วันนี้ในอดีต

6 มี.ค.2433 รำลึกเจ้าจอมสดับ พระสนมเอกร.5 ต้นตำนานกำไลมาศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

#วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ

 

 

*****************************

 

 

วันที่ 6 มีนาคม 2433 หรือวันนี้เมื่อ 130 ปีก่อนคือวันเกิดของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ผู้ที่ได้ร้องเพลง นางร้องไห้ ถวายเป็นคนสุดท้าย และเป็นเจ้าจอมที่มีชีวิตอยู่เป็นคนสุดท้ายจนถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 9

 

 

 

6 มี.ค.2433  รำลึกเจ้าจอมสดับ  พระสนมเอกร.5  ต้นตำนานกำไลมาศ

 

 

 

นอกจากนี้ เจ้าจอมท่านนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นพระสนมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาเป็นอย่างยิ่ง จนได้รับการอิจฉาริษยาจากเจ้าจอมคนอื่นๆ เป็นอันมาก

 

 

 

 

ประวัติช่วงต้น

 

 

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2433 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมช้อย ลดาวัลย์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม นครานนท์)

 

เมื่อท่านมีอายุได้ 11 ปี หม่อมยายได้พาท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งพระองค์ได้ทรงอบรมเลี้ยงดูหม่อมราชวงศ์สดับในฐานะพระญาติ และยังโปรดให้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมทั้งหัดงานฝีมือ ตลอดจนการอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ

 

 

 

6 มี.ค.2433  รำลึกเจ้าจอมสดับ  พระสนมเอกร.5  ต้นตำนานกำไลมาศ

ถ่ายเมื่อวันเชิญดอกไม้ธูปเทียนแพขึ้นถวายตัว เป็นข้าใต้เบื้องพระยุคลบาทเมื่อปลายปี พ.ศ.2448 (หรือ 2449)

 

 

 

ที่จริงแล้วเจ้าจอมสดับ มีนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์สั้น แต่ด้วยอัจฉริยภาพด้านการร้องซึ่งท่านมีเสียงอันไพเราะอันเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่น ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร พระราชธิดาพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนนามให้ใหม่ให้ว่า “สดับ” อันมีความหมายว่าผู้มีเสียงไพเราะเหมาะแก่การรับฟัง  ดังใน บทพระราชนิพนธ์เงาะป่า ซึ่ง ร.5 ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนชื่นชมน้ำเสียงอันไพเราะของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับไว้ ดังนี้

 

"แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ เหมือนหนึ่งใจพี่จะขาด เจ้าร้องลำนำ ยิ่งซ้ำพิศวาส พี่ไม่วายหมายมาด รักแม่เสียงเพราะเอย”

 

 

 

 

 

ตำนานกำไลมาศ

 

 

ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2449 ขณะที่มีอายุ 16 ปี หม่อมราชวงศ์สดับได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ทรงแต่งตั้งไว้ในลำดับที่ 62

 

 

 

6 มี.ค.2433  รำลึกเจ้าจอมสดับ  พระสนมเอกร.5  ต้นตำนานกำไลมาศ

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้แต่งเครื่องเพชรชุดหนึ่งที่พระราชทาน แล้วให้ช่างถ่ายรูปไว้ เมื่อ พ.ศ.2450

 

 

 

และในวันนั้นท่านได้รับพระราชทาน “กำไลมาศ” จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกำไลทองคำแท้จากบางสะพาน หนักสี่บาท ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน มีตัวอักษรซึ่งเป็นบทกลอนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสลักไว้บริเวณด้านบนของกำไลว่า

 

กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยั่งยืนสี

เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเช่นเสี่ยงทาย

ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย

แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย

 

 

 

6 มี.ค.2433  รำลึกเจ้าจอมสดับ  พระสนมเอกร.5  ต้นตำนานกำไลมาศ

 

 

คราวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้บันทึกไว้ว่า “ในวันเฉลิมพระที่นั่งนี้ทรงพระมหากรุณาสวมกำไลทองรูปตาปูพระราชทานข้าพเจ้า ทรงสวมโดยไม่มีเครื่องมือ บีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงต้องรับสั่งให้กรมหลวงสรรพศาสตร์พาช่างทองแกรเลิตฝรั่งชาติเยอรมันนำเครื่องมือมาบีบให้เรียบร้อย”

 

วันนี้ถือว่าเป็นวันที่ท่านมีความสุขมากที่สุด และทั้งตลอดชีวิตของท่าน เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมิได้ถอดออกจากข้อมือเลย จวบจนชีวิตท่านหาไม่

 

 

 

 

เจ้าจอมคนโปรด

 

 

ข้อมูลตามประวัติยังเล่าว่า ด้วยความที่เป็นเจ้าจอมซึ่ง ร.5 ทรงโปรดมาก ถึงขนาด ตอนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสยุโรป เมื่อปี 2450 พระองค์มีพระราชดำริที่จะให้เจ้าจอมสดับตามเสด็จไปยุโรปด้วย ในฐานะข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

 

 

 

ในการนี้ถึงกับมีการสอนภาษาอังกฤษพระราชทานเองก่อนเสวยพระกระยาหารทุกคืน แต่มีเหตุขัดข้องที่ไม่ทราบด้วยเหตุอันใด จึงมิอาจเป็นไปตามพระราชดำรินั้นได้

 

 

 

6 มี.ค.2433  รำลึกเจ้าจอมสดับ  พระสนมเอกร.5  ต้นตำนานกำไลมาศ

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์” จัดพิมพ์โดย สำนักนายกรัฐมนตรี 2547)

 

 

 

แต่แม้กระนั้น พระองค์ก็ได้มีพระราชหัตเลขามาถึงเจ้าจอมสดับทุกสัปดาห์ ด้วยความที่ยังทรงพระเยาว์เพียง 17 ปี เมื่อได้รับลายพระราชหัตถเลขาแล้ว ท่านก็แสดงอาการดีใจออกมาทุกครั้ง

 

ปรากฏว่าอาการนั้น สร้างความไม่พอใจแก่คนรอบข้างโดยที่ท่านไม่รู้ตัว แถมเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงพระนคร ก็ทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทาน โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วให้ช่างถ่ายรูปชาวต่างชาติมาถ่ายรูป และโปรดพระราชทานตู้ที่ระลึก ยังทรงจัดของตั้งแต่งในตู้นั้นอีกด้วย

 

จากนั้นยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านขึ้นเป็นพระสนมเอก อันเป็นตำแหน่งที่แม้เจ้าจอมมารดาบางท่านรับราชการมาช้านานยังไม่ได้รับพระราชทาน แต่ท่านซึ่งเป็นเพียงเด็กสาวรุ่น และเพิ่งเข้ามารับราชการไม่นานนักกลับได้รับพระเมตตาไว้ในตำแหน่งที่สูงถึงเพียงนี้ ยิ่งทำให้มีคนไม่พึงใจมากขึ้น

 

อีกเรื่องหนึ่งที่อาจนับว่าเป็นที่มาแห่งความเป็นสนมโปรด คือเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ยังดูแลกิจการห้องพระเครื่องต้นแห่งราชสำนัก มีความชำนาญในการปรุงอาหารคาวหวาน และเป็นผู้ที่มีรสนิยมในการรับประทานอาหารเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

 

ทุกข์หมื่นแสน

 

 

ความสุขนั้นสั้นนัก จากวัย 16 เพียงแค่ 5 ปีเท่านั้นที่ท่านได้มีที่พักพิงทางหัวใจ เพราะเมื่อเจ้าจอมสดับมีอายุได้ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

 

ครั้งนั้นท่านมีความทุกข์ และเศร้าโศกอย่างยิ่ง โดยได้กล่าวไว้ว่า “..ใจคิดจะเสียสละได้ทุกอย่าง จะอวัยวะหรือเลือดเนื้อ หรือชีวิตถ้าเสด็จกลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นใจที่คิดแน่วแน่ว่าตายแทนได้ไม่ใช่แค่พูดเพราะๆ ...คุณจอมเชื้อเอาผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งมาให้ข้าพเจ้า บอกว่าท่านได้ประทานไว้ซับพระบาท ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าที่ซับพระบาทนั้นแล้วพันมวยผมไว้ แล้วก็นั่งร้องไห้กันต่อไปอีก...”

 

โดยครั้งสุดท้ายที่เจ้าจอมสดับได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณคือ การเป็นต้นเสียงนางร้องไห้หน้าพระบรมศพ บทเพลง นางร้องไห้ ดังนี้

 

พระร่มโพธิ์ทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย 2 พระเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นใด ละข้าพระบาทยุคลไว้ พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย  พระยอดฟ้า พระสุเมรุทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย  พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะตามเสด็จไป พระพุทธเจ้าข้าเอย  พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย

 

 

6 มี.ค.2433  รำลึกเจ้าจอมสดับ  พระสนมเอกร.5  ต้นตำนานกำไลมาศ

หลังถวายพระเพลิงพระบรมศพ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเปลี่ยนไว้ผมสั้น

ตามแบบที่พระราชวงศ์และท้าวนางในพระบรมหาราชวังไว้กัน

 

 

 

ทั้งนี้ หลังจากนั้น ท่านยังเป็นที่จับตามองจากคนรอบข้างแีหว่าจะสามารถครองตัวครองใจเป็นหม้ายได้ต่อไปตลอดหรือไม่

 

แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านได้ถวายคืนเครื่องเพชรทั้งหลายที่ได้รับพระราชทานมาแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนหมดสิ้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการครหาว่าท่านจะนำสมบัติไปปรนเปรอกับชายอื่น 

 

 

 

 

บั้นปลาย

 

 

ไม่นานนักเจ้าจอมสดับจึงตัดสินใจหาความสงบด้วยการบวชชีจำวัดที่วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ร.5 โดยมีกำไลมาศเพียงอย่างเดียวที่เหลือติดตัวไป

 

ท่านได้ปฏิญาณตนอย่างแน่วแน่ว่าจะครองตนเป็นหม้ายโสดเพื่อรักษาเกียรติยศแห่งการเป็นพระสนมในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตลอดชีวิต

 

 

 

6 มี.ค.2433  รำลึกเจ้าจอมสดับ  พระสนมเอกร.5  ต้นตำนานกำไลมาศ

 

 

 

จนกระทั่งเมื่อท่านเจ้าจอมนั้นมีวัยชรา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ท่านกลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

 

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2526 สิริอายุได้ 93 ปี

 

สำหรับเรื่องราวของกำไลมาศ หม่อมหลวงพูนแสง สูตะบุตร ผู้เป็นหลานสาวของเจ้าจอมหม่อมสดับ ท่านได้เป็นผู้ที่ถอดกำไลมาศออกให้เมื่อเจ้าจอมสดับเสียชีวิต และได้ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนั้นเอง

 

อนึ่ง เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ได้รับพระราชทานเครื่องยศ ประกอบด้วย หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี พานทอง เป็นพานหมากมีเครื่องในทองคำกับกระโถนทองคำ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ซึ่งเป็นเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นพระสนมเอก ท่านจึงเป็น พระสนมเอก ท่านสุดท้ายในรัชกาล

 

 

**********************************

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ