9 ตุลาคม 2564 คมชัดลึกออนไลน์ ขอร่วมรำลึกถึงหนึ่งในปูชนียบุคคลของประเทศไทย ผู้ที่นับเป็นปราชญ์ รอบรู้ศาสตร์และศิลป์ไปหมดทุกแขนง ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรี หม่อมราชวงศ์ "คึกฤทธิ์ ปราโมช" ซึ่งวันนี้ในอดีตของ 26 ปีก่อน ช่างน่าเศร้าเสียดาย เมื่อนักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ ถึงแก่อสัญกรรม ลาจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ
ประวัติและผลงาน
- ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดวันที่ 20 เมษายน 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านม้า อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
- เป็นโอรสคนสุดท้อง ในบรรดา โอรส - ธิดา ทั้ง 6 ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับ หม่อมแดง (บุนนาค)
- เป็นน้องชายแท้ ๆ ของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย สื่อมวลชนนิยมเรียกทั้งคู่ว่า หม่อมพี่ หม่อมน้อง
ยืนแถวหลัง (จากซ้าย) ม.ร.ว. ถ้วนเท่านึก ปราโมช , ม.ร.ว. บุญรับ พินิจชนคดี , ม.ร.ว. อุไรวรรณ ปราโมช , ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
แถวกลาง พลโท พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับ หม่อมแดง ปราโมช ณ อยุธยา
นั่งหน้า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
(ภาพ : thaigoodview)
- ชื่อ คึกฤทธิ์ นั้นมาจากการที่ชอบร้องไห้เสียงดังในวัยทารก จึงได้รับพระราชทานนามนี้จาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ หม่อมราชวงศ์พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ เมื่อปี 2479 มีบุตรธิดา 2 คน คือ หม่อมหลวงรองฤทธิ์ ปราโมช และ หม่อมหลวงวิสุมิตรา ปราโมช หากต่อมาได้แยกกันอยู่กับ ม.ร.ว. พักตร์พริ้ง
- แม้จะหย่าขาดจากกัน แต่ต่างก็ไม่สมรสใหม่ และไม่ได้โกรธเคืองกัน โดย ม.ร.ว. พักตร์พริ้ง อยู่กับลูกชายคือ ม.ล. รองฤทธิ์ ที่บ้านในซอยสวนพลู ติดกับบ้านของ ม.ร.ว. "คึกฤทธิ์ ปราโมช" และยังไปมาดูแลทุกข์สุขกันเสมอ
คุณชายคึกฤทธิ์ กับ คุณหญิงพักตร์พริ้ง
(ภาพ : thaigoodview)
- วัยเด็ก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านกับ ม.ร.ว. บุญรับ พี่สาวคนโต จนอ่านภาษาไทยได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี
- ปี 2458 เข้าศึกษาภาคบังคับที่ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- เดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษที่ โรงเรียนเทรนต์วิทยาลัย จากนั้นสอบเข้า วิทยาลัยควีนส์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เพื่อศึกษาวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง
- สำเร็จปริญญาตรี เกียรตินิยม และอีกสามปีต่อมา ก็สำเร็จปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน
- นอกจากนี้ ภายหลัง ม.ร.ว. "คึกฤทธิ์ ปราโมช" ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกหลายสาขาวิชา
- ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ พักอยู่ที่บ้านในซอยพระพินิจ ซึ่งเป็นซอยย่อยอยู่ในซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ เขตสาทร บ้านหลังนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า บ้านซอยสวนพลู
- ชีวิตการทำงานเริ่มที่ กรมสรรพากร และถูกเกณฑ์ทหารตอนสงครามอินโดจีนได้ยศ สิบตรี
- จากนั้นไปทำงาน ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ลำปาง และกลับมาทำงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร
- เมื่อเข้าสู่แวดวงการเมือง ม.ร.ว. "คึกฤทธิ์ ปราโมช" เป็นนักการเมืองแถวหน้า ผู้ก่อตั้ง พรรคก้าวหน้า เมื่อปี 2488 ต่อมาได้ยุบรวมกับ พรรคประชาธิปัตย์ ในปีถัดมา
- กล่าวคือ รอยต่อระหว่างนั้น ควง อภัยวงศ์ ได้ชวน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ไปก่อตั้งพรรคใหม่ชื่อ ประชาธิปัตย์ ซึ่ง ควง ดำรงตำแห่งหัวหน้าพรรค ส่วน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค อยู่สู้ในสภา 2 ปี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เป็น รมช. กระทรวงการคลัง ในรัฐบาลชุด ควง อภัยวงศ์
- ต่อมา เมื่อปี 2490 พลโท ผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหาร แต่ยังไม่พร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลของตนเอง จึงไปชวน ควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
- ครั้งนั้น ม.ร.ว. "คึกฤทธิ์ ปราโมช" ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอย สั่งราชการกระทรวงการคลัง แต่อยู่ได้เพียง 5 เดือน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขึ้นบริหารประเทศแทน
- วันที่ 16 กันยายน 2491 ม.ร.ว. "คึกฤทธิ์ ปราโมช" ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และหันหลังลาออกไปจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคัดค้านการขึ้นเงินเดือน ส.ส.
- จากนั้นได้ยุติบทบาททางการเมืองอยู่นาน อย่างไรก็ดี ระหว่างนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้หันไปหยิบจับงานสื่อสารมวลชน เกิดเป็นหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2493
- จนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงจัดตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง กิจสังคม
- และการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2518 แม้พรรคกิจสังคมจะได้รับเลือกมาเพียง 18 คน แต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็สามารถเป็นแกนกลางในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2518 - 20 เมษายน 2519
- นโยบายที่โด่งดังของรัฐบาล "คึกฤทธิ์ ปราโมช" คือ นโยบาย เงินผัน ซึ่งมี บุญชู โรจนเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดูแลนโยบายนี้
- ช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2518 หลังจากที่ตัดขาดความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลมาเป็นเวลานาน
- ระหว่างการเล่นการเมือง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มีบุคลิกที่โดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง ที่ทุกคนรู้จักดี คือ เรื่องของการใช้วาทศิลป์ และบทบาทเป็นที่ชวนให้จดจำ เช่น การผวนพูดเล่นชื่อของตัวเองเมื่อมีผู้ถามว่า หมายถึงอะไร โดยตอบว่า คึกฤทธิ์ ก็คือ คิดลึก เป็นต้น
- ได้รับฉายาจากนักการเมืองและสื่อมวลชนมากมาย เช่น เฒ่าสารพัดพิษ , ซือแป๋ซอยสวนพลู ภายหลังเมื่อมีอาวุโสสูงวัยจนสามารถแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ จึงได้รับฉายาว่า เสาหลักประชาธิปไตย นอกจากนี้ อีกฉายาหนึ่งที่ใช้เรียก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ในบางแห่ง คือ หม่อมป้า
เกร็ดเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ
- ในแวดวงภาพยนตร์ หม่อมราชวงศ์ "คึกฤทธิ์ ปราโมช" เคยรับบทเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศหนึ่ง ชื่อว่า ประเทศสารขัณฑ์ ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American (1963) คู่กับ มาร์ลอน แบรนโด (พ.ศ. 2506)
- เคยรับบทเป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์ ผู้แทนนอกสภา กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เมื่อปี 2526 ด้วย
- ด้านวรรณศิลป์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มีผลงานหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมากมาย ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น สี่แผ่นดิน , ไผ่แดง , กาเหว่าที่บางเพลง , หลายชีวิต , ซูสีไทเฮา , สามก๊กฉบับนายทุน และเรื่องสั้น มอม ซึ่งได้ใช้เป็นบทความประกอบแบบเรียนภาษาไทย บางชิ้นมีผู้นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ เช่น สี่แผ่นดิน , หลายชีวิต และทำเป็นภาพยนตร์ เช่น กาเหว่าที่บางเพลง
- แม้ ม.ร.ว. "คึกฤทธิ์ ปราโมช" จะถือเป็นปราชญ์ที่เชี่ยวชาญหลากหลาย ผ่านประสบการณ์มาชนิดที่คน ๆ หนึ่งจะมีได้ในช่วงชีวิต แต่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ งานประพันธ์ นั่นเอง
- ระยะหลังเมื่อมีอายุมากแล้ว สุขภาพไม่แข็งแรงนัก แต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็ยังเขียนบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันอยู่เป็นประจำ
- กอปรกับงานเขียนอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทุกประเภทมากกว่าร้อยเรื่อง ล้วนได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างกว้างขวางทั้งสิ้น กระทั่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2528
อสัญกรรม
- หม่อมราชวงศ์ "คึกฤทธิ์ ปราโมช" ป่วยด้วยโรคหัวใจจนต้องเข้ารับการผ่าตัดที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2530 และเข้ารับการรักษาพยาบาลเรื่อยมาเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ณ โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538 รวมอายุ 84 ปี 172 วัน
- ต่อมาช่วงปลายปี 2551 กระทรวงวัฒนธรรมเสนอชื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก โดยมีทั้งเสียงสนับสนุน และคัดค้าน
- ที่สุด วันที่ 23 ตุลาคม 2552 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา , วัฒนธรรม , สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554 โดยได้รับการประกาศพร้อมกันกับ เอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งได้รับในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2553
ข้อมูล : วิกิพีเดีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง