กระทรวง พม. มีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาหรือฟื้นฟู ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 16.80 สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา อันดับ 2 ร้อยละ 15.00 ส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาทักษะอาชีพตามความถนัดและความสนใจ อันดับ 3 ร้อยละ 14.03 เพิ่มวงเงินกู้ยืมเงินกองทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ    
       

 

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.13 ควรเพิ่มสิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุ ร้อยละ 15.98 ควรส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ร้อยละ 11.00 ควรได้รับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีช่องทางการบริการสำหรับผู้สูงอายุ เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา ร้อยละ 8.47 ควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมยามว่างหรือกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 
 
         

 นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวโน้มการปฏิบัติตัวตามรูปแบบวิถีถัดไป (Next Normal) ในอนาคต ซึ่งพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้สูงอายุที่ระบุว่า “ทำ” พบว่า มีการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทำกับข้าว ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง การจัดสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยและชุมชนให้สะอาด ถูกหลักสุขอนามัย การกินอาหาร เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลอดสารพิษ สินค้าเกษตรอินทรีย์ การฝึกปรับสภาพจิตใจและอารมณ์ให้สมดุล ปฏิบัติตามหลักศาสนา หากเกิดความเครียด และความวิตกกังวล ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 และวางแผนการปฏิบัติตัวไปสู่วิถีถัดไป (Next Normal) ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตไปจากเดิม ใส่ใจป้องกัน ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตัวเองมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวง พม. จะนำผลการสำรวจนี้ไปดำเนินการกำหนดเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคตต่อไป

 

         

 นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างๆ ช่วงแรกที่ทางรัฐบาลออกโครงการช่วยเหลือต่างๆ อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ ทางกระทรวง พม. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ลงไปช่วยเหลือดูแลกลุ่มผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิ์ต่างๆ นอกจากเครือข่าย อพม. แล้ว ภาคีเครือข่ายอื่นๆ มีความสำคัญมากเช่นกัน เนื่องจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. มีอยู่ประมาณ 10,000 คน แต่ต้องดูแลกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากทั่วประเทศ อาจทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง เข้าไม่ถึงความเดือดร้อนของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ซึ่งในระดับจังหวัดมีเพียงสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดจังหวัดละ 1 แห่งเท่านั้น เราจึงต้องอาศัยภาคีเครือข่ายช่วยเหลือ อีกทั้งในช่วงนี้ มีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น กระทรวง พม. และภาคีเครือข่ายต้องเตรียมพร้อมช่วยกันดูแลกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากต้องมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยจะมีความยากลำบากมาก

 

 

นางสุจิตรา กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้สูงอายุที่เกษียณงานแล้ว แต่ยังมีความรู้ มีความสามารถ มีความพร้อมในการทำงานอยู่ ทางกระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ยังมี "คลังปัญญาผู้สูงอายุ" ซึ่งเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ในการทำงาน ที่ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการรวบรวมผู้สูงอายุที่เกษียณงานแล้ว แต่ยังมีทักษะ มีความรู้ มีความสามารถ และมีจิตอาสา เข้าสู่คลังปัญญาผู้สูงอายุของกระทรวง พม. "เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง" ซึ่งเป็นการผลักดันให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมและส่งเสริมศักยภาพให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น

 

 

 

ที่มา SocialMsociety (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)