25 ม.ค.2559 “จะไม่ขอสร้างวัตถุอีก” รำลึก “หลวงพ่อจรัญ”
ว่ากันว่า ครั้งนั้นสาหัสถึงขั้น คอหักพับได้ หนังศีรษะเปิด แต่ท่านยังสติดีอยู่ ท่านอธิษฐานว่า “จะใช้หนี้โลกมนุษย์ ด้วยการเผยแพร่พระธรรม จะไม่สร้างวัตถุอีก"
ถ้าจะกล่าวถึงพระนักพัฒนา พระนักเทศน์ และพระวิปัสสนาจารย์ ผู้มีแนวทางการสืบทอดพระพุทธศาสนาเน้นหนักที่การสั่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม
ถือว่า “พระธรรมสิงหบุราจารย์” พระภิกษุชาวไทย ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3หรือที่คนไทยรู้จักในนาม หลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวัน ดูจะเป็นหนึ่งในนั้นอย่างไม่มีใครโต้แย้ง
เพราะท่านมีชื่อเสียงในระดับประเทศที่ในการสั่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม ท่านมักจะยกเหตุการณ์ที่ท่านประสบ และนับเป็นกฎแห่งกรรมขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่พุทธศาสนิกชนอยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาจิตใจคน ด้วยการฝึกวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน 4 แบบพองหนอ-ยุบหนอ และที่สำคัญ ท่านยังเป็นผู้ที่ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนหมั่นสวดมนต์ด้วยพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา) เพื่อเป็นเครื่องเจริญสติอย่างแพร่หลายอีกด้วย
อย่างไรก็ดี วันนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ท่านได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ ซึ่งต่อจากนี้จักได้รำลึกเรื่องราวของท่านในอีกวาระ
สำหรับชาติภูมินั้น พระธรรมสิงหบุราจารย์ มีนามเดิมว่า “จรัญ จรรยารักษ์” เกิดเมื่อวันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 เวลา 07.10 น. ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ที่บ้านบางม่วงหมู่ ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี
ท่านเป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนทั้งหมด 11 คนของ นายแพ จรรยารักษ์ และนางเจิม (สุขประเสริฐ) จรรยารักษ์
พระธรรมสิงหบุราจารย์(จรัญ ฐิตธมฺโม) อุปสมบทเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดพรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยมีพระพรหมนคราจารย์ (ดี ธมฺปญฺโญ) วัดแจ้งพรหมนคร เมือง สิงห์บุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รับฉายาว่า"ฐิตธมฺโม" (ผู้มีธรรมตั้งมั่นแล้ว)
หลวงพ่อจรัญได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรและที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความรู้และประสบการณ์ทั้งทางสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชากับพระอาจารย์หลายท่าน อาทิ ศึกษาคชศาสตร์กับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) ต.หนองโพ อ.พยุหคีรี(ในขณะนั้น) ปัจจุบันอยู่ในอำเภอตาคลี จ.นครสวรรค์
ต่อมาเรียนกับพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร) และพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) จ.ขอนแก่น และได้ศึกษาการทำเครื่องรางของขลัง น้ำมันมนต์ กับหลวงพ่อจง พุทฺธสโร วัดหน้าต่าง จ.พระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง จ.อ่างทอง และหลวงพ่อจาด วัดบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
จากนั้นได้ศึกษาสมถกรรมฐาน กับ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับพระราชสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ และได้ศึกษาพระอภิธรรมกับอาจารย์เตชิน (ชาวพม่า) ที่วัดระฆังโฆษิตาราม จ.ธนบุรี
ขณะที่ยังศึกษาการพยากรณ์จาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ กรุงเทพฯ และศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับ อาจารย์ พ.อ. ชม สุคันธรัต
ต่อมา ‘หลวงพ่อจรัญ’ ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2500 ท่านได้พัฒนาวัดอัมพวันให้เจริญรุ่งเรือง โดยการสร้างศาลาปฏิบัติธรรม และมีห้องน้ำที่สะอาดมากกว่า 500 ห้อง ในแต่ละปีจะมีผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และคฤหัสถ์ คือ ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นจำนวนมากนับแสนคน
ท่านมีความเมตตาต่อผู้คนโดยไม่เลือก ชั้น วรรณะ เชื้อชาติ หรือ ศาสนา ศิษยานุศิษย์ของท่านจึงมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ท่านตั้งปณิธานมุ่งมั่นในการสร้างคน แทนการสร้างวัตถุ จึงทุ่มเทชีวิตทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาให้กับ การเผยแพร่วิปัสสนากรรมฐานมากว่า 40 ปี
โดยทำงานอย่างหนัก ทั้งกลางวัน กลางคืน ว่ากันว่า นอกจากสอนฆราวาสแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อยังต้องสอนพระอีก โดยหลวงพ่อจะลงโบสถ์ทุกตีสาม สอนพระสงฆ์ตลอดพรรษา 3 เดือน จนหมดฤดูกฐิน ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว
ไม่ว่าจะตรากตรำงานหนักแค่ไหน หรือแม่แต่อาพาธ ถ้าลุกเดินได้ จะไม่ละเลยเด็ดขาด ท่านปฏิบัติสม่ำเสมอเช่นนี้มานานหลายสิบปี ทั้งนี้เพื่อพัฒนาจิตของบุคคนทุกระดับชนชั้น ให้สูงขึ้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ท่านได้อธิษฐานจิต (หลังจากอุบัติเหตุ 14 ต.ค. 2521) ไว้ว่า “จะใช้หนี้โลกมนุษย์ ด้วยการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะไม่ขอสร้างวัตถุอีกต่อไปแล”
สำหรับเรื่องเล่าเกี่ยวกับ อุบัติเหตุนั้นมีว่า ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อจรัญ ขณะมาเป็นเจ้าอาวาสที่ วัดอัมพวัน แล้ว ได้เตรียมละสังขาร หลังนิมิตว่าต้องเกิดอุบัติเหตุ คอหัก ศีรษะแตก เพื่อชดใช้หนี้นกที่ท่านเคยหักคอสมัยเด็ก
สืบเนื่องจากวันที่ 14 ตุลาคม 2521 ได้เกิดอุบัติเหตุกับหลวงพ่อจรัญ หลังจากที่ท่านได้รู้ล่วงหน้า ว่าจะต้องเกิดเหตุกับท่าน ซึ่งหลวงพ่อจรัญได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ก่อนหน้านั้น 6 เดือนเศษ ท่านได้นั่งสมาธิและเห็นนิมิตบอกว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2521 เวลาเที่ยงสี่สิบห้า ท่านต้องจากวัดตายไปใช้หนี้นกที่ท่านเคยหักคอสมัยเด็ก
ซึ่งวันนั้น หลวงพ่อจรัญท่านก็คิดว่าน่าจะเป็นจริง จึงได้ทำการลาญาติโยม มอบสิ่งของเงินทองให้มัคนายก แต่งตั้งเจ้าอาวาสรองรับเอาไว้ เพื่อเตรียมที่จะละสังขาร
แต่แล้ว ครั้นถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2521 หลวงพ่อจรัญได้รับหนังสือจากหลวงพ่อธรรมญาณ เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ให้เขาจะประชุมเจ้าคณะอำเภอกันทั้งหมดที่จ.ลพบุรี ขณะนั่งรถถึงบริเวณตลาดปากบาง ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นจริงๆ ซึ่งหลวงพ่อก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส คอหัก ศีรษะแตก
ว่ากันว่า ครั้งนั้นสาหัสถึงขั้น คอหักพับได้ หนังศีรษะเปิด แต่ท่านยังสติดีอยู่ พระเดชพระคุณหลวงพ่ออธิษฐานว่า (http://oknation.nationtv.tv/blog/6tab8/2009/07/27/entry-1)
“หากข้าพเจ้ายังใช้หนี้มนุษย์ไม่หมด ขอให้ข้าพเจ้าฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา เพื่อชดใช้หนี้กรรมให้หมดไปในชาตินี้ แล้วข้าพเจ้าจะไม่ขอมาเกิดอีก”
ขณะที่อีกกระแสระบุว่า ท่านอธิษฐานว่า “จะใช้หนี้โลกมนุษย์ ด้วยการเผยแพร่พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่ขอสร้างวัตถุอีก”!!
และด้วยปาฏิหาริย์แห่งบุญมิอาจทราบได้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฟื้นขึ้นมาเป็นที่อัศจรรย์ หนึ่งเดียวในโลก ที่คอหักแล้วไม่พิการ ไม่ตาย จากคำอธิษฐานนั้น
ภาพจากเฟซบุคข่าวข้นรับอรุณ
นับจากนั้นมาในทุกวันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี ที่วัดอัมพวัน จึงจัดงานทำบุญขึ้นทุกปี เพื่อให้เป็นธรรมสังเวชกับลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ซึ่งก็จะมีลูกศิษย์มาร่วมงานกันทุกปีเป็นจำนวนมาก
สำหรับตำแหน่งทางคณะสงฆ์ มีดังนี้
– พ.ศ. 2500 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น รักษาการเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
– พ.ศ. 2517 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น รักษาการเจ้าคณะ อ.พรหมบุรี
– พ.ศ. 2518 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าคณะ อ.พรหมบุรี
– พ.ศ. 2519 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น พระอุปัชฌาย์
– พ.ศ. 2541 ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเป็น รองเจ้าคณะ จ.สิงห์บุรี
– พ.ศ. 2542 ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าคณะ จ.สิงห์บุรี
– พ.ศ. 2552 ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะ จ.สิงห์บุรี
– พ.ศ. 2557 ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3
อย่างไรก็ดี ในที่สุด ทุกคนก็หนีจากความจริงไปไม่พ้น เกิด แก่ เจ้บ ตาย เป็นธรรมดา
หลวงพ่อจรัญเกิดอาการอาพาธและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 ด้วยอาการหอบเหนื่อยจากโรคปอดอักเสบ โดยคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและออกซิเจน
ระหว่างนั้น พุทธศาสนาต่างติดตามการแถลงการณ์อาการอาพาธอย่างเกาะติดแทบทุกฉบับ จนกระทั่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้ออกแถลงการณ์ด่วน เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 ม.ค. 2559 ระบุว่า
ตามที่พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมฺโม) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี เข้ารับการรักษาอาการอาพาธในโรงพยาบาลศิริราช
ต่อมาโรครุนแรงขึ้น แพทย์ได้ถวายการช่วยหายใจและถวายการรักษาประคับประคองระบบการหายใจและหลอดเลือดด้วยเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ถวายการรักษาทดแทนไต ระยะหลังอาการทรุดลง เริ่มมีเลือดออกผิดปกติจนต้องมีการถวายเลือดและเกล็ดเลือด
จนในสุดการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ไม่สามารถถวายการรักษาประคับประคองได้ต่อไป พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมฺโม) ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ ในวันที่ 25 มกราคม 2559 เวลา 8.37 น.
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดข้างต้น เป็นเพียงส่วนน้อยนิดที่กล่าวถึงปฏิปทา หรือ คุณวิเศษของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ หากเราชาวพุทธสนใจ ยังมีข้อธรรมอีกมากมายที่จะอธิบายสนับสนุนศีลาจารวัตรอันงดงามของท่าน
ที่สำคัญคือ การปฏิวัติตนตามหลักธรรมเบื้องต้น น่าจะเป็นการสนองพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้อย่างสุดซึ่งแล้ว
/////////////
ขอขอบคุณที่มาจาก
วิกิพีเดีย
เฟซบุคข่าวข้นรับอรุณ
และ http://oknation.nationtv.tv/blog/6tab8/2009/07/27/entry-1