
วันนี้ในอดีต 22 พ.ค. 2557 ‘คสช. ยึดอำนาจ’
วันนี้ในอดีต 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เข้ายึดอำนาจจาก‘รัฐบาลรักษาการ’ เพื่อแก้วิกฤตการเมืองในขณะนั้น
วันนี้ในอดีตย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว 22 พ.ค. 2557 ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย
ก่อนหน้านั้นสองวัน คือ วันที่ 20 พ.ค. 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จากนั้นกองทัพบกได้ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ที่รัฐบาลชุดก่อนตั้งขึ้น
วันที่ 21 พ.ค. 2557 มีประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 6/2557 เรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์ , นปช.,กปปส.,วุฒิสภา,คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อหาทางออกประเทศจากวิกฤตการเมืองในขณะนั้น การประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดแต่สุดท้ายไม่สามารถหาข้อยุติได้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจให้มาประชุมกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น เวลา 14.00 น.เพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน
วันที่ 22 พ.ค. 2557 ในประชุมร่วม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศครั้งที่ 2 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในที่ประชุม ระหว่างการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ หลังจากเวลาผ่านไป 2 ชั่วโมงก็ไม่มีข้อยุติ
ต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ แยกไปหารือเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปพร้อม ๆ กัน เมื่อกลับมาหารือกันต่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามนายชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้น ว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งชัยเกษม ระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออก และต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครอง จากนั้นทหาร ก็เข้าควบคุมตัวคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา
ต่อมา เวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที