วันนี้ในอดีตเมื่อ 66 ปี "วันครู" ถูกจัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ที่ระบุว่าให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีชื่อเรียกว่า “คุรุสภา” มีสถานะเป็นนิติบุคคลและให้ครูทุกคนเป็นสมาชิก
โดย คุรุสภา หรือ สภาแห่งนี้ทำหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องนโยบายการศึกษา ตลอดจนวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ
นอกจากนั้น คุรุสภา ยังมีหน้าที่ในการจัดสรรให้มีสวัสดิการแก่ครูและครอบครัวให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร รวมถึงส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครูอีกด้วย เหตุนี้เอง ในทุกๆ ปีคุรุสภาจะมีจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศพูดถึงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา
พร้อมทั้งเปิดให้ซักถามปัญหา ข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา (บอร์ดคุรุสภา) เป็นผู้ตอบข้อสงสัยเหล่านั้น ซึ่งสถานที่สำหรับจัดการประชุมในสมัยนั้น จะใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ย่านสยาม)แต่ในระยะต่อมาก็ได้มีการย้ายสถานที่ประชุมเป็นหอประชุมของคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
ว่ากันว่า ปี พ.ศ. 2499 ภายในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ในขณะนั้น ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า “วันครู” ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้ แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย
เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
จากแนวความคิดนี้ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น กอรปกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและช่องทางอื่นๆ ที่ต่างก็เรียกร้องให้มี “วันครู” เพื่อเป็นการรำลึกนึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นอันมาก
ในปีเดียวกันนี้เอง ที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มี “วันครู” เพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาต่อไป โดยได้เสนอในหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
จนกระทั่งถึงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันครู” โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครู อีกทั้งยังได้ให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวด้วย
การจัดงาน "วันครู"
การจัดงาน "วันครู" ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 โดยใช้พื้นที่ส่วนกลางของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นสถานที่จัดงาน โดยในงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูแก่อนุชนรุ่นหลังทุกๆ ปี ซึ่งอนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
แต่ในปัจจุบันงาน “วันครู 2565” ได้จัดในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยแบบออฟไลน์ใช้สถานที่หอประชุมของคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 100 คน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เหนืออื่นใด “วันครู” ได้ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้กิจกรรมไหว้ครูและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการรูปแบบงานไหว้ครูในปัจจุบันก็จะมีกิจกรรมเด่นๆ อยู่ 3 ประเภทใหญ่ อันประกอบไปด้วย
1. มีกิจกรรมทางศานา
2. มีพิธีรำลึกถึงครูบาอาจารย์ โดยมีพิธีปฏิญาณตน รวมไปถึงการกล่าวระลึกถึงพระคุณของครู
3. มีกิจกรรมที่จัดเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างผู้ปกครองและครู โดยอาจจะเป็นการแข่งขันกีฬาเพื่อความสามัคคี หรืองานเฉลิมฉลองอื่นๆ
16 มกราคม 2565 เนื่องในวันครูแห่งชาติ ขอน้อมรำลึกถึงพระคุณของครู เชื่อว่าคนไทยค่อนประเทศเป็นศิษย์มีครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ มีครูในดวงใจ ครูผู้ชี้ทางสว่างในยามมืดมนหรือมีปัญหา แม้วันเวลาเปลี่ยนโลกหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงจากยุคอนาล็อก สู่ยุคดิจิทัล และย่างก้าวเข้าสู่โหมดควอนตัม แต่บทบาทครูไม่เคยเปลี่ยน...ขอคารวะครูด้วยหัวใจ
....ทีมข่าวการศึกษา คมชัดลึกออนไลน์...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง