18 มิ.ย.2496 ปลด!ยุวกษัตริย์อียิปต์ หลังครองราชย์ 324 วัน
ฝ่ายเจ้าชายน้อย อดีตกษัตริย์องค์สุดท้าย ทุกวันนี้พระองค์ยังทรงมีพระชนชีพ โดยเสด็จลี้ภัยไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้
*******************
ถ้าพูดถึงแดนพิรามิดโบราณ เราจะนึกถึงดำนานฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าพูดถึงอียิปต์ห้วงปัจจุบันกาล เราจะนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ที่มีระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข นั่นแปลว่า ระบอบกษัตริย์ของแดนดินนี้ได้จบลงไปแล้ว
โดยวันนี้ เมื่อ 66 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 18 มิถุนายน 2496 คือวันที่อียิปต์ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐ และยกเลิกระบอบราชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า สถานะกษัตริย์และราชวงศ์มูฮัมหมัดอาลี ได้สิ้นสุดไปด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หลายคนอาจไม่รู้ว่า กษัตริย์องค์สุดท้ายของอียิปต์คือใคร ท่านผู้นั้นคือ พระเจ้าฟูอัดที่ 2 แห่งอียิปต์ ที่เคยเป็นกษัตริย์แห่งอียิปต์และซูดาน และองค์อธิปัตย์แห่งนิวเบีย, คูร์ดูฟาน และดาร์ฟูร์ แห่งราชวงศ์มูฮัมหมัดอาลี
ท่านได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ขณะที่์มีพระชันษาเพียง 7 เดือนเท่านั้น โดยพระราชบิดา คือ พระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์ทรงประกาศสละราชสมบัติ
พระเจ้าฟูอัดที่ 2 แห่งอียิปต์ ประสูติเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2495 ณ พระราชวังอับดีน กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์ และอดีตสมเด็จพระราชินีนาร์รีมานแห่งอียิปต์ มีพระนามาภิไธยเดิมว่า “เจ้าชายอะห์มัด ฟูอัด”
พระเจ้าฟารุกที่ 1 พระราชบิดา
พระองค์มีพระเชษฐภคิณีต่างพระมารดาคือ เจ้าหญิงเฟริยาลแห่งอียิปต์, เจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์ และเจ้าหญิงฟาดียะแห่งอียิปต์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีพระอนุชาต่างบิดาคือ นายอะกรัม อดัม อาเหม็ด นาจีบ
ในการขึ้นครองราชย์นั้น เกิดขึ้นจากความยุ่งยากเกี่ยวกับการปกครองของอียิปต์ เนื่องจากประชาชนเริ่มไม่พอใจในการปกครองของพระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์
ว่ากันว่า ช่วงนั้นมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในเหล่าข้าราชการ บางพวกใช้อำนาจหน้าที่ของตนสร้างความร่ำรวยแก่ตนเอง แต่เหล่าอาณาประชาราษฎรอยู่อย่างยากลำบาก แต่ราชสำนักและเหล่าข้าราชการกลับใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย
อดีตสมเด็จพระราชินีนาร์รีมานแห่งอียิปต์ พระราชมารดา
ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2495 กลุ่มขบวนการ Free Officers Movement ภายใต้การนำของ มูฮัมเหม็ด นาจีบ และกาเมล อับเดล นัสซอร์ ได้กระทำการรัฐประหารขึ้น
กลุ่มก่อการ ได้บังคับให้พระเจ้าฟารุกที่ 1 แห่งอียิปต์สละราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ก็มิทรงขัดขืน แต่ได้ทำการยกเจ้าชายอะห์มัด ฟูอัด พระราชโอรสขณะที่่ยังเป็นทารกน้อยอยู่ เสด็จขึ้นครองราชย์แทน
เจ้าชายน้อยๆ ได้ขึ้นเป็น พระเจ้าฟูอัดที่ 2 แห่งอียิปต์ โดยไม่ทรงรับรู้อะไรด้วยเลย ดังนั้นจึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ เจ้าชายมูฮัมหมัด อับดุล โมนีม พระสวามีของเจ้าหญิงเนสลิชาห์แห่งจักรวรรดิออตโตมัน
เจ้าชายน้อยๆ
ว่ากันว่า หนนั้นพระเจ้าฟารุกทรงทำไปด้วยคิดว่าหากพระองค์สละราชสมบัติแล้ว อาจจะทำให้กลุ่มนักปฏิวัติ และผู้ต่อต้านระบอบราชาธิปไตยภายในประเทศยุติการเคลื่อนไหวและนำความสงบสุขกลับเข้ามาในอียิปต์อีกครั้ง และยังทรงเชื่อว่ายุวกษัตริย์พระองค์น้อยองค์นี้จะสามารถยุติความรุนแรงภายในอียิปต์และซูดานได้
แต่ไม่มีอะไรง่ายดายเช่นนั้น ที่สุดในวันที่ 18 มิถุนายน 2496 พระเจ้าฟูอัดที่ 2 แห่งอียิปต์ได้ถูกปลดจากการเป็นยุวกษัตริย์หลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์ได้ 324 วัน แล้วรัฐบาลก็ได้ทำการล้มล้างราชวงศ์ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ
ฝ่ายราชวงศ์จึงเสด็จลี้ภัยจากประเทศอียิปต์ โดยพระเจ้าฟารุกที่ 1 ได้เข้าไปพำนักในประเทศโมนาโก พระองค์ได้ถูกถอดสัญชาติอียิปต์โดยสหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับ และได้รับพระราชทานสัญชาติโมนาโกจากเจ้าชายเรนิเยที่ 3 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก ซึ่งเป็นพระสหาย และภายหลังได้เข้ามาพำนักในกรุงโรม ประเทศอิตาลี
ชีวิตช่วงลี้ภัยของทั้ง 3 พระองค์
จะด้วยเหตุอันใดมิอาจทราบ ต่อมา พระเจ้าฟารุกที่ 1 ประสบปัญหาด้านุสขภาพ ทางด้านการเสวยพระกระยาหาร พระองค์มีน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานเอามาก
กระทั่งวันหนึ่ง พระองค์ก็เสด็จสวรรคตในภัตตาคารอาหารฝรั่งเศสแห่งหนึ่งในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2508 ว่ากันว่าพระองค์ได้ทรุดพระองค์ และสวรรคตขณะที่กำลังเสวยพระกระยาหารมื้อใหญ่ ท่ามกลางหน่วยข่าวกรองบางส่วนของอียิปต์ ระบุว่าเป็นการวางยาพิษลอบปลงพระชนม์ พระองค์สรรคตขณะที่พระชนมายุเพียง 45 ประชันษาเท่านั้น
ส่วน สมเด็จพระราชินีนาร์รีมานแห่งอียิปต์ ต่อมาได้ทรงหย่ากันเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2497 (ก่อนอดีตพระสวามีสิ้นพระชนม์ 11 ปี) ว่ากันว่าเพราะทรงเบื่อหน่ายกับการลี้ภัย ต่อมาก็ได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในกรุงไคโร ช่วงปี 2548
ฝ่ายเจ้าชายน้อย อดีตกษัตริย์องค์สุดท้าย ทุกวันนี้พระองค์ยังทรงมีพระชนชีพ โดยเสด็จลี้ภัยไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้
เมื่อเจริญวัยแล้ว พระองค์ได้เริ่มต้นความสัมพันธ์กับ โดมินิก ฟรองซ์ ปิการ์ (สกุลเดิม โลบ) ที่มีอายุมากกว่าพระองค์ 4 ปี
พระนางเป็นธิดาของ โรเบร์ โลบ และปอล มาเดอแลน ปิการ์ โดยได้รู้จักกันครั้งแรกในปี 2519 ครั้งแรกที่พระราชวังโมนาโก แล้วได้อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 16 เมษายน ปีเดียวกันที่กรุงปารีส
น่าสนใจมาก ที่แม้ว่าพระองค์จะอภิเษกสมรสภายหลังจากที่พระเจ้าฟูอัดที่ 2 พระสวามีลงจากราชบัลลังก์แล้ว แต่พระองค์ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอียิปต์ โดยได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนพระนามเป็น ฟาดิลา
แต่น่าเสียดายที่ หายหลังหลังการครองรักมาเป็นเวลานาน จนมีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายมูฮัมหมัด อาลี เจ้าชายแห่งซาอิด, เจ้าหญิงเฟาซียะห์-ลาติฟา แห่งอียิปต์ และเจ้าชายฟากห์รุดดินแห่งอียิปต์ ทั้งคู่ก็ ได้หย่าจากกันในปี 2539 กระทั่งต่อมาในปี 2542 พระราชินีฟาดิลาได้ดำรงอิสริยยศเป็น “เจ้าฟ้าหญิงฟาดิลาแห่งอียิปต์”
ปัจุจบัน พระเจ้าฟูอัดที่ 2 แห่งอียิปต์ มีพระชนมายุ 67 พระชันษา ฝ่ายอดีตพระชายา มีอายุ 70 ปี ช่วงหนึ่งอพาร์ทเมนต์ของเธอที่ปารีสถูกยึด เนื่องจากเธอค้างชำระหนี้สินเมื่อปี 2545 พอถึงปี 2551 พระเจ้าฟูอัดที่ 2 อดีตพระสวามีไม่อนุญาตให้เธอมีศักดิ์เป็นเจ้าหญิงอียิปต์อีกต่อไป
ทั้งหมดนี้ มีบางมุมที่เราพบว่าความจริงคือทุกอย่างล้วนแล้วแต่ไม่เคยแน่นอน
********************************