สังคมเข้มแข็ง

สรุป 'พ.ร.บ.อากาศสะอาด' กฎหมายปกป้องอากาศบริสุทธิ์ คลอดทันฤดู PM2.5 หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สรุปความสำคัญ 'พ.ร.บ.อากาศสะอาด' กฎหมายปกป้องอากาศบริสุทธิ์ คืนอากาศสะอาดให้คนไทย จะคลอดทันฤดูฝุ่น PM2.5 หรือไม่ ต้องเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาอีกกี่วาระก่อนประกาศบังคับใช้

หลังจากที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานจนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพกันไปแล้วตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งของปีนี้ และที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มออกมาตรการต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันตัวเองอย่างเร็วที่สุดแล้วก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สังคมยังถามหานั้นคือ "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" ที่ทุกภาคส่วนตั้งตารอคอยให้รัฐบาลใหม่ทำคลอดสักที ให้ทันบังคับใช้ในช่วงฤดูฝุ่น PM2.5 ในปีนี้  

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออก โดยที่ประชุมได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... หรือ "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ  

สำหรับการเห็นชอบ "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" นั้นอยู่บนพื้นฐานที่ ว่า รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมและเท่าทันต่อเหตุการณ์ จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดต่อ ครม. โดยเร็ว

 

 

ทั้งนี้ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน 

 

 

 สาระสำคัญของร่าง "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" มีดังนี้ 

1. คณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาดกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนี้
  

  • คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
  •  คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมี รมว.ทส. เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ
  • คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และ คกก. อากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ ซึ่งจะแต่งตั้งเมื่อพบว่ามีสถานการณ์และระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่


2. ระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ 

 

3. มาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด จำแนกได้ 4 ประเภท แหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร แหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ และแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน

 

4. เขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ 

 

5. เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ดังนี้ ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง และมาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด

 

6. ความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ

 

 

สำหรับไทม์ไลน์ขั้นตอนการออก "พ.ร.บ.อากาศสะอาด"

"พ.ร.บ.อากาศสะอาด" จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ ทั้งหมด 3 วาระ โดยวาระ 1 สภาจะพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งพระราชบัญญัติ ถ้าสภาไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ตกไป แต่หากสภารับหลักการสภาก็จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นในลำดับต่อไป  วาระที่ 2  เป็นการพิจารณาในรายละเอียด และวาระที่ 3  ว่าเห็นชอบหรือไม่ หากสภาไม่เป็นชอบ ร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ตกไป แต่หากสภาเห็นชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ