18 ต.ค.2347 วันพระราชสมภพ พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
ช่วงรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 นับเป็นช่วงที่สยามเรา ก้าวไปอีกขั้นของการเปิดรับชนชาวตะวันตก และเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรืออาจเรียกว่าเปิดประตูสู่อีกยุคก็ว่าได้!
วันนี้ในอดีตขอนำเสนอ เรื่องราวของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี นับเป็นช่วงเวลาที่สยามเรา เรียกว่าก้าวไปอีกขั้นของการเปิดรับชนชาวตะวันตก และเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรืออาจเรียกว่าเปิดประตูสู่อีกยุคก็ว่าได้
ทั้งนี้ วันนี้ในอดีต เมื่อ 213 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ตรงกับปีชวด
นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ในรัชสมัย รัชกาลที่ 1 ณ นิวาสสถานพระราชวังพระราชนิเวศน์ พระราชวังเดิม ด้านใต้ของวัดอรุณราชวราราม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 และเป็นลำดับที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
ทรงมีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้ามงกุฎ” และทรงเสวยราชสมบัติในวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ยังเป็นโทศก พ.ศ. 2394 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 16 ปี 6 เดือน
ในส่วนของพระราชกรณียกิจ นั้น เรียกได้ว่าทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ทั้งด้านวรรณคดีพุทธศาสนา ดาราศาสตรื์ โหราศาสตร์ ฯลฯ
โดยในส่วนของการประพันธ์ พระองค์ทรงมีพระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นประเภทร้อยแก้ว บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่ ชุมนุมพระบรมราโชบาย 4 หมวด คือ หมวดวรรณคดี โบราณคดี ธรรมคดี และตำราตำนานเรื่อง พระแก้วมรกต เรื่องปฐมวงศ์
ส่วนด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง โดยทรงตั้งธรรมยุตติกาวงศ์ขึ้น เป็นนิกายใหม่ในพระพุทธศาสนา ที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและระเบียบแบบแผน ด้านพระพุทธศาสนา
ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตกมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ จึงทรงคุ้นเคยกับชาวตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษเป็นอย่างมาก
ในรัชสมัยของพระองค์ มีการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง มีการทำสัญญากับต่างประเทศถึง 10 ประเทศ ทรงยึดนโยบาย “ผ่อนสั้น ผ่อนยาว” มาใช้กับประเทศมหาอำนาจเป็นพระองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ อันทำให้ไทยสามารถดำรงเอกราชอยู่ได้จนทุกวันนี้
พระองค์โปรดเกล้าให้ชาวต่างประเทศรับราชการเป็นกงสุลไทย เช่น เซอร์ จอห์น เบาริง อัครราชทูตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ เข้ามาทำสนธิสัญญากับประเทศไทยเป็นชาติแรก เมื่อ พ.ศ. 2398 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ” เป็นกงสุลไทยประจำกรุงลอนดอน
อย่างไรก็ดี ความทรงจำของคนไทยส่วนใหญ่คือ พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ในคราวเดียวกัน
โดย ในด้านวิทยาศาสตร์ หรือดาราศาสตร์ พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ล่วงหน้าถึง 2 ปี
นอกจากนี้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น ยังทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชาอาณาจักรอีกด้วย
ดังที่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และอนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ส่วนในด้านโหราศาสตร์ ทรงแต่งตำราทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่า “เศษพระจอมเกล้า” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำราที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำ และทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย” อีกด้วย
มีเรื่องราวที่เป็นความทรงจำอันอัศจรรย์เกิดขึ้นโดยเฉพาะช่วงก่อนมีอาการพระประชวร ช่วง พ.ศ. 2411ที่พระองค์ทรงคำนวณว่าจะสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้ในประเทศสยาม ณ หมู่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จากนั้น พระองค์จึงโปรดให้ตั้งพลับพลา เพื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ ตำบลหว้ากอ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่พระองค์ทรงคำนวณก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงดังที่ทรงได้คำนวณไว้ พระองค์เสด็จประทับอยู่ที่หว้ากอเป็นระยะเวลาประมาณ 9 วัน จึงเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร
ภายหลังการเสด็จกลับมายังพระนคร วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2411พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรจับไข้ และทรงทราบว่าพระอาการประชวรของพระองค์ในครั้งนี้คงจะไม่หาย
หลังจากนั้น วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่บรรดาผู้ที่มาเข้าเฝ้าว่า คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ที่สมุหนายก เข้าเฝ้าฯ และมีพระราชดำรัสว่า
“ท่านทั้ง 3 กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตราย หรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้ามีผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้ง 3 จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด”
ก่อนที่ในเวลา 21.05 นาฬิกา เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ภายในพระบรมมหาราชวัง สิริพระชนมพรรษา 64 พรรษา ในวันที่ 1 ตุลาคม 2411
///////////////////
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย