16 ม.ค.2535 สิ้นหลวงปู่ชา ปาฏิหาริย์แห่งธรรม
หลวงปู่ชา สุภทฺโท ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรม และเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบังเกิดผลทำให้ผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์
คนไทยต่างบูชา “พระโพธิญาณเถร” หรือ หลวงปู่ ชา สุภทฺโท เป็นอันมาก ด้วยหลวงปู่นั้นเป็นอริยสงฆ์ผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่พระศาสนา
ทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา และสำนักปฏิบัติธรรมในนามวัดสาขาวัดหนองป่าพงมากมาย ซึ่งแม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้ว แต่ศิษยานุศิษย์ของท่านก็ยังคงรักษาแนวทางปฏิบัติธรรมที่ท่านได้สั่งสอนไว้จนถึงปัจจุบัน
และวันนี้เมื่อ 27 ปีก่อน คือวันที่หลวงปู่ชา ได้มรณภาพอย่างสงบท่ามกลางธรรมสังเวชของศิษยานุศิษย์จากทุกสารทิศ
ชีวิตวัยต้น
หลวงปู่ชา เกิดเมื่อ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 ตรงกับ วันศุกร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ 9 ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
บิดาชื่อนายมา ช่วงโชติ มารดาชื่อ นางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 10 คน
ในวัยเด็ก หลวงปู่ชาเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนบ้านก่อ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนจบชั้นประถม 1 จึงขอลาออกเพื่อมาบวชเรียนตามความสนใจของตนเอง
โดยช่วงอายุ 13 ปี หลังจากลาออกจากโรงเรียนประถมศึกษา โยมบิดาได้นำไปฝากกับเจ้าอาวาสเพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี จึงได้รับอนุญาตให้บรรพชาเป็น “สามเณรชา โชติช่วง” เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2474 โดยมีท่านพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) อดีตเจ้าอาวาส วัดมณีวนาราม อุบลราชธานี เป็นอุปัชฌาย์
สามเณรชา โชติช่วง ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์ เป็นเวลา 3 ปี ได้เอาใจใส่ต่อภารกิจของสามเณรท่องสวดมนต์ ทำวัตร ศึกษาหลักสูตรนักธรรมปฏิบัติพระเถระ แล้วจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา
แต่ด้วยจิตใจที่ใฝ่ในทางธรรม เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงล่าพ่อแม่มาบวชเป็นพระ โดยอุปสมบทเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 เวลา 13.55 น. ณ พัทธสีมา วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี โดยมีพระเถระสำคัญที่ให้การอุปสมบทดังนี้ พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชาฌาย์, พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระอธิการสอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พระชา สุภทฺโท ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดก่อนอก 2 พรรษา ตั้งใจศึกษาปริยัติธรรม ทั้งจากตำรับตำราและจากครูอาจารย์ จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในสำนักวัดแห่งนี้
ธรรมะคือชีวิต
แน่นอน พระชา สุภทฺโท ไม่หยุดแต่เพียงเท่านั้น มีความตั้งใจที่จะมุ่งเรียนปริยัติธรรมให้สูงสุด จึงทุ่มเทให้การศึกษาทั้งนักธรรมและบาลี และผ่านสำนักต่างๆ มากมาย
จนในที่สุดก็สอบนักธรรมได้ครบตามหลักสูตร คือ สอบนักธรรมชั้นโทได้ ในสำนักของ พระครูอรรคธรรมวิจารณ์ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักวัดบ้านก่อนอกถิ่นเกิด
อย่างไรก็ดี หลวงปู่ได้ว่างเว้นจากการศึกษา เพื่อไปดูแลโยมบิดาที่ป่วย โดยมีเรื่องเล่าไว้ใน http://anuchah.com/biography/ เล่าว่า แม้หลวงพ่อก็เกิดความลังเลใจ พะว้าพะวง ห่วงการศึกษาก็ห่วง ห่วงโยมบิดาก็ห่วง
แต่ความห่วงผู้บังเกิดเกล้ามีน้ำหนักมากกว่า เพราะโยมบิดาเป็นผู้มีพระคุณอย่างเหลือล้น หลวงปู่จึงตัดสินใจกลับไปดูแลโยมพ่อทั้งที่วันสอบนักธรรมก็ใกล้เข้ามาทุกที แต่ก็เลือกที่จะเดินในเส้นทางสายกตัญญุตา
ที่สุดหลวงปู่มาอยู่เฝ้าดูแลอาการป่วยของโยมพ่อนับเป็นเวลา 13 วัน โยมพ่อจึงได้ถึงแก่กรรม (ปี 2483) จนเมื่อจัดการกับการฌาปนกิจโยมบิดาเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงเดินทางกลับสำนักวัดหนองหลัก เพื่อตั้งใจศึกษาเล่าเรียนต่อไป
โดยเดินทางไปศึกษษยังที่ต่างๆ เช่น ที่สำนักของหลวงพ่อเภา วัดเขาวงกฏ จ.ลพบุรี และพระอาจารย์ชาวกัมพูชาที่เป็นพระธุดงค์ซึ่งได้พบกันที่วัดเขาวงกฏ หลวงปู่กินรี อาจารย์คำดี หลวงปู่ทองรัตน์ พระอาจารย์มั่น เป็นต้น พออินทรีย์แก่กล้าแล้วก็ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมต่อไปเรื่อยๆ โดยยังดำรงสมณเพศเป็นพระมหานิกายอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ หลวงปู่ชา สุภทฺโท ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรม และเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบังเกิดผลทำให้ผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่พระศาสนา ทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา และสำนักปฏิบัติธรรม ดังนี้
1. ธรรมเทศนา สำหรับบรรพชิต สำหรับคฤหัสถ์ เสียสละเพื่อธรรม การเข้าสู่หลักธรรม ธรรมะที่หยั่งรู้ยาก ธรรมะธรรมชาติ ปฏิบัติกันเถิด ธรรมปฏิสันถาร สองหน้าของสัจธรรม ปัจฉิมกถา การฝึกใจ มรรคสามัคคี ดวงตาเห็นธรรม อยู่เพื่ออะไร เรื่องจิตนี้ น้ำไหลนิ่ง ธรรมในวินัย บ้านที่แท้จริง ฯลฯ
2. สำนักปฏิบัติธรรม มีสำนักปฏิบัติธรรม ในประเทศไทยซึ่งอยู่ทุกภาคของประเทศจำนวนทั้งสิ้น 82 สาขา และในต่างประเทศอีก 7 สาขา และเฉพาะศิษย์ที่เป็น พระชาวต่างประเทศซึ่งอยู่เป็นประธานสงฆ์ผู้มีพรรษาต่ำสุดคือ 16 พรรษา รายนามสาขาในต่างประเทศ มีดังนี้.- ยุโรป และ อเมริกา, วัดจิตตวิเวก อังกฤษ, วัดอมรวดี อังกฤษ, วัดป่าสันติธรรม อังกฤษ, วัดรัตนคิรี (ฮาร์นัม) อังกฤษ, เดว่อน วิหาร อังกฤษ, วัดสันตจิตตรามา อิตาลี, วัดธรรมปาละ สวิสเซอร์แลนด์, วัดอภัยคิรี อเมริกา, วัดป่านานาชาติ อุบลราชธานี, ออสเตรเลีย, วัดโพธิญาณ ออสเตรเลีย, โพธิญาณรามา นิวซีแลนด์
วัดและศูนย์ปฏิบัติธรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ศูนย์ปฏิบัติธรรมแม่น้ำแอร์โร่ แคนาดา, วัดป่าเบิร์กเคน แคนาดา, วัดป่าสันติ ออสเตรเลีย, อัคแลนด์ วิหาร นิวซีแลนด์
ปาฏิหาริย์แห่งธรรม
ใน http://anuchah.com/biography/ ยังได้เล่าเกี่ยวกับช่วงเวลาที่หลวงปู่เผชิญสิ่งลี้ลับปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่นว่า ช่วงพรรษาที่ 8 ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกฏ
วันหนึ่งขณะที่ขึ้นไปอยู่บนหลังเขา หลังจากเดินจงกรมและนั่งสมาธิแล้ว ก็จะพักผ่อนตามปกติ ก่อนจำวัตรจะต้องสวดมนต์ไหว้พระ
แต่วันนั้นเชื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง จึงไม่ได้สวดอะไร ขณะที่กำลังเคลิ้มจะหลับ ปรากฏว่าเหมือนมีอะไรมารัดลำคอแน่นเข้าๆ แทบหายใจไม่ออก ได้แต่นึกภาวนาพุทโธๆ เรื่อยไป เป็นอยู่นานพอสมควรอาการรัดคอนั้นจึงค่อยๆ คลายออก
พอลืมตาได้แต่ตัวยังกระดิกไม่ได้ จึงภาวนาต่อไป จนพอกระดิกตัวได้แต่ยังลุกไม่ได้ เอามือลูบตามลำตัวนึกว่ามิใช่ตัวของเรา ภาวนาจนลุกนั่งได้แล้ว พอนั่งได้จึงเกิดความรู้สึกว่า เรื่องการถือมงคลตื่นข่าวแบบสีลัพพตปรามาส ไม่ใช่ทางที่ถูกที่ควร การปฏิบัติธรรมต้องเริ่มต้นจากมีศีลบริสุทธิ์ เป็นเหตุให้พิจารณาลงสู่ว่า…สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน แน่ชัดลงไปโดยมิต้องสงสัย
นับตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อชามีความระวังสำรวมด้วยดี มิให้มีความบกพร่องเกิดขึ้น แม้กระทั่งสิ่งของที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ตามวินัย และปัจจัย(เงินทอง) ท่านก็ละหมด และปฏิญาณว่าจะไม่ยอมรับตั้งแต่วันนั้นมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
หรือตอนที่่เข้าอยู่ป่าช้าครั้งแรกของหลวงปู่ วันนั้นมีเด็กตายในหมู่บ้านเขา จึงเอาฝังไว้ โยมเลยเอาไม้ไผ่ที่หามเด็กมานั้นสับเป็นฟากยกร้านเล็กๆ พอนั่งได้ใกล้ๆ กับหลุมฝังศพ
หลวงปู่ชาเล่าว่า ทั้งๆ ที่ตัวเองก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่ไล่ให้พ่อขาวแก้วไปปักกลดห่างกันประมาณ 1 เส้น เพราะถ้าอยู่ใกล้กันมันจะถือเอาเป็นที่พึ่ง
คืนแรก ขณะที่เดินจงกรมแม้จะกลัว ก็ไม่หยุดที่จะทำกิจต่อไป จนพอจิตเริ่มสงบ พอเดินไปถึงหลุมฝังศพปรากฏว่า หลวงปู่มองลงไปในหลุมเห็นองค์กำเนิดของเด็กผู้ชายชัดเจน ว่าเป็นเด็กผู้ชาย
โดยที่มิได้ล่วงรู้มาก่อน จนตอนเช้าจึงได้ถามโยมว่าเอาเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงไปฝัง เขาตอบว่าเด็กผู้ชาย
คือที่ 2 มีคนตายอีก คราวนี้เป็นผู้ใหญ่ เขาพามาเผาห่างจากที่ปักกลดประมาณ 10 วา หลังเดินจงกรมได้เวลาพอสมควร จึงเข้านั่งสมาธิภายในกลด ก็ได้ยินเสียงดังกุกกักทางกองฟอน
จนสักครู่หนึ่งเสียงดังแรงขึ้น หลวงปู่ท่านคิดว่า อาจจะเป็นควายของชาวบ้าน เชือกผูกขาด มาหากินใบไม้ในป่า แต่เสียงนั้นใกล้เข้ามาทุกที
หลวงปู่แน่วแน่ว่าไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จะไม่ยอมออกจากกลด จนได้ยินเสียงคนเดินตรงแน่วมาที่หลวงปู่ แล้วมาหยุดอยู่ข้างหน้าประมาณ 1 เมตร แต่เขาไม่เปิดกลดเข้ามา
นาทีนั้น ใครบ้างไม่กลัว หากหลวงปู่พยายามถามตัวเองว่า กลัวอะไร? คำตอบก็มีขึ้นว่า กลัวตาย ความตายมันอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ตัวเราเอง เมื่อรู้ว่าอยู่ที่ตัวเรา จะหนีพ้นมันไปได้ไหม? ไม่พ้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด คนเดียวหรือหลายคน ในที่มืดหรือที่แจ้ง ก็ตายได้ทั้งนั้น หนีไม่พ้นเลย จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่มีทางพ้น
เมื่อรู้อย่างนี้ ความกลัวไม่รู้ว่าหายไปไหน เลยหยุดกลัว เมื่อความกลัวหายไป ผู้ที่เข้ามายืนอยู่หน้ากลดก็หายไปด้วย
รุ่งเช้า พอได้เวลาบิณฑบาต พ่อขาวแก้ว ปักกลดข้างกัน มาถามว่าหลวงพ่อ ว่าเมื่อคืนนี้มีอะไรเห็นอะไรไปหาบ้าง?
“มันเดินมาจากทางอาจารย์อยู่นั่นแหละ มันแสดงอาการที่น่ากลัวใส่ผม ผมต้องชักมีดออกมาขู่มัน มันจึงเดินกลับไป”
หลวงพ่อชาจึงตอบว่า จะมีอะไรเล่า…หยุดพูดดีกว่า พ่อขาวแก้วก็เลยหยุดถาม หลวงพ่อคิดว่าถ้าขืนพูดไป ถ้าพ่อขาวแก้วเกิดกลัวขึ้นมา เดี๋ยวก็อยู่ไม่ได้เท่านั้น
แสงสว่างที่วัดหนองป่าพง
ที่สุด ช่วงหนึ่ง หลวงปู่เริ่มมีอาการอาพาธ โดยตอนนั้น ปี พ.ศ.2496 ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ที่หลวงพ่อได้อยู่ป่าใกล้บ้านป่าตาว
จนช่วงปี 2497 ในระหว่างปลายเดือน 3 โยมมารดา (แม่พิม) ของหลวงพ่อ พร้อมทั้งพี่ชาย(ผู้ใหญ่ล่า) และญาติโยมอีก 5 คนได้เดินทางขึ้นไปพบหลวงพ่อ เพื่อนมัสการนิมนต์ให้กลับลงมาโปรดญาติโยมในถิ่นกำเนิด
หลวงปู่พิจารณาเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะแล้ว จึงรับนิมนต์ และตกลงให้โยมมารดาและคณะที่ไปนั้น ขึ้นรถโดยสารลงมาก่อน
ส่วนหลวงพ่อพร้อมด้วยพระเชื้อ พระหนู พระเลื่อน สามเณรอ๊อด พร้อมด้วยพ่อกี พ่อไต บ้านป่าตาว เดินธุดงค์ลงมาเรื่อยๆ หยุดพักเป็นระยะๆ ตามทางเป็นเวลา 5 คืน
ที่สุดเมื่อคณะของหลวงพ่อได้เดินทางมาถึงชายดงป่าพง ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 พอเช้าวันที่ 9 มีนาคม 2497 จึงได้พากันเข้าสำรวจ สถานที่พักในดงป่านี้
เจดีย์โพธิญาณเถร งานปฏิบัติธรรมประจำปี วัดหนองป่าพง (ภาพจากเฟซบุค วัดหนองป่าพง วารินชำราบ อุบลราชธานี)
และได้ช่วยกันดำเนินการสร้างวัดป่าขึ้น ซึ่งเรารู้จักในปัจจุบัน คือ “วัดหนองป่าพง” จนภายหลังมีศานุศิษย์มากมายทั้งไทยและเทศ ขยายไปหลายสาขา ดังที่กล่าวไปข้างต้น
และท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้มาโดยตลอด และถึงแก่มรณภาพเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 เวลา 05.20 น. ที่ วัดหนองป่าพง อย่างสงบท่ามกลางธรรมสังเวชของศิษยานุศิษย์จากทุกสารทิศ
ภายในพิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท)
ทั้งนี้ ที่วัดหนองป่าพงยังมีสถานที่ ที่เราสามารถรำลึกถึงท่านได้ คือ พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมประวัติและผลงานของท่านมารวมไว้ ตลอดจนรูปปั้นขี้ผึ้งของท่าน ที่ผนังพิพิธภัณฑ์ก็ยังมีภาพชีวิตของท่าน ที่ทำจากกระเบื้องดินเผา
เมื่อเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แล้วจะให้ทั้งความร่มเย็นศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้เลย หรือนี่จะเป็นปาฏิหาริย์แห่งธรรมเช่นเดียวกัน
*****//****
อนึ่ง กำหนดการงานปฏิบัติธรรมอาจาริยบูชา วัดหนองป่าพง ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม ของทุกปี วัดหนองป่าพง กำหนดให้มีการปฏิบัติธรรม ถือศีลแปด ถวายเป็นอาจริยบูชาแด่ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีและเป็นการปฏิบัติธรรมบูชาคุณ ถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่องค์หลวงปู่
โดยมีพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา มารวมกันทำวัตรสวดมนต์เช้า ทำวัตรเย็น เดินจงกรม นั่งสมาธิ และรับฟังพระธรรมเทศนาโดยครูบาอาจารย์จากวัดสาขาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
////////////////////
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย
ข้อมูลจาก http://anuchah.com/biography/
ภาพจาก http://www.dhammajak.net