
นกแอ่นพง
นกแอ่นพง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานการพบนกหายากของประเทศไทยหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็น White-breasted Woodswallow ในโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร โดยคุณชูเกียรติ นวลศรี นับเป็นรายงานการพบครั้งแรกของประเทศไทย นกชนิดนี้มีญาติสนิทคือ นกแอ่นพง (Ashy Woodswallow) ที่พบเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ แม้จะยังไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ แต่ชื่อสามัญก็ชี้จุดต่างกันชัดเจนอยู่แล้ว หากแปลตรงตัวก็น่าจะได้ชื่อว่า “นกแอ่นพงท้องขาว”
แหล่งอาศัยของ “นกแอ่นพงท้องขาว” ที่ใกล้ชุมพรมากที่สุดเห็นจะเป็นทางชายฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย และหมู่เกาะอันดามันของประเทศอินเดีย มีสถานภาพเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ตลอดทั้งปีเช่นเดียวกับนกแอ่นพงในบ้านเรา ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสพบมันไกลจากแหล่งทำรังวางไข่ อันที่จริงนกส่วนใหญ่ใช้พื้นที่หากินกว้างขวางขึ้นในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์เป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่นกแอ่นพงทั้งสองชนิดก็เคยมีรายงานพลัดหลงไปไกลจากถิ่นอาศัยมาก เจ้าท้องขาวเคยมีพลัดหลงไปถึงญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งน่าจะเป็นนกจากฟิลิปปินส์
จะว่าไป จ.ชุมพร ก็ใกล้กับถิ่นของนกแอ่นพงชนิดที่เราพบเห็นทั่วไปมากๆ เพราะมันเป็นนกที่พบได้ง่ายตามพื้นที่โล่งและชายป่าทั่วประเทศ ยกเว้นทางภาคใต้เท่านั้น ลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันและสังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือสีท้อง เพราะนกแอ่นพงมีท้องสีน้ำตาลอมเทาจางๆ ดูเผินๆ จะกลืนไปกับลำตัวสีเทา ซึ่งก็สีอ่อนกว่าด้วย ที่ตะโพกมีเพียงแถบคาดบางๆ สีขาว ไม่เป็นแถบหนาเหมือน “นกแอ่นพงท้องขาว” นอกจากนี้ ที่ปลายหางก็มีแต้มสีขาวชัดเจนกว่าด้วย จำแนกชนิดไม่ยาก แต่หากไม่สังเกตดีๆ ก็อาจจะผ่านตาไปอย่างน่าเสียดาย
ชื่อ นกแอ่นพง (Woodswallows) มาจากพฤติกรรมการบินหากินคล้ายพวก นกแอ่น (Swifts) และนกนางแอ่น (Swallows) ทั้งที่ไม่ได้เป็นญาติหรือมีหน้าตาคล้ายกันแต่อย่างใด และมักพบใกล้ชายป่า เนื่องจากมันทำรังบนต้นไม้ อาจเป็นโพรงไม้หรือตามกิ่งไม้ใหญ่ของไม้ยืนต้น แต่ก็ทำรังตามเสาไฟฟ้าได้ด้วย
นกแอ่นพงเป็นสัตว์สังคมที่มีพฤติกรรมน่าดูชม มันชอบเกาะเรียงกันเป็นแถวตามกิ่งไม้โล่งๆ และสายไฟฟ้า ฝูงของนกแอ่นพงมักส่งเสียงร้องสื่อสารกันอยู่เสมอ มักเกาะส่ายหางไปมา และยังชอบไซ้ขนให้กับนกที่เกาะอยู่ข้างๆ ด้วย
...................................................
(นกแอ่นพง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว )