
วันนี้ในอดีต 20 มิ.ย. 2476 ‘พระยาพหลฯ’ รัฐประหาร
วันนี้ในอดีต 20 มิ.ย.2476 ได้เกิดการรัฐประหาร นำโดย ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ยึดอำนาจจากรัฐบาลของ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ และเนรเทศ'พระยามโนปกรณ์ฯ' ไปยังปีนัง
วันนี้ในอดีต 20 มิ.ย.2476 ได้เกิดการทำรัฐประหาร นำโดย ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ยึดอำนาจจากรัฐบาลของ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’
หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 โดย‘คณะราษฎร’ และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยแล้ว ‘รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ’ได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎรและได้รับความไว้วางใจจากสภาเป็นเอกฉันท์ ต่อมารัฐบาลได้มอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ไปทำการยกร่างแผนเกี่ยวกับเศรษฐกิจ
นายปรีดีหรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลังได้รับมอบหมาย ก็ไปร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของประเทศขึ้น หรือที่เรียกว่า'สมุดปกเหลือง' และเมื่อ นายปรีดี เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน ความขัดแย้งในประเด็นเค้าโครงการเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่ให้รัฐออกพันธบัตรซื้อที่ดินทำกินทั้งหมด ทำให้ชาวนาชาวไร่มีสภาพเป็นลูกจ้างของรัฐ มีการกล่าวหาว่า ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’เป็นคอมมิวนิสต์ และ ก่อให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่สมาชิก‘คณะราษฎร’ ข้าราชการ ขุนนาง และบุคคลในสภา ฯ และพระยามโนปกรณ์ ฯ นายกรัฐมนตรี ก็ไม่เห็นชอบด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ สุดท้ายพระยามโนปกรณ์ฯนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งได้เนรเทศ นายปรีดี พนมยงค์หรือ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ให้กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส ท่ามกลางความไม่พอใจของ‘กลุ่มคณะราษฎร’ที่สนับสนุนนายปรีดี
และเหตุการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้นี่เอง ได้บานปลายนำไปสู่การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ
โดยในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิ.ย. 2476 คณะทหารบก, ทหารเรือ กองทัพอากาศ และพลเรือน นำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา (ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475) ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ โดยให้เหตุผลว่า 'ด้วยคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก, ทหารเรือ กองทัพอากาศ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ'
หลังจากคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจสำเร็จ ก็ได้เนรเทศพระยามโนปกรณ์ฯไปยังปีนังด้วยรถไฟ พร้อมกับเรียกตัว นายปรีดี กลับมาจากฝรั่งเศส ซึ่งพระยามโนปกรณ์ฯ ก็ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่ปีนัง ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม
ต่อมาสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเลือก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย