ปริศนากระสุนสั่งตาย "ดาบยิ้ม"กลิ่นเขม่า ในความมืด
แม้ว่าคดี "ฆ่าดาบยิ้ม" จะจบไปแล้ว ปัญหาหนึ่งที่ยังไม่จบก็คือ ไอ้ปื๊ดอยู่ไหน? หรือไอ้ปี๊ดจะ หมายถึง "รูดปื๊ด รูดปื๊ด" ศัพท์สแลงในภาพยนตร์โฆษณาบัตรเครดิตแห่งหนึ่ง
***********************
เชื่อหรือไม่ ในบรรดาข่าวคราวเกี่ยวกับคดีสังหาร มีคดีหนึ่งที่แม้จนถึงวันนี้ คนไทยยังคงคาใจไม่จบ แม้ว่าคดีจะจบไปแล้วก็ตาม!
นั่นคือคดีที่เกิดขึ้นในวันนี้ของ 17 ปีก่อน ที่ ด.ต.สุวิชัย รอดวิมุต หรือ “ดาบยิ้ม” ผ.บ.หมู่แผนก 5 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม ถูกยิงเสียชีวิตที่ทเวนตี้คลับ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ท้องที่ สน.สุทธิสาร
หลายคนอ่านถึงตรงนี้ก็ร้องอ๋อ เพราะเวลานั้น ผู้ต้องหาที่สังคมจับตามองมากที่สุด คือ ดวงเฉลิม อยู่บำรุง ลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองชื่อดังย่านฝั่งธน
และมีผู้ต้องหาร่วมอีก 2 คน ได้แก่ กฤษพัฒน์ จาตุรานนท์ นายสุพจน์ แสงอนันต์ ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น และทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กาย
ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 คน คือ ร.ต.ต.วันเฉลิม อยู่บำรุง บุตรชายคนกลางของ ร.ต.อ.เฉลิม กับ พ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ หรือ สารวัตรเหยิน อดีตสารวัตร 191 ถูกดำเนินคดีในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ช่วยเหลือผู้กระทำผิดมิให้ถูกจับกุม และพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
ภาพจากผู้จัดการออนไลน์
ส่วนหนึ่งที่ สังคมให้ความสนใจคดีนี้มาก เพราะนอกจากจะเกี่ยวข้องกับลูกหลานคนดัง และซ้ำยังเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่ผู้ตายเป็นถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่ที่คนไทยสุดข้องใจคือ หลังเกิดเหตุ ดวงเฉลิมยังได้หลบหนีไปด้วย!!
โดยช่วงนั้นข่าวได้ตีพิมพ์ครึกโครมรายวัน เกี่ยวกับการหลบหนี โดยแม้ว่าตำรวจจะระดมกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักย่านบางบอน และบ้านนักการเมืองท้องถิ่น ที่คาดว่า “ดวงเฉลิม” จะไปหลบกบดานอยู่หลายรอบ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ไร้ร่องรอยใดๆ ไม่เห็นแม้แต่เงา
ทำให้ช่วงแรกอัยการได้ยื่นฟ้อง กฤษพัฒน์ สุพจน์ ร.ต.ต.วันเฉลิม และ พ.ต.ต.ศราวุฒิ ไปก่อน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2544 โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
นอกจากนี้ สังคมไทยยังเทคะแนนความสงสารให้กับครอบครัวดาบยิ้ม ทั้ง สุพัตรา และ ด.ช.กิติศักดิ์ รอดวิมุต ภรรยาหม้าย และลูกชายดาบยิ้ม ซึ่งต้องขาดเสาหลักของครอบครัวเป็นอันมาก
ข้อมูลจากข่าวคมชัดลึกช่วงเดือนมีนาคม 2546 เล่าว่า ต่อมาหลังหลบหนีนาน 6 เดือน ดวงเฉลิมจึงกลับมามอบตัว โดยโผล่เข้ามอบตัวที่สถานทูตไทยในมาเลเซีย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2545 แต่ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อหา ศาลจึงสั่งให้พิจารณาคดีของดวงเฉลิม ร่วมกับคดีของนายกฤษพัฒน์กับพวก
แม้จำเลยในคดีนี้จะมีหลายคน แต่ไฮไลท์ความสนใจย่อมตกอยู่ที่นายดวงเฉลิม เนื่องเพราะความที่เป็นลูกรักของนักการเมืองชื่อดัง ซ้ำยังเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่ผู้ตายเป็นถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นอกจากนี้ ฝ่ายบิดา หรือ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ออกมาแจงว่าบุตรชายไม่ได้หนีไปไหน แต่ต้องหลบไปตั้งหลัก เพราะเกรงความปลอดภัย ทั้งยังยืนยันว่า คนที่ยิงดาบยิ้มตาย คือ “ไอ้ปื๊ด” คนสนิทผู้ติดตามลูกชาย
แต่เรื่องนี้ พนักงานสอบสวนกลับไม่ได้ให้ความสนใจนำมาเป็นสาระสำคัญของคดีมากนัก
ที่สุด คดีนี้อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบรวม 23 ปาก ได้แก่ กลุ่มพนักงานเสิร์ฟกับ รปภ.ของทเวนตี้คลับ ผู้เชี่ยวชาญด้านแสงไฟ ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน และพนักงานสอบสวน
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเล่าว่า พยานโจทก์บางส่วน (ขอไม่เอ่ยนาม) คือที่เป็นระดับตำรวจ รวมถึงบาร์เทนเดอร์ และบาร์เทนดี้อีก 1 คน อ้างว่า เห็นเหตุการณ์ขณะที่ดาบยิ้มถูกยิงเสียชีวิต
นายตำรวจรายหนึ่งเบิกความว่า ได้ยินเสียงปืนดังเปรี้ยง 1 นัด เมื่อมองไปยังจุดที่มีเสียงปืน เห็นดวงเฉลิมกำลังลดมือขวาที่ยื่นไปด้านหน้าระดับไหล่ลงมาข้างลำตัว เมื่อมองไปที่มือของดวงเฉลิมที่ชี้ เห็นผู้ตายยืนอยู่ลักษณะหัวก้มต่ำลง ส่วนด้านข้างและหลังของผู้ตายมีชาย 3-4 คนยืนอยู่
จากนั้นผู้ตายได้เซและล้มลง พอหันกลับไปมองก็พบนดวงเฉลิมยังยืนอยู่ จึงเชื่อมั่นว่า ดวงเฉลิมเป็นผู้ยิงผู้ตายเพราะมีดวงเฉลิมเพียงคนเดียวที่ยืนประจันหน้ากับผู้ตาย
ทั้งนี้ พยานรายนี้บอกว่า ตนยืนห่างผู้ตายและดวงเฉลิมประมาณ 2 เมตร และจุดที่ดวงเฉลิมยืนอยู่มีดวงไฟชนิดกลมอยู่บนเพดานตรงกัน ส่องลงมาที่พื้นจึงเห็นดวงเฉลิมชัดเจน
และยังกล่าวว่า เห็นมือดวงเฉลิมอยู่ในลักษณะกำมือตอนที่ลดมือลง แต่ไม่เห็นวัตถุสิ่งใดอยู่ในมือ และขณะที่เหลียวไปมองผู้ตายหลังจากเสียงปืนดัง ก็เห็นชายร่างใหญ่อยู่ทางขวามือของผู้ตาย และชายรูปร่างล่ำ เตี้ย อยู่ด้านซ้ายมือของผู้ตายโดยยืนชิดติดกับผู้ตาย
นอกจากนี้ นายตำรวจอีกคนเบิกความว่า ได้ยินเสียงปืนดังเปรี้ยง 1 นัด ทางด้านหลัง เมื่อหันกลับไปได้กลิ่นดินปืน และเห็นดวงเฉลิม กำลังลดมือขวาที่ยื่นไปด้านหน้าจากระดับอกลงมาข้างลำตัว โดยในขณะลดแขนนั้นมือของดวงเฉลิมชี้ไปทางที่ผู้ตายล้มลง ซึ่งขณะนั้นผู้ตายอยู่ห่างนายดวงเฉลิมประมาณ 1 ช่วงแขน
และยังตอบคำซักถามค้านทนายจำเลยว่า ช่วงที่ได้ยินเสียงปืนในกลุ่มผู้ตาย มีชายรูปร่างสูงใหญ่อยู่ทางด้านขวามือของผู้ตาย และชายร่างเตี้ยอยู่ด้านซ้ายมือของผู้ตาย โดยชายทั้งสองอยู่ชิดกับผู้ตายและมีชายอีกประมาณ 3 คนยืนอยู่ด้านหลังฝั่งซ้ายของผู้ตาย หลังเสียงปืนดังขึ้น ชายรูปร่างสูงใหญ่ซึ่งอยู่ด้านขวาของผู้ตายจะไปไหน ไม่ทราบ
ด้านบาร์เทนเดอร์ เบิกความว่า ได้ยินเสียง “แป๊ก” ดังมาจากกลุ่มที่ชกต่อยกัน จึงเข้าใจว่าเป็นเสียงปืน เมื่อหันกลับไปเห็นชายด้านขวาของชายเสื้อดำวิ่งไปด้านหลังของชายเสื้อดำ ในลักษณะรีบร้อน
ส่วนชายเสื้อดำได้ล้มลงลักษณะเอียงไปด้านซ้าย และเห็นดวงเฉลิมยืนประจันหน้าชายเสื้อดำ และเก็บอะไรสักอย่าง โดยใช้มือซ้ายเลิกชายเสื้อขึ้น และใช้มือขวาเก็บสิ่งของ แต่ไม่เห็นปืนในมือดวงเฉลิม
ขณะนั้นเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก กลุ่มชกต่อยและกลุ่มลูกค้าได้วิ่งหนีออกไปทางประตูทางเข้า และตอนที่เสียงปืนดังขึ้นภายในทเวนตี้คลับ มีการเปิดไฟกระพริบ
ส่วน บาร์เทนดี้ เบิกความว่า รู้จัก “พี่ชาย” (ดวงเฉลิม อยู่บำรุง) มาก่อน โดยวันเกิดเหตุเห็นคนกลุ่มใหญ่กำลังทะเลาะวิวาทกัน ในกลุ่มดังกล่าวเห็นพี่ชายกำลังชกต่อยชายหนึ่ง ซึ่งใส่เสื้อสีดำโดยมีคนอื่นเข้าชุลมุนด้วย แล้วเห็นพี่ชายชักปืนออกมาแล้วเล็งไปที่ชายเสื้อดำ จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด
บาร์เทนดี้ ได้ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ในชั้นสอบสวนได้ให้การว่า เห็นพี่ชายชักสิ่งของออกมา โดยสิ่งของดังกล่าวเข้าใจว่าเป็นอาวุธปืน เพราะได้ยินเสียง และมีคนตาย
ขณะที่ในส่วนของผู้ชันสูตรพลิกศพดาบยิ้ม เบิกความว่า จากสภาพศพลักษณะบาดแผลที่มีเขม่าและแผลเป็นรูปดาวสี่แฉก แสดงว่าเป็นการถูกยิงโดยปากกระบอกปืนกดชิดติดหน้าผากแน่นและแรง
โดยสรุปหากผู้ยิงกับผู้ถูกยิง ยืนประจันหน้ากันห่างกันในระยะ 1-2 เมตร ไม่ว่าจะยิงในลักษณะใด บาดแผลและทิศทางการยิงก็จะไม่เป็นไปตามสภาพศพที่ชันสูตรพลิกศพ
ด้านพยานจำเลยมีทั้งสิ้น 14 ปาก (รวมจำเลยทั้ง 5 ที่อ้างตนเองเป็นพยานจำเลยด้วย)
จนถึงเวลาที่ ดวงเฉลิมเบิกความ เขาได้เบิกความถึง เฉลิมชนม์ บุริสมัย หรือ “ปื๊ด” ว่านายปื๊ดมาทำงานที่บ้านก่อนเกิดเหตุประมาณ 1-2 ปี โดยหน้าที่ช่วยขับรถให้กับที่บ้าน
จากนั้นดวงเฉลิมได้เล่าเหตุการณ์วันเกิดเหตุว่า เมื่อไปถึงทเวนตี้คลับ ได้เดินผ่านเครื่องตรวจอาวุธ แต่ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาณเตือนดังขึ้น
ต่อมาขณะที่ยืนคุยกับพี่โต้ง โดยมีนายเฟียสและนายเติร์กยืนอยู่ด้านหลัง ได้ยินเสียงดังปังมาจากด้านขวามือ พี่โต้งจึงพูดขึ้นว่า ใครจุดประทัด
หลังเสียงดัง พี่โต้งบอกให้กลับบ้านก่อน เพราะหากนักข่าวมาจะเข้าใจผิด โดยยังปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และหลังเกิดเหตุพยายามหาตัวนายปื๊ด แต่ไม่พบ
นอกจากนี้ยังมีพยานอีกหลายปากที่ยืนความบริสุทธิ์ของดวงเฉลิม รวมถึง อาจหาญ อยู่บำรุง ลูกชายคนโตของ ร.ต.อ. เฉลิม ที่เบิกความว่า กลุ่มของตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ ด.ต.สุวิชัย เสียชีวิตแต่อย่างใด
และในส่วนของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่เบิกความว่า ที่ดวงเฉลิมต้องหลบหนีไป เพราะได้รับความกดดันจากการนำเสนอข่าวอย่างครึกโครมว่า เหตุการณ์ยิงดาบยิ้มมีลูกชายนักการเมืองฝั่งธนฯ เกี่ยวข้องด้วย
อีกทั้งหลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน มีนายตำรวจใหญที่ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ช่องยูบีซี 8 ระบุชื่อคนร้ายชัดเจนว่าเป็นดวงเฉลิม ทั้งที่เพิ่งจะเริ่มการสอบสวนได้ข้อมูลเพียงเล็กน้อย เป็นการสรุปทั้งที่นายตำรวจผู้นี้ก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ อีกทั้งยังมีกระแสข่าวว่าตำรวจจะวิสามัญฯ ลูกชายด้วย
ร.ต.อ.เฉลิม ยังเบิกความถึงการสอบสวนของตำรวจว่า มีข้อพิรุธที่เรียกพยานมาสอบปากคำหลายครั้งผิดปกติ โดยบางปากได้เรียกมาสอบถึง 7 ครั้ง ส่วนม้วนเทปวิดีโอที่นายตำรวจใหญ่เคยให้สัมภาษณ์ว่ายึดได้จากที่เกิดเหตุ ตนทราบข้อมูลว่ามีอยู่จริง และส่งให้ตำรวจไปแล้ว
ดังนั้นในชั้นศาล ตนเคยขอให้ศาลสั่งเรียกม้วนเทปวิดีโอมาตรวจดูเหตุการณ์วันนั้น แต่ตำรวจกลับปฏิเสธว่าไม่มีม้วนเทปวิดีโอดังกล่าว จึงเชื่อว่าม้วนวิดีโอดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ภาพในวิดีโอคนร้ายไม่ใช่นายดวงเฉลิม ตำรวจจึงทำลายม้วนวิดีโอ ทำให้ไม่ปรากฏเป็นหลักฐาน
ร.ต.อ.เฉลิม เบิกความด้วยว่า เฉลิมชนม์ได้มาพบตนหลังเกิดเหตุประมาณ 10 ชั่วโมง โดยบอกว่า ได้ชกต่อยกับชายคนหนึ่ง โดยชายคนนั้นทำท่าควักมือที่ท้องน้อยด้านขวา ซึ่งเข้าใจว่าชายคนนั้นจะหยิบปืนมายิง เฉลิมชนม์ จึงยิงชายคนดังกล่าว เมื่อเล่าเหตุการณ์เสร็จ เฉลิมชนม์ได้คุกเข่าและกราบเท้าของตนแล้วออกจากบ้านไป
โดยสรุป ประเด็นหลักๆ ที่ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันในชั้นศาลคือ ความสว่างและลักษณะของแสงไฟในที่เกิดเหตุ จุดตำแหน่งของผู้ที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์กับจุดเกิดเหตุ การจัดวางโต๊ะและเก้าอี้ในที่เกิดเหตุ การตรวจพิสูจน์หลักฐาน อาวุธปืน ผลการชันสูตรพลิกศพ ลักษณะบาดแผลของผู้ตาย ระยะทาง และวิถีกระสุนปืน ผู้ยิงกับผู้ถูกยิงจะต้องอยู่ห่างกันในระยะเท่าใด ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช รวมทั้งขั้นตอนการสอบสวนของตำรวจ
และในที่สุด “ศาลอาญา” พิจารณาพยานหลักฐานนำสืบทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำพิพากษายกฟ้อง กฤษพัฒน์ จาตุรานนท์ สุพจน์ แสงอนันต์ และดวงเฉลิม อยู่บำรุง เนื่องจากพยานโจทก์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญอย่างสิ้นเชิงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าจำเลยทั้ง 3 คน ร่วมกันฆ่า ด.ต.สุวิชัย หรือดาบยิ้ม
อีกทั้งผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ก็ไม่สามารถทำให้ศาลเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยได้ว่าจำเลยที่ 5 คือ ดวงเฉลิม อยู่บำรุง เป็นคนยิงผู้ตายจนเสียชีวิต จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
แน่นอนผลคำพิพากษา “ยกฟ้องดวงเฉลิม” ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ค้านกับความเชื่อของสังคม แต่ในเมื่อหลักฐานพยานมาแบบนี้ เราคนไทยก็ต้องยอมรับ เช่นเดียวกับภรรยาหม้ายของดาบยิ้มที่ยอมถอยไม่ยื่นอุทธรณ์ ก็ทำให้คดีถูกปิดลงแค่ในศาลชั้นต้นเท่านั้น!!
แต่แม้ว่าคดี “ฆ่าดาบยิ้ม” จะจบไปแล้ว ปัญหาหนึ่งที่ยังไมจบก็คือ ไอ้ปื๊ดอยู่ไหน?
ถ้าใครค้นหา "ไอ้ปื๊ด" ตามกูเกิ้ล ก็จะพบว่าในวิกิพีเดียบรรยายถึงเขาไว้ว่า
“ปื๊ด” คือ กิตติพงศ์ วงศ์ทอง พรีเซ็นเตอร์โฆษณาช่วงเปิดตัวหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เมื่อ พ.ศ. 2544 รู้จักกันในชื่อ “ปื๊ด”
หรือ ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ชื่อเล่น “ปื๊ด”
หรือ “ปื๊ด” ผลงานเพลงของอาร์ม ศิริโรจน์ ศิริเจริญ ศิลปินค่ายอาร์เอส ต่อมา เอกชัย ศรีวิชัย นำมาขับร้องใหม่
และ “รูดปื๊ด รูดปื๊ด” ศัพท์สแลงที่มีที่มาจากภาพยนตร์โฆษณาบัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์
ส่วน ปี๊ดที่วิกิพีเดียบรรยายไว้ว่า เป็นบุคคลปริศนาที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง กล่าวว่าเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนกับบุตรชาย และระบุว่าเป็นผู้ลั่นไกปืนสังหารดาบตำรวจสุวิชัย รอดวิมุต เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2544 และมีระบุในสำนวนคดีที่ส่งฟ้องศาลว่า ชื่อ นายเฉลิมชนม์ บุริสมัย และมักเรียกกันว่า “ไอ้ปี๊ด”
ก็คงเป็นปื๊ดที่ยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้!
**********************