วันนี้ในอดีต

19 พ.ย.2557 “สหรัฐ”ส่งมอบโบราณวัตถุคืนไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“มรดกชาติ” 554 ชิ้น กลับคืนสู่มาตุภูมิ  เป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีอายุกว่า 5,000 ปี เคยจัดแสดงที่"พิพิธภัณฑ์ Bowers" มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

 

          ปฏิบัติการทวงคืน “มรดกชาติไทย” ครั้งนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางปีพุทธศักราช 2552 “สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครลอสแอนเจลิส” สหรัฐอเมริกา ได้ประสาน“กองวัฒนธรรมสัมพันธ์ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ” ว่าสหรัฐอเมริกาต้องการให้“กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม” ส่งผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบและคัดเลือกโบราณวัตถุ ที่ “พิพิธภัณฑ์ Bowers” เมืองซานตาอานา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา"

          คณะเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ประกอบด้วย ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ 2 ราย นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ 1 ราย ภายใต้การนำของกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปตรวจสอบโบราณวัตถุ ร่วมกับนักวิชาการโบราณคดี และเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการกลาง สหรัฐอเมริกา ผลปรากฏว่า “โบราณวัตถุเป็นมรดก” หรือ “ทรัพย์สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของไทย” จริง!!

          กรมศิลปากรได้แจ้งผลการตรวจพิสูจน์ข้างต้น ให้“กระทรวงต่างประเทศ”ทราบ และแจ้งต่อไปยัง“สำนักงานอัยการกลาง”สหรัฐอเมริกา เพื่อขอรับโบราณวัตถุ คืนสู่ประเทศไทย โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ กรมสารนิเทศ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เป็นผู้ประสานงาน 

          พิพิธภัณฑ์ Bowers ได้จัดส่งหีบห่อโบราณวัตถุ จำนวน 8 ลัง โดยทางเรือแบบ Door to Door เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 โดยกรมศุลกากร อำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากร

          สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้รับหีบห่อ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 โดยเก็บรักษาไว้ ณ คลังกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จากนั้นสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพโบราณวัตถุ พบว่าภาชนะดินเผาส่วนใหญ่ชำรุด แตกต่อไว้ เครื่องมือเครื่องใช้โลหะประเภทสำริดยังไม่ได้รับการอนุรักษ์ มีคราบดินและสนิมกัดกร่อน หลายชิ้นชำรุดแยกออกจากกัน จำเป็นต้องได้รับการซ่อมสงวนรักษา โดยนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์

          หีบห่อโบราณวัตถุ 554  ชิ้นจากสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย เครื่องปั้นดินเผา 222 รายการ เครื่องประดับสำริด 197 รายการ เครื่องมือเครื่องใช้สำริด 79 รายการ ลูกปัดทำด้วยวัสดุต่างๆ 35 รายการ เครื่องมือหินและขวานหิน 11 รายการ และแม่พิมพ์หินทราย 10 รายการ 

          จากการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น โดยนักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พบว่าน่าจะเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุกว่า 5,000 ปี วัฒนธรรมบ้านเชียง ประมาณร้อยละ 60-70 จากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อื่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประมาณร้อยละ 25-30 และโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ประมาณร้อยละ 5-10 ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการซ่อมสงวนรักษาตามหลักวิชาการอนุรักษ์

          โบราณวัตถุเหล่านี้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ทราบแหล่งที่พบแน่นอนแท้จริง แต่ก็สามารถศึกษารูปแบบศิลปะ เทคนิควิธีการทำ เนื้อวัตถุหรือส่วนผสม รวมทั้งกำหนดอายุสมัยได้ จึงยังคงมีคุณค่าและประโยชน์ทางวิชาการ

          วันนี้ในอดีต 19 พ.ย.2557 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  กรุงเทพมหานคร  “นายวีระ โรจน์พจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบและรับมอบโบราณวัตถุ 554 ชิ้นจากสหรัฐอเมริกาคืนสู่ไทย มี“นายดับเบิลยู แพทริค เมอร์ฟี่” อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย “นายเสข วรรณเมธี” อธิบดีกรมสารนิเทศ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และ“นายบวรเวท รุ่งรุจี” อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมลงนามในเอกสารการส่งมอบและรับมอบโบราณวัตถุ อย่างเป็นทางการ

          "ผมในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ขอบคุณรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ได้มอบโบราณวัตถุกลับคืนสู่มาตุภูมิ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกในการส่งมอบและรับมอบโบราณวัตถุครั้งนี้ 

          โดยโบราณวัตถุทั้งหมด เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและทรัพย์สินอันล้ำค่าของแผ่นดิน คงคุณค่าความสำคัญและประโยชน์ทางวิชาการโบราณคดี ที่สำคัญยังเป็นการเติมเต็มความเป็นมรดกโลกของบ้านเชียงให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ขอฝากให้ประชาชนชาวบ้านเชียงให้การต้อนรับการนำโบราณวัตุกลับคืนสู่พื้นที่ รวมทั้งขอให้เห็นคุณค่าและอนุรักษ์มรดกของชาติ”นายวีระกล่าว

          การส่งมอบโบราณวัตถุครั้งนี้ จัดได้ว่าเป็น“ล็อตใหญ่ที่สุด”เท่าที่เคยมีมา โดยกรมศิลปาการ ได้ดำเนินการศึกษาจัดทำบันทึกรายละเอียด และดูแลอย่างดีแต่บางส่วนไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานบ้านเชียง จ.อุดรธานี บางส่วนจะนำไปแสดงที่ห้องเครื่องปั้นดินเผาคลังกลาง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติปทุมธานี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ