
25 พ.ย. 2513 “มิชิมะ ยูกิโอะ” “ฮาราคีรี”คว้านท้องฆ่าตัวตาย
จากเด็กนักเรียนขี้โรค คงแก่เรียน เปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นชายชาตรี เป็นเลิศในด้านเคนโด้ เป็นนักแสดง นักเขียนชาตินิยม ฐานะร่ำรวย แต่มีจุดจบที่หวือหวายิ่งละคร
“ฮิระโอะกะ คิมิตะเกะ”เจ้าของนามปากกา“มิชิมะ ยูกิโอะ”นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น เกิดเมื่อ14 มกราคม ค.ศ. 1925 ในครอบครัวชนชั้นสูงที่มีบรรพบุรุษเป็น“ซามุไร”ในโตเกียว ตอนยังเป็นเด็ก “ยูกิโอะ” อาศัยอยู่กับคุณย่า จนถึงปี ค.ศ. 1937 เขาก็ย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัว
“ยูกิโอะ”เป็นเด็กเรียนดี และสนใจในวรรณกรรมตะวันตก งานเขียนของเขาได้รับการตีพิมพ์ ตั้งแต่สมัยเขาอยู่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เขาก็เปลี่ยนมาใช้นามปากกา “มิชิมะ ยูกิโอะ” เพื่อปกปิดอายุตัวเอง
หลังเรียนจบ ยูกิโอะทำงานในกระทรวงการคลัง แต่ต่อมาก็ลาออกมาเขียนนิยาย เขามีแนวคิดที่จะฟื้นฟู “บุชิโด”นั่นคึอสิ่งที่เขาแสวงหาจริงๆ เป็นการกลับไปสู่วัฒนธรรมดั้งเดิมแบบซามูไร ซึ่งเขามองว่าเป็นระบบที่มีศีลธรรมและงดงามต่อจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่นมากกว่าระบบกองทัพสมัยใหม่
เขาไม่เห็นด้วยกับสัญลักษณ์ความเป็นตะวันตกส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น และรู้สึกว่าอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามาครอบงำญี่ปุ่น แล้วขโมยจิตวิญญาณดั้งเดิมของประเทศไป
“มิชิมะ ยูกิโอะ”อยากให้ญี่ปุ่นกลับไปเป็นเหมือนอย่างที่เขามองว่าเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่บริสุทธิ์กว่านี้ เขาต่อต้านการพัฒนาแบบตะวันตกของญี่ปุ่นและ มีความคิดว่า“จักรพรรดิโชวะ”ควรสละราชสมบัติ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง จึงเริ่มรวบรวมผู้คน
วันนี้ในอดีต เมื่อ 47 ปี วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2513 )“มิชิมะ ยูกิโอะ”กับพวกกองกำลังขวาจัดคลั่งรักชาติอีก 4 คน บุกยึดกองบัญชาการกองกำลังป้องกันตนเอง (SDF) ในกรุงโตเกียว ด้วยกำลังเพียง 4 คน เขากับพวกควบคุมห้องผู้บัญชาการไว้ มัด “ผู้บัญชาการ” ไว้กับเก้าอี้ แล้วจัดการตั้งเครื่องกีดขวาง เมื่อเสร็จสรรพดีแล้ว “มิชิมะ ยูกิโอะ”ในเครื่องแบบทหาร เดินออกมาที่ระเบียงหน้าอาคาร ท่ามกลางสายตาของกองกำลัง SDF นับร้อยคนที่รอดูด้านล่างว่าพวกนี้จะมาไม้ไหน
จากนั้น “มิชิมะ ยูกิโอะ"ก็เริ่มปราศรัยปลุกระดม เรียกร้องให้กองกำลังป้องกันชาติ ร่วมกันฟื้นฟูกองทัพ ชำระล้างความอับอายของประเทศญี่ปุ่นที่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง สุดท้ายกระตุ้นเร้าให้พวกเขาร่วมกับการ “รัฐประหาร” ในครั้งนี้
อนิจจา “มิชิมะ ยูกิโอะ"นักเขียนปากกาทองแห่งยุคหลังสงครามที่เก่งกาจ แต่การปราศรัยของเขาได้รับแต่เสียงเย้ยหยัน ถ้อยคำด่าทอ และเสียงหัวเราะราวกับตัวตลก หลังจากพยายามกล่าวถ้อยแถลงด้วยลีลาเร่าร้อนได้ไม่นาน พบว่าความพยายามไม่เพียงไร้ผล แต่ยังถูกสบประมาท “มิชิมะ ยูกิโอะ"จึงหันหลังกลับเข้าไปในห้องบัญชาการเงียบๆ
ในห้องนั้น “มิชิมะ ยูกิโอะ” ตัดสินใจทำ “เซปปุกุ”หรือ “ฮาราคีรี” หรือการคว้านท้องฆ่าตัวตาย เยี่ยงซามูไรผู้ห้าวหาญ ใช้มีดสั้นคว้านท้องตัวเองหนีความอัปยศ แล้วให้สมาชิกคนหนึ่ง เป็นมือดาบสังหาร คอยตัดศีรษะของเขาเมื่อเวลามาถึง
มือดาบสังหารแทนที่จะสับคมดาบที่คอ “มิชิมะ ยูกิโอะ”ให้ขาดในคราวเดียว เพื่อตัดทรมาน แต่กลับลงมือพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า จนต้องยื่นมีดให้สมาชิกอีกคนช่วยตัดคอ “มิชิมะ ยูกิโอะ”ให้ขาดสะบั้นอย่างที่ควร จากนั้นมือมีดผู้ผิดพลาด ก็คว้านท้องตัวเองตายตามผู้นำ“รัฐประหาร”
25 พฤศจิกายน 2513 ก่อนที่ “มิชิมะ ยูกิโอะ”จะฆ่าตัวตาย เขาส่งตอนสุดท้ายของเล่มที่สี่ ในนวนิยายจตุรภาคชุดThe Sea of Fertilityให้สำนักพิมพ์ที่ดูแลงานของเขา บางทีชื่อ The Sea of Fertility นี้ก็อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดนักเขียนวัย 45 ปีที่ร่ำรวย มีชื่อเสียง และมีผลงานที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจึงเลือกที่จะจบชีวิตของตนลง
ชื่อเรื่องดังกล่าวสื่อถึงพระจันทร์ของ Sea of Fertility สถานที่แห้งแล้งหนาวเหน็บ และ “ทะเล” นั้นก็คือคำอุปลักษณ์ของมิชิมะที่สื่อถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับเขาแล้วมันคือโลกทั้งใบ
“มิชิมะ ยูกิโอะ”นอกจากจะเป็นนักเขียน “ยูกิโอะ”ยังเป็นเป็นนักแสดงภาพยนตร์มาแล้ว 5 เรื่อง นอกจากนี้เขายังฝึกเพาะกายและศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ อีกด้วย
ผลงานเขียนของเขาส่วนมากสะท้อนจิตสำนึกอันสับสนของคนญี่ปุ่น และมีมีมากถึง 257 เรื่อง ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเขาคือ นวนิยาย 1 ชุด ชื่อ“ทะเลแห่งความสมบูรณ์”(The Sea of Fertility) และที่คนไทยรู้จักกันดีคือเรื่อง “เสียงคลื่น” (The Sound of Waves) เขาถูกเสนอชื่อชิง“รางวัลโนเบล” แต่ก็พลาดถึง 3 ครั้ง
“มิชิมะ ยูกิโอะ”เคยคบหาดูใจกับ“โชดะ มิชิโกะ” (ต่อมาโชดะเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและทรงขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ)แต่ต่อมา “ยูกิโอะ”สมรสกับ “ซุงิยะมะ โยโกะ”ในปี ค.ศ. 1958 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 2 คน
ไลฟ์สไตล์ของ“ยูกิโอะ”ส่วนหนึ่งเองก็มีลักษณะแบบตะวันตก เขาอาศัยอยู่ในบ้านสไตล์อิตาเลียน ในโตเกียวท่ามกลางศิลปวัตถุแบบบาโรคและโรโคโค เขาให้ภรรยาไปเรียนที่โรงเรียนสอนทำอาหารฝรั่ง ทั้งยังสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้เหมือนอย่างคนญี่ปุ่นในปัจจุบัน และก็ดูจะพอใจที่ได้ทำเช่นนั้น
ทว่าการตายของ “มิชิมะ ยูกิโอะ”ไม่ได้สูญเปล่า เพราะได้เชื่อมโยงตัว“มิชิมะ ยูกิโอะ”เข้ากับอุดมคติสูงสุดของชาวญี่ปุ่น เช่นเดียวกับที่ปรากฏในงานเขียนของเขา เมื่อญี่ปุ่นหันกลับมาเป็นแบบที่ตัวเองเคยเป็นเสมอมา พยายามฟื้นคืนความรุ่งโรจน์ของญี่ปุ่นก่อนยุคสงคราม และทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ของประเทศญี่ปุ่นที่มีต่อโลกตะวันตก
--------//-------
*ขอบคุณข้อมูล*
*วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
*กรกิจ ดิษฐาน