วันนี้ในอดีต

11 ต.ค.2540 กำเนิดรัฐธรรมนูญ 'ในฝัน' ฉบับ 'ประชาชน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 22 ปีก่อน วันนี้ในอดีต

 

 

***********************

 

 

หลายคนอาจรู้ว่าไทยเรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และหลายคนอาจรู้ “สาเหตุ” ที่เรามีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ยกร่างฉบับใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ

 

แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลังปี 2475 ถึง “20” ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

 

 

11 ต.ค.2540  กำเนิดรัฐธรรมนูญ 'ในฝัน'  ฉบับ 'ประชาชน'

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นั่นแปลว่าเมืองไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เฉลี่ยแล้วทุกๆ 4 ปี!!! 

 

อย่างไรก็ดี ในขณะที่หลายคนกำลังตกใจหนักมากกับตัวเลขนี้ และสงสัยว่าเหตุจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ประนีประนอมที่สุดคือ ผู้ปกครองของประเทศต่างพยายามที่จะสรรหาสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับคนไทย ซึ่งไม่ใช่งานง่ายๆ

 

เราจึงต้องรอคอยว่าที่สุดแล้ว รัฐธรรมนูญของคนไทย แบบที่เรียกว่า “ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด” จะหยุดไว้ที่ตัวเลขฉบับที่เท่าไหร่ หรืออย่างน้อยระยะเวลาของการดำรงอยู่ จนถึงเปลี่ยนแปลง จะถ่างกว้างออกไปมากกว่านี้หรือไม่ 

 

แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น หลายคนอาจรู้ว่าที่จริงครั้งหนึ่งคนไทยได้มีรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่ากันว่า (เกือบ) ดีที่สุด ตรงกับความฝันและอุดมคติที่สุดแล้ว จนเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน”

 

นั่นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นฉบับที่ 16 และกำเนิดเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนี้เมื่อ 22 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม

 

 

 

 

 

 

กำเนิดรัฐธรรมนูญในฝัน

 

 

 

ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า โดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร เรียบเรียงไว้ระบุว่า วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 ของประเทศไทย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่ยกร่างขึ้นโดยมี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”

 

ขณะที่มีการประกาศใช้นั้น อยู่ในสมัยของรัฐบาลที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายวัน มูฮัมหมัด นอร์มะทาเป็นประธานรัฐสภา

 

 

 

11 ต.ค.2540  กำเนิดรัฐธรรมนูญ 'ในฝัน'  ฉบับ 'ประชาชน'

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

 

 

 

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีกระบวนการจัดทำที่ให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากแต่ละจังหวัดเข้ามาด้วย และในขณะดำเนินการยกร่างก็ได้ออกไปฟังความคิดเห็นของประชาชนมากกว่าที่เคยมีมาก่อน จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเลยทีเดียว

 

ที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้ มาจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองหลังจากที่ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ที่มีคนมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะทหารที่ยึดอำนาจ

 

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อดีที่สำคัญ คือ การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตายตัวเอาไว้ ส่วนข้อด้อยทั้งหลายก็ได้มีการแก้ไขไปอย่างมากแล้วใน พ.ศ. 2535

 

และผู้คนมองกันว่าเมื่อกันทหารออกไปจากการเมือง แล้วให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจเต็มที่ นักการเมืองเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้การเมืองดีขึ้น

 

ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2538 พรรคชาติไทยของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ชูนโยบายปฏิรูปการเมืองที่ต้องทำให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยไม่ให้นักการเมืองเป็นผู้ร่าง

 

 

 

 

11 ต.ค.2540  กำเนิดรัฐธรรมนูญ 'ในฝัน'  ฉบับ 'ประชาชน'

บรรหาร ศิลปอาชา

 

 

 

เมื่อผลการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคชาติไทยชนะ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มีนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปจึงเริ่มขึ้น

 

โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนั้น ให้สามารถมีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาและให้รัฐสภามีหน้าที่เพียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเท่านั้น

 

 

 

 

ทำไมถึงในฝัน

 

เพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้น ประกอบด้วยตัวแทนจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก 23 คน รวมเป็น 99 คน

 

เมื่อได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงเลือก นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภา และเลือกนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง

 

สภาร่างได้ดำเนินการยกร่างเสร็จเรียบร้อย เสนอต่อรัฐสภาผ่านออกมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยมีประชาชนชื่นชมและสนับสนุน

 

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มิได้เปลี่ยนโครงสร้างของรูปแบบรัฐบาล คือ ยังเป็นระบบรัฐสภา และมี 2 สภา ได้แก่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน

 

แต่รัฐธรรมนูญนี้มีเป้าหมายที่จะเอื้อให้เกิดรัฐบาลที่ “เข้มแข็ง” และพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้มแข็งขึ้นด้วย จึงกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ย้ายพรรคการเมืองได้ยากมาก

 

และกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภทที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองทั้งหมดถึง 100 คน โดยพรรคใหญ่จะได้เปรียบ เพราะกำหนดคะแนนขั้นต่ำของพรรคการเมืองที่จะได้ผู้แทนราษฎรประเภทนี้จากคะแนนรวมของพรรคทั้งประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของผู้มาออกเสียงเลือกตั้ง

 

สาระสำคัญอีก 2 ประการในรัฐธรรมนูญก็คือ 1.การบัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้ เพราะต้องการให้ประชาชนมีความเข้มแข็งมากเช่นกัน เพื่อจะได้ทันกับความเข้มแข็งของรัฐบาล 2. คือการกำหนดให้มีองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ

 

จนมีบางคณะเรียกว่าเป็น “อำนาจที่ 4” ขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาลและองค์กรอำนาจอื่นๆ ได้ เพราะทราบกันดีว่าในระบบรัฐสภานั้นสภาจะตรวจสอบรัฐบาลได้ไม่มากนัก

 

องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นศาลรัฐธรรมนูญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นต้น ซึ่งการมีองค์กรอิสระเหล่านี้นับว่าได้เป็นของใหม่ในวงการเมืองไทย และดูจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนโดยทั่วไป แต่ฝ่ายการเมืองนั้นดูจะไม่ชอบใจนัก กระนั้นก็ยังยอมรับการเปลี่ยนแปลง

 

และที่เราคนไทยไม่เคยลืมคือ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกใน พ.ศ. 2544 

 

 

 

 

11 ต.ค.2540  กำเนิดรัฐธรรมนูญ 'ในฝัน'  ฉบับ 'ประชาชน'

 

 

 

 

พรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ชนะได้เสียงเป็นอันดับหนึ่ง และใกล้เคียงกับจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนฯ

 

จึงได้จัดตั้งรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้ต่อมารวมแล้วประมาณ 9 ปี จนถึงวันที่19 กันยายน พ.ศ. 2549 

 

คณะทหารก็ได้ยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้ รัฐบาลทักษิณ 2 จึงไม่ได้ไปต่อ และคนไทยก็ต้องกลับมานั่งรอคอยรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปอีกครั้ง

 

 

 

 

11 ต.ค.2540  กำเนิดรัฐธรรมนูญ 'ในฝัน'  ฉบับ 'ประชาชน'

 

 

 

*********************************

 

 

 

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ