8 พ.ย.2497 จับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ข้อหา “กบฏสันติภาพ”
กบฏสันติภาพ คือ การเคลื่อนไหวรณรงค์สันติภาพอย่างกว้างขวางโดยบรรดานักหนังสือพิมพ์ ที่มีชื่อของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ รวมอยู่ด้วย!
ในบรรดาเหตุการณ์ ที่ถือเป็น “การก่อกบฏ” ของประเทศไทย คนไทยส่วนมาก อาจหลงลืมไปแล้ว กับ “กบฏสันติภาพ” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จับกุมประชาชนจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2478 มาตรา 4
โดยในการจับกุมครั้งนี้ กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์จับกุมบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน โดยในแถลงการณ์ะบุว่า
“ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย...”
จากนั้นยังได้ทยอยจับกุมประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย เป็นระยะๆ หลังจากนั้นอีก 2-3 ปี โดยบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนั้น เป็นที่ทราบกันว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล บางรายกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ รวมถึงได้ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย
หนึ่งในนั้น มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” ที่นักอ่านนิยมชมชอบ ซึ่งถูกทางการจับกุมตัวในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2497 หรือวันนี้เมื่อ 63 ปีก่อน
กล่าวสำหรับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แล้ว เขาเกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2448 ในหมู่นักอ่านและปัญญาชนจะรู้กันดีว่า เขาเป็นเจ้าของวาทะ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน
ในวัยเด็กกุหลาบสูญเสียพ่อตั้งแต่อายุยังน้อยเพียงอายุหกขวบ แม่และพี่สาวจึงได้เลี้ยงดูเขาต่อมา โดยแม่ได้รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และส่งพี่สาวไปฝึกเล่นละครรำ และละครร้อง เพื่อหาเงินมาช่วยจุนเจือครอบครัว
จนจบชั้นประถม 4 แม่ก็ได้เอากุหลาบไปฝากเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนทหารเด็ก ของกรมหลวงนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ
แต่ภายหลังด้วยเห็นว่าเรียนหนักและยังต้องฝึกทหาร แม่จึงย้ายเขาออกมาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยเริ่มต้นเรียนในชั้นมัธยม 2 และได้เรียนเรื่อยมาจนจบชั้นมัธยม 8 เมื่อปี พ.ศ. 2468
ช่วงปี พ.ศ. 2465 ขณะอายุได้ 17 ปี กุหลาบเริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือ และทำหนังสือโดยใช้พิมพ์ดีด
จากนั้น ใน พ.ศ. 2466 เมื่ออายุได้ 18 ปี เขาได้เริ่มเขียนบทกวี และเขียนเรื่องจากภาพยนตร์ ส่งไปให้หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม ในช่วงนั้นใช้นามปากกา เช่น “ดาราลอย” “ส.ป.ด. กุหลาบ” “นางสาวโกสุมภ์” “หนูศรี” “ก. สายประดิษฐ์” “นายบำเรอ” และ “หมอต๋อง”
ส่วนนามปากกา “ศรีบูรพา” ใช้ครั้งแรกในเขียนงานชื่อ “แถลงการณ์” ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทศวารบันเทิง
ช่วงปี พ.ศ. 2467 ขณะอายุได้ 19 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม 8 กุหลาบได้ใช้นามจริงของตัวเองเป็นครั้งแรกในการเขียนกลอนหก ชื่อ “ต้องแจวเรือจ้าง” พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน ชื่อ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ และในปีเดียวกัน กุหลาบก็เริ่มใช้นามปากกา “ศรีบูรพา” เขียนบทประพันธ์ขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
จน พ.ศ. 2468 อายุ 20 หลังเรียนจบ ม.8 เขาได้เป็นบรรณาธิการครั้งแรกที่ หนังสือรายทส(รายสิบวัน) ชื่อ สาส์นสหาย แต่ออกมาได้แค่ 7 เล่ม ก็ต้องเลิกไป
เขาเลยไปทำงานที่กรมยุทธศึกษาฯ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ โดยมีตำแหน่งเป็น “เจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์” ได้เงินเดือนเดือนละ 30 บาท
แต่แล้วเขาก็ตัดสินใจเบนกลับเส้นทางเดิม คือนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อิสระ โดยร่วมกับกลุ่มนักเขียนชื่อดังทั้ง ยาขอบ ฮิวเมอริสต์ จัดทำหนังสือพิมพ์ชื่อ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2472
ระหว่าง พ.ศ. 2473-2474 กุหลาบ หรือ ศรีบูรพา เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันไทยใหม่ และได้เขียนบทความทางการเมืองเรื่อง “มนุษยภาพ” ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง โดยบทความนี้กระทบกระเทือนถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาล จนเป็นผลให้หนังสือพิมพ์ถูกยึดใบอนุญาติ และปิดแท่นพิมพ์
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ประชาชาติ ขณะเดียวกันก็ได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย
จนปี พ.ศ. 2479 เขาได้เดินทางไปดูกิจการหนังสือพิมพ์ที่ญี่ปุ่น 1 ปี ทำให้เกิดนวนิยายเรื่องสำคัญของเขาคือเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ขึ้นมา
ช่วงปี พ.ศ. 2490-2492 เขาได้เดินทางไปศึกษาวิชาการเมืองที่ประเทศออสเตรเลีย และถือเป็นการเปิดโลกทรรศน์ของเขาเป็นอย่างมาก ช่วงนั้นงานเขียนของเขา จึงเน้นการต่อสู่เพื่อสิทธิและเสรีภาพ ความเป็นธรรม
แต่แล้วช่วงปลายปี 2493 เริ่มมีการเคลื่อนไหวรณรงค์สันติภาพอย่างกว้างขวางโดยบรรดานักหนังสือพิมพ์ และยังมีการออกหนังสือพิมพ์ “การเมือง” ที่มีการรณรงค์สันติภาพด้วยการเรียกร้องให้ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง สันติภาพสตอกโฮล์ม ภายใน 5 สัปดาห์
กระทั่งช่วงปี 2494 ยังมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพ” ขึ้น โดยมีชื่อของ กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นรองประธาน ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนสงครามเกาหลี เรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี และกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติในประเทศจีน นอกจากนั้นมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพนักศึกษา” ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่สุดในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก รวมถึง กุหลาบที่ถูกจับกุมหลังจากนั้นใน 2 ปีถัดมาด้วย
สำหรับคดีนี้ อัยการได้สั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี
อย่างไรก็ดี ที่สุดเขาได้รับนิรโทษกรรมใน พ.ศ. 2500 และช่วงระหว่างปีนั้น “ศรีบูรพา” ได้รับเชิญจากสมาคมส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับนานาประเทศของสหภาพโซเวียต ให้ไปร่วมงานฉลองครบ 40 ปี แห่งการปฎิวัติ และจากสถาบันวัฒนธรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ไปเยือนในฐานะทูตทางวัฒนธรรมตามลำดับ
การไปเยือนครั้งหลังนี้ เป็นการจากแผ่นดินไทยไปตลอดกาล เพราะเขาได้ขอลี้ภัยทางการเมืองอยู่ ณ ประเทศจีน จนถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ที่โรงพยาบาลเซียะเหอ กรุงปักกิ่ง
//////////
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
https://sites.google.com/site/thaipolitichistory/home
และ https://www.baanjomyut.com/library/author/sriburapa.html