7 ม.ค.2533 หอเอนปิซา ถูกปิดยาว 11 ปี
คอลัมน์ วันนี้ในอดีต #วันนี้ในอดีต 7 ม.ค.2533 หอเอนปิซา ถูกปิดยาว 11 ปี
********************************
เอนมาหลายร้อยปีแบบนี้ ใช่ว่าจะไม่ขยับเขยื้อนเลย ไม่เช่นนั้นคงไม่เคยถูกปิดยาวงดเยี่ยมชมท่องเที่ยวนานถึง 11 ปีหรอกท่านผู้อ่าน สำหรับหอเอนเมืองปิซา ที่เหล่านักท่องเที่ยวต้องไปเก็บภาพ พิง เอนกับหอ ถ้าไม่ได้ทำถือว่าไปไม่ถึงน่ะสิ
และวันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 7 มกราคม 2533 หอเอนปิซาแม้จะตั้งเอียงๆ แต่งดงามนี้ได้ถูกปิดลง เพื่อทำการบูรณะซ่อมแซมหลังจากทางการพิจารณาว่าอาจเกิดอันตรายได้
เรื่องราวเป็นมายังไงวันนี้มาทำความรู้จักหอเอนเมืองปิซากันอีกครั้งดีกว่า
ประวัติ
อย่างที่ทราบ หอเอนเมืองปิซาตั้งอยู่ที่เมืองปิซา ในจัตุรัสเปียซซา เดล ดูโอโม โดยเป็นหอระฆังของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
รูปลักษณ์ทรงกระบอก 8 ชั้น สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว สูง 183.3 ฟุต (55.86 เมตร) น้ำหนักรวม 14,500 ตันโดยประมาณ มีบันได 293 ขั้น เอียง 3.97 องศา ยอดของหอห่างจากแนวตั้งฉาก 3.9 เมตร
หอนี้เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 1716 (ค.ศ.1173) สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1893 หรือ ตั้งแต่บ้านเรายังอยู่ในช่วงของอาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในอดีตเลยทีเดียว
หอนี้ใช้เวลาสร้างประมาณ 177 ปี แต่การก่อสร้างหยุดชะงักเมื่อสร้างไปได้ถึงชั้น 3 เนื่องจากพื้นใต้ดินเป็นพื้นดินที่นิ่ม ทำให้ยุบตัว ต่อมาในปี พ.ศ.1815 จีโอแวนนี่ ดี สิโมน สร้างให้เอนกลับไปอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สมดุล
แต่การก่อสร้างในครั้งนี้ ก็ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง เนื่องจากเกิดสงคราม ต่อมาก็มีการสร้างหอต่อขึ้นอีกและสร้างเสร็จ 7 ชั้น ในปี พ.ศ.1862 แต่หอระฆังถูกสร้างเสร็จในปี พ.ศ.1915 โดยใช้เวลาสร้างทั้งหมด 177 ปี
เหตุการณ์สำคัญ
เส้นทางของหอเอนปิซา เรียกได้ว่า หัวกะไดไม่เคยแห้ง หมายถึงมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมาตลอด
เช่น หอนี้ กาลิเลโอ กาลิเลอิ เคยใช้ทดลองเกี่ยวกับเรื่อง “แรงโน้มถ่วง” ในตอนที่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยปิซา โดยใช้ลูกบอล 2 ลูกที่น้ำหนักไม่เท่ากันทิ้งลงมา เพื่อพิสูจน์ว่า ลูกบอล 2 ลูกจะตกถึงพื้นพร้อมกัน ซึ่งก็เป็นไปตามที่กาลิเลโอคาดไว้
ความทรงจำในการทดลองของ กาลิเลโอ กาลิเลอี
ในปี 2477 เบนิโต มุสโสลินี พยายามจะทำให้หอกลับมาตั้งฉากดังเดิม โดยเทคอนกรีตลงไปที่ฐาน แต่กลับทำให้หอยิ่งเอียงมากขึ้นไปอีก กองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ยิงปืนใหญ่ใส่หอเอนเมืองปิซา
หรือวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2507 รัฐบาลอิตาลี พยายามหยุดการเอียงของหอเอนเมืองปิซา โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น วิศวกร นักคณิตศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ โดยใช้เหล็กรวมกว่า 800 ตัน ค้ำไว้ไม่ให้หอล้มลงมา
ระหว่างนั้น ในปี 2530 หอเอนเมืองปิซาถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Piazza Dei Miracoli หอเอนเมืองปิซายังเป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางอีกด้วย
ปิดก่อน ไม่รอแล้วนะ
จนกระทั่ง ไปไม่ไหวแล้วจ้า วันที่ 7 มกราคม 2533 รัฐบาลอิตาลีตัดสินใจปิดหอเอนปิซาไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เพื่อความปลอดภัย อีกทั้งยังขุดดินของอีกด้านหนึ่งออก เพื่อให้สมดุลยิ่งขึ้น
โดยในการบูรณะอันยาวนานนับ 11 ปีนั้น (เปิด 2544) ทีมงานบูรณะได้นำแท่งตะกั่วน้ำหนัก 900 ตันไปหนุนโครงสร้างทางด้านเหนือของตัวหอเอาไว้เพื่อถ่วงน้ำหนักและเพื่อเพิ่มความสมดุล แต่ก็ยังไม่ทิ้งความพยายามที่จะหาวิธีที่ชะลอการเอียงตัวของหอระฆัง
ประตูนี้เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้วในปี 2544 หลังถูกปิดนานถึง 11 ปี
ข่าวว่า ในการนี้มีการสร้างโครงสร้างรูปตัวอักษรเอขึ้นทางเหนือของตัวหอ เเละต่อสายเคเบิลเข้ายึดตรงกลางของหอระฆังเอาไว้ วิธีนี้ช่วยดึงตัวหอให้อยู่กับที่ จากนั้นทีมงานค่อยๆ เริ่มขุดเอาดินปริมาณเล็กน้อยจากทางเหนือสุดของหอ ทำให้พื้นดินในทิศนี้ของตัวหอยุบตัวลงไปเล็กน้อย ช่วยแก้ไขระดับการเอนของหอไปทางทิศเหนือได้ราวครึ่งองศา
ทั้งนี้ ทีมวิศวกรยังได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถปรับความดันของน้ำใต้ตัวหอระฆังด้วย เพื่อช่วยควบคุมการเอนตัวของหอ
ที่สุดงานบูรณะนี้ช่วยลดการเอียงตัวของหอลงมาจาก 5.5 องศา เป็น 3.9 องศาจากมุมตั้งฉาก ในขณะที่ยังช่วยรักษาความเอนเอาไว้ตามชื่อ และที่สำคัญคือการมั่นใจว่าหอจะไม่ล้มเนื่องจากเเรงโน้มถ่วงของโลก
หอเอนเมืองปิซาในปี 2553 หลังบูรณะแล้ว
ว่ากันว่า บรรดาวิศวกรต่างระบุว่า มีเพียงสาเหตุเดียวที่อาจจะทำให้หอเอนเมืองปิซาล้ม คือเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากๆๆๆๆ
อย่างที่รู้ ที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2544 หอเอนเมืองปิซาถูกเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้ง โดยมีการประกาศว่า แม้จะเอนเหมือนเดิมแต่ก็สมดุลแล้ว คือขึ้นไปเที่ยวได้ไม่ต้องกลัวล้มแล้วสินะ
**********************************