
8 ส.ค.2554 ชื่นชีวานายกฯ หญิงคนแรก
8 ปีช่างเร็วนัก
***********************
ถ้าพูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของคนไทย ที่ดูจะเป็นที่ติดตามมากที่สุดคนหนึ่ง ก็คงหนีไม่พ้นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย และยังเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 46 ของโลก ที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ!!
เธอคือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และวันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เป็นวันที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก โดยเป็นนายกฯ คนที่ 28 ของประเทศต่อจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ขณะที่วันนี้เมื่อปีที่แล้ว หรือตรงกับวันที่ 8 สิงหาคม 2561 อดีตนายกฯ หญิงยังได้ โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าความทรงจำอันงดงามของเธออีกด้วยว่า
"เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2554 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย เพื่อรับใช้พี่น้องประชาชนค่ะ"
"แม้เวลาจะผ่านไป 5 ปีก็เป็นเวลาของความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ เพราะถือว่าได้รับฉันทามติที่พี่น้องประชาชนเลือกเข้ามาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และดิฉันก็ดีใจทุกครั้งถึงแม้เวลาจะผ่านมานานทุกคนยังรักและหวังดีกับดิฉันเสมอมา ในทุกๆ ที่ ที่ไปก็ได้รับกำลังใจที่อบอุ่นกลับมาทุกครั้ง นี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุดแล้วค่ะ"
"ดิฉันต้องขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและไว้วางใจในช่วงเวลาอันมีค่านั้น ทุกอย่างจะยังจารึกและบันทึกไว้ในหัวใจดิฉันตลอดไปไม่ลืมเลือนและจะคอยเป็นกำลังใจพี่น้องประชาชนในทุกๆสถานการณ์ค่ะ"
พร้อมภาพอันสวยงามดังนี้
ย้อนรอยกลับไปในอดีต ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร เล่าว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สังกัด ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 265 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งและเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในเวลาเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพียง 159 ที่นั่ง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมิได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพราะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในตอนนั้น คือนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้สมัครหมายเลข 1 ในประเภทบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย และเป็นน้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
ยิ่งลักษณ์ เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีเสียงของพรรคเพื่อไทยเองมากเกินกว่าครึ่งสภาผู้แทนราษฎร หากแต่ต้องการเอาพรรคการเมืองอื่นมาร่วมด้วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ พรรคนี้มีเสียงอยู่ 19 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร
พรรคต่อมาที่เข้าร่วมรัฐบาล คือ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่มีเสียงอยู่ 7 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร พรรคนี้มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ พรรคที่สามที่เข้าร่วมรัฐบาลได้แก่พรรคพลังชน ที่มีนายสนธยา คุณปลื้ม มีบทบาทสำคัญ พรรคนี้ก็มีเสียงในสภาผู้แทนฯ จำนวนเท่ากัน 7 คน เหมือนพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
สำหรับพรรคสุดท้ายที่เข้าร่วมรัฐบาลโดยไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะมีเสียงในสภาผู้แทนฯ เพียงเสียงเดียว ได้แก่ พรรคมหาชน ดังนั้นในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติ 296 ต่อ 3 เสียงเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้งดออกเสียงจำนวน 197 คน
คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับเป็นคณะรัฐมนตรี คณะที่ 60 ของไทย รัฐมนตรีสำคัญ ๆ ของทางรัฐบาลนั้นมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นายธีระ วงศ์สมุทร จากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสุกุมล คุณปลื้ม จากพรรคพลังชนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่น ๆ ที่สำคัญนั้นล้วนเป็นของพรรคเพื่อไทย ร่วมทั้งกระทรวงการต่างประเทศที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการ
ครั้นรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศ ก็มีทั้งผู้คนที่ให้กำลังใจเพราะเป็นสตรีคนแรกที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดด้วย แต่ก็มีผู้ที่ตามดูด้วยความสงสัยในฝีมือ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการเมืองในระยะเวลาอันสั้น และก็ลงเลือกตั้งทั่วไปที่ทำหน้าที่ผู้นำพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงอย่างเต็มที่ แม้จะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคตามกฎหมายก็ตาม
ปรากฏว่างานของรัฐบาลที่หนักและทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนั้นก็คือการดำเนินการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยที่ร้ายแรงมากใน พ.ศ. 2554 เพราะในช่วงเวลาที่เข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลนั้นก็มีน้ำท่วมมากทางภาคเหนือของประเทศ และเขื่อนต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือของประเทศก็กักน้ำไว้สูง จึงต้องปล่อยน้ำลงสู่ภาคกลาง ทำให้น้ำท่วมทางภาคกลางหลายจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่จังหวัดปทุมธานี น้ำท่วมมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและของเอกชน
และที่รุนแรงเกินความคาดหมายคือน้ำได้บ่าเข้าท่วมกรุงเทพมหานครทางตอนเหนือ ถึงขนาดท่วมสนามบินดอนเมืองสูงกว่าหนึ่งเมตรในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 และน้ำได้ท่วมบริเวณกรุงเทพมหานครทางตอนเหนือลงไปจนถึงบริเวณใกล้กับพื้นที่ลาดพร้าว อันเป็นการท่วมที่ยาวนานเกือบ 2 เดือน และการป้องกันแก้ไขของรัฐบาลไม่เป็นที่ถูกใจประชาชนที่เดือดร้อน
อย่างไรก็ดี เราคนไทยเห็นแล้วว่า เส้นทางการเป็นนายกฯ ของหญิงไม่ง่ายเหมือนตอนเลือกตั้งได้เข้ามา เพราะในส่วนของคนไทย ยังมีการพยายามจับผิดการพูดจาของหญิงปู ชนิดเป็นข่าวแทบรายวัน
เช่น กรณีออกเสียงผิด หรือสคริปต์ผิดกันแน่ จาก "หญ้าแฝก" เป็น"หญ้าแพรก" กลางรายการนายกฯ ยิ่งลักษณ์พบประชาชน ที่ออกอากาศเป็นครั้งแรก หรือจะเป็นกรณี "พฤศจิกาคม" ก็เรียกเสียงต่อว่าต่อขานได้ไม่น้อย รวมไปถึงการแถลงต่อสภา จากตัวเลข 53,918 ล้านบาท (ห้าหมื่นสามพันเก้าร้อยสิบเเปดล้านบาท) เเต่ท่านนายกฯ กลับอ่านเป็น "ห้าหมื่น สามแสน เก้าร้อยสิบแปดล้านบาท"
เด็ดสุดคือ วลี "เอาอยู่" ช่วงที่รัฐบาลหญิงปูกำลังแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 2554 ซึ่งเป็นมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบ 50 ปี (ขอบคุณข้อมูลจาก : dek-d)
อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องราวหลังจากนั้นอีกมากมาย จนในที่สุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
และมีเหตุให้ต้องหนีออกนอกประเทศไปเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว
////////////
ขอบคุณข้อมูลจาก
วิกิพีเดีย
สถาบันพระปกเกล้า
และ www.dek-d.com