สังคมเข้มแข็ง

กฟผ.- สอศ.สานต่อ 'โครงการชีววิถีเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน' ต่อเนื่องกว่า20ปี

24 ก.พ. 2567

กฟผ.จับมือสอศ.น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.สานต่อโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้สังคม ชุมชนทั่วประเทศต่อเนื่องกว่า20ปี

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือและมอบรางวัล 'โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน' ภายใต้แนวคิด 20 ปีชีววิถี สร้างประโยชน์แก่พื้นที่อย่างยั่งยืน ณ กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยมีพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยเรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการ สอศ. นายเมธาวัจน์ พงศ์รดาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ กฟผ. คณะผู้บริหาร และแขกผู้มีเกียรติร่วมในพิธี

โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่งยั่งยืน

พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธี

การลงนามบันทึกความร่วมมือ 'โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน' ปี 2567 – 2571 ระหว่าง สอศ. และ กฟผ. ในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดขยายผล โดยบูรณาการการดำเนินงาน 'โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน' กับโครงการ โคก หนอง นา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มบริบทในการบริหารจัดการน้ำ ปรับลดข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเปิดกว้างในการใช้สารชีวภาพที่หลากหลาย มุ่งเน้นการขยายผลสู่ชุมชน และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่

โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

20 ปี ชีววิถี

ตั้งแต่ปี 2546 สอศ. และ กฟผ. ได้ร่วมกันดำเนิน 'โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน' มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างธรรมชาติและการดำรงชีวิตของมนุษย์ นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาพัฒนาเพื่อใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เน้นการปลอดสารพิษเป็นหลักสำคัญ ไม่ก่อหนี้สิน คำนึงถึงการรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยดำเนินงานในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 110 แห่งทั่วประเทศ พร้อมขยายผลสู่ครู นักเรียน โรงเรียน และชุมชนรอบบริเวณสถานศึกษา ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการจัดทำสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในโครงการฯ รวมถึงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มภายในชุมชน สร้างอาชีพด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน

20 ปี ชีววิถี

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการมอบรางวัลการประกวดผลงาน 'โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน' ระหว่างปี 2563 – 2565 รวมทั้งสิ้น 104 รางวัล และจัดแสดงนิทรรศการ ผลงาน สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม จากสถานศึกษา และชุมชนที่ได้รับรางวัล อาทิ ชุดชิงช้าปลูกผักเลี้ยงปลาระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา ชุดปฏิบัติการเครื่องให้อาหารฉีดพ่น EM ให้น้ำพืชอัตโนมัติพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคุมด้วย Smartphone พร้อมกล้องวงจรปิด จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร

โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 20 ปี ของการดำเนินงาน 'โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน' ได้สร้างบุคลากรทางการศึกษา และราษฎรได้นำโครงการชีววิถีฯ ไปใช้ขยายผลดีเด่น มากกว่า 360 คน เกิดชุมชนต้นแบบชีววิถี จำนวน 474 ชุมชน และได้ยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนถึง 18 แห่ง หรือ 2,346 ครัวเรือน อีกทั้งมีโรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและนำไปใช้ได้ผลดีเด่นจำนวน 22 โรงเรียน เกิดงานวิจัย สิ่งประดิษฐ และนวัตกรรม มากกว่า 300 ผลงาน

20 ปี ชีววถี