19 เม.ย. 2499 หนึ่งตำนานรักต่างชนชั้น หนึ่งความฝันกลับกลาย
ชีวิตที่น่าจะสุขสันต์ทุกค่ำเช้าของการใช้ชีวิตเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ แต่กลับกลายเป็นว่า เธอได้ค้นพบบางอย่างที่เธอรักมากที่สุด แต่ก็ทำไม่ได้!
ถ้าใครติดตามเรื่องราวชีวิตของเจ้าหญิงเกรซ แห่งโมนาโก จะรู้ดีว่า ชีวิตดั่งฝันแต่ลงท้ายกลายกลับ คืออะไร
มุมหนึ่งที่สาวๆ ทั่วโลกอิจฉาเธอ คือ การที่เธอมีชีวิตดั่งความฝันที่สาวๆ แทบทุกคนล้วนใฝ่ฝันว่าจะเจอเจ้าชายรูปงามมาหลงรักทั้งสิ้น
ใช่แล้ว เกรซ เคลลี่ ได้มีสิ่งนั้น เพราะเธอได้พบรักกับเจ้าชายรูปงาม แม้จะต่างชนชั้นแต่หัวใจของทั้งสองก็ผูกพันกันลึกซึ้ง จนถึงขั้นครองรักครองเรือน
และวันนี้ของเมื่อ 62 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 19 เม.ย. 2499 คืออีกหนึ่งวันที่ผู้คนทั่วโลกได้เห็นพระราชพิธีสมรสอันงดงามหรูหราอลังการ ไม่แพ้พระราชพิธีสมรสของราชวงศ์ใดๆ ในโลกนี้
ราวกับจะประกาศถึงความล้นปรี่ของความรักที่ เจ้าชายเรนิเยที่ 3 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก มอบให้แด่เธอ ดาวประดับฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด
หลายคนอาจอยากรู้ว่า ทั้งคู่พบกันได้อย่างไร กระทั่งได้รู้ว่า เกรซ เคลลี่ มีเวลาศึกษาดูใจเจ้าชายเรนิเยเพียงปีเดียวเท่านั้น แน่นอนนี่ มิอาจพิสูจน์ว่าทั้งคู่จะมิได้รักกันจริง
หากแต่พิสูจน์เรื่องอื่น ซึ่งหมายถึง ชีวิตที่น่าจะสุขสันต์ทุกค่ำเช้าของการใช้ชีวิตเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ แต่กลับกลายเป็นว่า เธอได้ค้นพบบางอย่างที่เธอรักมากที่สุด แต่ก็ทำไม่ได้!
ก่อนจะไปตรงนั้น มาดูเส้นทางความรักของทั้งคู่กันก่อน
ในช่วงเวลาลมร้อนแห่งคิมหันต์ฤดู เดือนเมษายน พ.ศ. 2498 เกรซ เคลลี ขณะเป็นดาราผู้โด่งดังแห่งฮอลลีวู้ด ได้รับการขอร้องให้เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ใน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
ขณะที่อยู่ที่นั่น เธอได้รับเชิญไปร่วมงานถ่ายภาพ ในวังโมนาโกกับเจ้าชายเรนีเยร์ เจ้าผู้ครองประเทศโมนาโก ซึ่งหลังจากผัดผ่อนหลายครั้งจากความไม่สะดวกหลายอย่าง ในที่สุดราวกับมีลิขิต เกรซตัดสินไปเดินทางไปถึงโมนาโก ที่ซึ่งทำให้เกรซได้พบกับเจ้าชาย
ซึ่งแน่นอนด้วยใบหน้างดงามราวสลัก และบุคลิกท่วงท่าเยือกเย็น สง่างาม ใครได้เห็นก็ต้องหลงรักเธอ รวมถึงเจ้าชายด้วย
เพราะหลังเกรซจากกลับสหรัฐฯ และกำลังแสดงภาพยนตร์เรื่องใหม่เรื่อง The Swan ในช่วงปี 2499 นั้นเอง โดยสวมบทบาทเป็นเจ้าหญิง ไม่นานจากนั้นเจ้าชายเรนีเยก็เริ่มผูกสัมพันธ์ โดยติดต่อกับเธอเป็นการส่วนตัว
กระทั่งเดือนธันวาคมปีนั้น เจ้าชายก็ได้เสด็จมาอเมริกาอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการโจษจันว่าเสด็จเพื่อแสวงหาพระชายา เนื่องจากสนธิสัญญากับฝรั่งเศสซึ่งทำไว้เมื่อ พ.ศ. 2461 บ่งไว้ว่า เมื่อใดที่เจ้าชายแห่งโมนาโกไม่มีรัชทายาท โมนาโกจะต้องรวมกับฝรั่งเศส
เจ้าชายได้ถูกถามในการให้สัมภาษณ์ว่าพระองค์กำลังแสวงหาพระชายาใช่หรือไม่ ซึ่งพระองค์ทรงตอบปฏิเสธ และในคำถามถัดมาถามว่าสมมุติว่าใช่ พระองค์จะโปรดพระชายาแบบไหน? พระองค์ทรงพระสรวลแล้วตอบว่า “ไม่ทราบ... แต่คงจะดีที่สุดกระมัง” เจ้าชายได้ทรงพบเกรซ เคลลีกับครอบครัวของเธอ และในอีกเพียง 3 วันต่อมาเจ้าชายเรนีเยก็ขอแต่งงานกับเกรซ ซึ่งเธอตอบรับ จากนั้นพระองค์และครอบครัวของเกรซก็ได้เตรียมการแต่งงานที่โด่งดังที่สุดแห่งศตวรรษ
สื่อต่างๆ พากันตีข่าวถึงการเตรียมพระราชพิธีมงคลสมรส ที่เต็มไปด้วยความพิถีพิถัน มีการทาสีพระราชวัง ตบแต่งใหม่ทั้งหมด รวมทั้งพิธีการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่โมนาโก ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2499
โดยว่าที่เจ้าสาว วัย 27 ได้ลงเรือที่ท่าในนครนิวยอร์กพร้อมกับเพื่อนเจ้าสาวและครอบครัวของเธอ สุนัขพูเดิลและสัมภาระ 400 ชิ้นออกจากท่าสู่ริเวียรา มีนักข่าวมากกว่า 400 คนขอร่วมเดินทางไปด้วย แต่ก็ถูกปฏิเสธเกือบทั้งหมด
การเดินทางเพื่อสู่อ้อมกอดแห่งโมนาโกใช้เวลาเดินทาง 8 วัน มีผู้คอยต้อนรับเรือนหมื่นเรียงรายโห่ร้องต้อนรับเจ้าหญิงในอนาคตตามท้องถนน
พระราชพิธีสมรสได้รับการถ่ายทอดไปทั่วยุโรป และยังมีเกร็ดเล่ากันว่า เกรซต้องจดจำชื่อตำแหน่งทางการให้ได้มากถึง 142 ชื่อ เพราะในงานพระราชพิธีมีแขกผู้มีเกียรติและชนชั้นสูงได้รับเชิญจากประเทศต่างๆ มาจากทั่วโลก ว่ากันว่ามากถึง 600 คน!!
ภาพจาก : Getty / Bettmann
กระทั่งเมื่องานเลี้ยงจบลง เจ้าชายเรนีเยและเจ้าหญิงเกรซพระชายา ก็ได้ลงเรือยอชต์ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ท่องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกเป็นเวลาถึง 7 วันในคืนวันนั้นเอง
กระทั่งมีพระราชธิดาด้วยกัน ในช่วงเวลาเพียง 9 เดือนหลังพิธีมงคลสมรส เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกหลังจากนั้น อีก 9 เดือนกับ 4 วัน ก็ตามมาด้วยพระราชโอรส
รวมแล้ว เจ้าชายเรนีเยและเจ้าหญิงเกรซมีพระโอรสและพระธิดา 3 พระองค์ดังนี้
เจ้าฟ้าหญิงกาโรลีนแห่งฮาโนเวอร์ ประสูติวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2500 เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ประสูติ 14 มีนาคม พ.ศ. 2501 เจ้าหญิงสเตฟานี มารี เอลิซาเบทแห่งโมนาโก ประสูติ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508
อย่างไรก็ดี ขณะที่เราเห็นถึงความสุขสมหวังท่ามกลางความรักและทรัพย์สฤงคาร แต่เกรซ เคลลี่ ก็ได้กลายเป็นเจ้าเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโกโดยไม่ได้หวนกลับสู่วงการจอเงินอีก ซึ่งุทกคนรู้ดีว่าเธอรักในอาชีพนักแสดงยิ่งชีวิต!
แม้ในปี พ.ศ. 2505 อัลเฟรด ฮิตช์ค็อกผู้กำกับชื่อดัง ได้ทูลชวนพระองค์ให้มาแสดงภาพยนตร์อีก ซึ่งทุกคนรู้ดีว่า พระองค์อยากจะลอง แต่ไม่มีผู้ใดเห็นด้วย รวมทั้งเจ้าชายเรนีเย เจ้าหญิงจึงจำต้องตอบปฏิเสธ!!
และทำหน้าที่ของเจ้าหญิงแห่งโมนาโกต่อไป เช่น พระองค์ได้มีบทบาทในการยกระดับสถาบันศิลปะของโมนาโก มีการจัดตั้งมูลนิธิเจ้าหญิงเกรซขึ้นเพื่ออุปถัมภ์ศิลปินของประเทศ และยังเป็นบุคคลชั้นสูงคนแรกที่สนับสนุนการเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา
ทรงจัดงานคริสต์มาสประจำปีสำหรับเด็กกำพร้าและทรงจัดตั้งสโมสรสวนดอกไม้ขึ้นเนื่องจากที่พระองค์โปรดปรานดอกไม้มาก
มีเพียงครั้งเดียวที่ เจ้าหญิงเกรซ ได้ทำในสิ่งรัก อย่างการเป็นศิลปิน แต่ทำได้เพียงในรูปแบบพิเศษโดยการอ่านบทกลอนในภาพยนตร์ชุดสารคดีเมื่อ พ.ศ. 2520
ขณะที่ชีวิตหลังจากนั้น ก็ดูมีความสุขดีตามที่ควรจะเป็น แต่แล้ว ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2525 ด้วยพระชนมายุ 52 พรรษา เจ้าหญิงเกรซและเจ้าหญิงสเตฟานีพระราชธิดาได้ขับรถมุ่งสู่โมนาโกจากที่ประทับในชนบท พระองค์ประชวรกะทันหันด้วยโรคเส้นโลหิตแตกในสมอง ทำให้รถโรเวอร์ที่ทรงขับอยู่พลิกคว่ำตกจากไหล่เนินที่สูงหลายตลบ
ข่าวร้ายตามมาอีกในวันรุ่งขึ้น เมื่อที่สุดแล้ว พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ในวันรุ่งขึ้น มีการโจษจันกันว่าจุดเกิดเหตุเป็นถนนช่วงโค้งที่เดียวกันกับที่ใช้เป็นฉากในภาพยนตร์ แต่ทางการโมนาโกปฏิเสธ ส่วนเจ้าหญิงสเตฟานีได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
หลังการสวรรคต กระแสข่าวระบุว่า ชีวิตในราชวงศ์เริ่มเปลี่ยนไป สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงคือพระพลานามัยของเจ้าชายเรนิเย นับตั้งแต่การจากไปของเจ้าหญิงเกรซ เคลลี่ และยังมีเรื่องของความประพฤติของพระราชธิดาและพระราชโอรส
ที่สุด เจ้าชายเรนิเย ทรงรับเข้าการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 หลังจากทรงพระประชวรจากพระอาการของพระปัปผาสะติดเชื้อ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม กระทั่งอาการทรุดลง
และแล้ว เมื่อวันที่ 1 เมษายน สำนักพระราชวังโมนาโกได้แถลงว่า เจ้าชายอัลแบร์ผู้จะทรงขึ้นสำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้สวรรคตแล้วเมื่อเวลา 04.35 น. ด้วยพระชนพรรษา 81 พรรษา
ซึ่งในที่สุด ทั้งเจ้าหญิงเกรซ และเจ้าชายจึงได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เพราะทั้งสองพระองค์ได้รับการฝังไว้ในโบสถ์เซนต์นิโคลาส ประเทศโมนาโก คู่กัน โดยในปีนั้นเอง (2548) พระศพของเจ้าชายเรนีเย ได้ถูกนำมาฝังไว้เคียงของเจ้าหญิงเกรซ ที่เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2525
อย่างไรก็ดี ในด้านหนึ่ง แม้เรื่องราวนี้ จะทิ้งคำถามสำหรับคนอีกหลายคนว่า ทำไมสตรีที่ชีวิตงดงามราวเทพนิยายถึงต้องพบจุดจบเช่นนี้
หากแต่มองอีกด้านหนึ่ง ชีวิตของเกรซ เคลลี่ หรือเจ้าหญิงเกรซ แห่งโมนาโก ก็ล้วนแล้วแต่รายล้อมไปด้วยความสุข ความรัก และความสำเร็จ!!
เธอเกิดที่ย่านอีสฟอลล์ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คนของนายแจ็คและนางมากาเร็ต เคลลี เป็นครอบครัวชาวอเมริกันคาทอลิก ที่อพยพมาจากสาธารณรัฐไอร์แลนด์
แจ็คผู้เป็นบิดาเคยเป็นวีรบุรุษของชาวอเมริกันมาแล้วจากการได้เหรียญทองโอลิมปิกมากถึง 3 เหรียญในแข่งขันเรือกรรเชียงคู่ กระทั่งมาทำธุรกิจการค้าอิฐที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ จนประสบความสำเร็จในระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง
และรวมไปถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวที่ล้วนแล้วแต่บุคคลคุณภาพ แถวหน้าของประเทศ
โดยนอกจากบิดาจะเคยลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ในนามของพรรคเดโมแครต ซึ่งแม้จะแพ้เลือกตั้ง แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งจาก ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ให้เป็นประธานกรรมการพลศึกษาแห่งชาติ
ส่วน มากาเร็ต มารดาของเกรซมีเชื้อสายเยอรมันที่เข้ารีตเป็นคาทอลิก เธอเองก็เก่งด้านกีฬา จบสาขาพลศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทมเพิลซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้าภาควิชาพลศึกษาคนแรกของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
ขณะที่ จอห์น บี เคลลี จูเนียร์พี่ชายของเกรซ ก็เป็นนักกีฬาที่ชนะเลิศรางวัล “เจมส์ อี ซุลลิแวน” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับกีฬาสมัครเล่นของสหรัฐฯ และยังได้รางวัลเหรียญทองแดงโอลิมปิกฤดูร้อนจากการแข่งขันเรือกรรเชียง และได้มอบเหรียญนี้เป็นของขวัญแต่งงานของน้องสาว
ส่วนเกรซเอง ด้วยความงามขนาดนี้ แน่นอนเธอจึงได้เป็นนางแบบเดินแฟชั่นต่างๆ และได้มีการแสดงครั้งแรกเพียงอายุ 12 ปี เป็นละครเรื่องหนึ่ง
กระทั่งอยู่ ม.ปลาย เกรซได้แสดงทั้งละครและระบำ น่าแปลกใจที่ในหนังสือรุ่น เพื่อนๆ เธอเขียนทำนายไว้ว่าเธอจะได้เป็น “ดาราที่มีชื่อเสียงทั้งในจอเงินและทางวิทยุ”
และก็เป็นเช่นนั้น เมื่อจบชั้นมัธยมปลาย เกรซตัดสินใจมุ่งสู่อาชีพการแสดง และได้เข้าศึกษาใน สถาบันศิลปะการแสดงอเมริกันในนิวยอร์ก ต่อมาเธอได้เริ่มงานแสดงละครบรอดเวย์เป็นครั้งปฐมฤกษ์
จนเมื่ออายุ 19 ปี เกรซจบการศึกษา ด้วยการแสดงละครเรื่อง “เดอะฟิลาเดลเฟียสตอรี” ซึ่งก็น่าแปลกอีกเพราะเป็นเรื่องเดียวกับภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชีวิตการแสดงภาพยนตร์ของเธอ
สำหรับผลงานของเธอโดยย่อมีดังนี้ ปี 2494 แสดงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง “14 ชั่วโมง”
ต่อมาประสบความสำเร็จในเรื่อง “ไฮนูน” โดยได้รับรางวัลออสการ์ ถึง 2 รางวัล
ปี 2496 เป็นตัวประกอบ ในภาพยนตร์ “โมแกมโบ” ที่ถ่ายทำในป่าประเทศเคนยา เรื่องนี้เกรซได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกครั้ง เท่ากับว่าส่งให้เกรซขึ้นชั้นในระดับดาราแถวหน้า!
ที่สุดบทดารานำก็ตกเป็นของเธอ เมื่อผู้กำกับชื่อดังคือ อัลเฟรด ฮิชค็อก ได้ให้เกรซสวมบทบาทนางเอกในภาพยนตร์ประเภทลึกลับตื่นเต้นหลายเรื่อง
เช่น “เรียร์ วินโดว์” ปังทะลุ จนเกรซเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก กระทั่งปี พ.ศ. 2498 เกรซ ก็ได้รับรางวัลอะแคเดมีในฐานะนักแสดงยอดเยี่ยมในเรื่อง “เด็กบ้านนอก” (The Country Girl)
ส่วนเรื่องสุดท้ายที่เกรซนำแสดง ได้แก่ เรื่อง “สังคมชั้นสูง” (High Society –พ.ศ. 2499) ภาพยนตร์เพลงที่ดัดแปลงจากเรื่อง “เดอะฟิลาเดลเฟียสตอรี” ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องที่เกรซใช้แสดงเพื่อจบการศึกษาดังกล่าวในตอนต้นนั่นเอง
แม้ชีวิตการเป็นนักแสดงภาพยนตร์ของเกรซ เคลลีจะมีช่วงเวลาเพียง 5 ปี และแสดงไปเพียง 11 เรื่อง ความสวยและเสน่ห์ของเกรซได้ประทับลงไปในความทรงจำของคนอมเริกันและนักชมภาพยนตร์ในยุคนั้นอย่างไม่มีวันลืมเลือน
รวมถึงเจ้าชายรูปงาม นามว่าเรนิเยร์ด้วย!!
/////////////
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
https://en.wikipedia.org/wiki/Grace_Kelly
และภาพจาก Getty / Bettmann