
วันนี้ในอดีต7ต.ค.51 การชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาไทย
วันนี้ในอดีต 7 ต.ค.2551 หรือเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย
เหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นเหตุการณ์ที่ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ปิดล้อมอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551เพื่อกดดันไม่ให้ “คณะรัฐมนตรี” แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยอ้างว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในวันที่ 7 ตุลาคม 2551
ในวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 หลังจากที่ผู้ชุมนุมจากจังหวัดต่าง ๆ ได้ทยอยสู่ที่ชุมนุมแล้ว เวลาประมาณ 20.30 น.“แกนนำพันธมิตร”ทั้งรุ่นแรกและรุ่นที่สองได้ขึ้นเวทีพร้อมกัน และประกาศขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อทำการปิดล้อมไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้ในวันรุ่งขึ้น (7 ตุลาคม)
เวลาประมาณ 06.20 น. ของเช้าวันอังคารที่ 7 ตุลาคม ตำรวจได้ "ระดมยิงแก๊สน้ำตา" ร่วม 100 นัด เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุมรัฐสภา เพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ พันธมิตรฯ ได้เข้าทำการตัดน้ำตัดไฟในอาคารรัฐสภา ทางรัฐสภาจึงต้องใช้ไฟฟ้าสำรอง
ต่อมาในเวลาประมาณ 09.30 น. การแถลงนโยบายร่วมได้เริ่มขึ้น แต่ ส.ส. และ ส.ว. หลายคนไม่ได้อยู่ในที่ประชุม “นายชัย ชิดชอบ” ประธานสภา ได้ให้นับองค์ประชุมปรากฏว่า"ไม่ครบองค์ประชุม“ จึงได้ให้ ”พักการประชุม" และเมื่อเปิดประชุมใหม่ปรากฏว่ามีเพียง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น รวมจำนวน 320 คน ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ฝ่ายค้านได้คว่ำบาตรการแถลงนโยบายครั้งนี้
เมื่อ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเสร็จ เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ก็ไม่สามารถจะเดินทางออกมาได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดกั้นประตูทางออกแทบทุกทาง จึงต้องเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจแทน พร้อมด้วย “ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์” บุตรสาว ไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย ที่ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือกับ"ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ" ถึงสถานการณ์
ต่อมาเวลา 16.00 น. เกิดเหตุการณ์“รถจิ๊ปเชโรกี”ระเบิด ที่หน้าที่ทำการพรรคชาติไทย มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย คือ "พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี"เป็นแกนนำพันธมิตรฯ จ.บุรีรัมย์เป็น นรต.46 อดีตตำรวจ สวป.บุรีรัมย์ เป็นน้องเขยของ"นายการุณ ใสงาม"ผู้ประสานงานพันธมิตร
ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. บรรดา ส.ส. และ ส.ว. ยังคงติดอยู่ภายในอาคารรัฐสภา เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวออก โดยให้ผู้จะออกแสดงบัตร และอนุญาตให้ออกเฉพาะที่ไม่ใช่ ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น เช่น พนักงานสภาและสื่อมวลชน ต่อมา ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตายิงอีกหลายนัด เพื่อเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. ออกไปได้ และระดมยิงแก๊สน้ำตาต่อเนื่องไปจนถึงหัวค่ำ ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและลานพระบรมรูปทรงม้า
จากการปะทะกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมยอดผู้บาดเจ็บทุกฝ่ายทั้งสิ้นในขณะนั้น 381 ราย เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ “พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี” และ"อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ" และตำรวจได้รับบาดเจ็บ 11 นาย
จากนั้นไม่นาน “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” ได้ลาออกจากตำแหน่ง "รองนายกรัฐมนตรี" เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมหลายภาคส่วนได้ประณามการกระทำของตำรวจครั้งนี้
หลังจากเหตุการณ์การปะทะกัน “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ได้พระราชทานหน่วยพยาบาลเพื่อให้ทำการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนสามแสนบาทแก่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อเป็นการค่าใช้จ่ายในการรักษา
--------------//--------------
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://th.wikipedia.org/