วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 31 ก.ค.2466 เมืองไทยมี‘แท็กซี่’ครั้งแรก

วันนี้ในอดีต 31 ก.ค.2466 เมืองไทยมี‘แท็กซี่’ครั้งแรก

31 ก.ค. 2560

วันนี้ในอดีต 31 ก.ค. 2466 เมืองไทยมี‘แท็กซี่’ให้บริการครั้งแรก มีรถให้บริการ 14 คัน คิดค่าบริการตามไมล์แต่ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากค่าโดยสารแพง คนจึงไม่ยอมนั่ง

 

             วันนี้ในอดีต  31 ก.ค. 2466  ประเทศไทยเริ่มมี ‘แท็กซี่’ให้บริการเป็นครั้งแรก โดย พระยาเทพหัสดินร่วมกับพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ‘บริษัท แท็กซี่สยาม’ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ โดยนำเอารถเก๋งออสติน (Austin) ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ โดยมีรถให้บริการ 14 คัน คิดค่าบริการตามไมล์ ไมล์ละ 0.15 บาท หรือ 15 สตางค์  (1 ไมล์ = 1.609344 กิโลเมตร)  ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบกับราคาค่าโดยสารในปัจจุบัน ในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า“รถไมล์”เพราะเก็บค่าโดยสารตามเลขไมล์ระยะทางที่วิ่ง โดยใช้รถยนต์ยี่ห้อออสติน แต่ประสบปัญหาขาดทุน  เนื่องจากค่าโดยสารแพง ผู้คนยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง ประกอบกับเมืองกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่น ๆ อยู่มากและราคาถูกกว่าจึงต้องล้มเลิกกิจการไป 

              จนกระทั่งปี 2490  หลังสงครามโลกครั้งที่2  เจ้าของธุรกิจเอกชนบางราย ได้เริ่มการฟื้นฟูกิจการแท็กซี่ในประเทศไทยขึ้นมาใหม่ โดยในช่วงแรกจะนิยมใช้รถยนต์ยี่ห้อเรโนลต์(Renault) สมัยนั้นจึงเรียก‘แท็กซี่’ว่า“เรโนลต์”ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมากขึ้นจนระบาดไปต่างจังหวัด จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถ ต่อมารถแท็กซี่ เปลี่ยนกลับมานิยมยี่ห้อออสติน ตามด้วยรถ ดัทสัน ,บลูเบิร์ด, และโตโยต้าในที่สุด

              อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนป้ายทะเบียนของรถประเภทแท็กซี่จะมีราคาแพงเป็นหลักแสนบาท จึงทำให้ผู้ให้บริการ ใช้รถยนต์แท็กซี่นานหลายสิบปีจนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเพื่อให้คุ้มทุนค่าป้ายทะเบียน 'แท็กซี่’  

             และในสมัยก่อน กฎหมายไม่ได้บังคับให้มีการติดมิเตอร์ การจ่ายค่าโดยสารจึงเป็นไปตามการต่อรองระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ เมื่อยุคสมัยผ่านไป ในช่วงเวลาหนึ่ง 'แท็กซี่'กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจรจากการจอดต่อรองราคาดังกล่าว 

             ดังนั้นในปี 2535 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการออกกฎหมายให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป ต้องติดมิเตอร์ อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกยังได้เปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ ให้จดทะเบียนได้ในราคาถูกลงจากเดิม(เป็นหลักพันบาท) แต่จำกัดอายุของรถแท็กซี่ไว้มิให้เกิน 12 ปี หากเกินจากนี้จะต้องปลดประจำการไม่สามารถเป็นรถแท็กซี่ได้อีก และยังได้สั่งให้เปลี่ยนสีรถแท็กซี่บุคคล จากสี ‘ดำ-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบเก่า เป็นสี ‘เขียว-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบจำกัดอายุ

               ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและเวลา โดยเริ่มต้นที่ 35 บาท พร้อมทั้งมีวิทยุสื่อสาร บางคันอาจมีทีวีให้ดูในระหว่างการเดินทางด้วย