สังคมเข้มแข็ง

'แอปฯ CFiD' เก็บคาร์บอนฟริ้นท์ด้วยตัวเอง ใช้ชีวิตแบบไม่รู้สึกผิดต่อโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'แอปฯ CFiD' เก็บคาร์บอนฟริ้นท์ด้วยตัวเอง ช่วยลดโลกร้อน ให้คนไทยใช้ชีวิตแบบไม่รู้สึกผิดต่อโลก อนาคตเชื่อมโยงข้อมูลกับองค์กรรัฐลด ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมกัน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนในสังคมโลกต่างพากันปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความสำคัญของปัญหานี้และต้องการให้คนไทยมีส่วนร่วมต่อการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จึงร่วมมือกับสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) เปิดตัว "แอปฯ CFiD" (Carbon Footprint in Daily life) ภายใต้ความร่วมมือกับ บริษัท อโยเดีย จำกัด เพื่อให้บุคคลที่สนใจสามารถบันทึกและติดตามคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมการปรับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมประจำวัน ที่เชื่อมโยงไปยังการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยได้จัดกิจกรรมเปิดตัวและแนะนำแอปพลิเคชัน Carbon Footprint in Daily life หรือ "แอปฯ CFiD"

 

 แอป CFiD

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน กล่าวว่า "แอปฯ CFiD"  นี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของทุกคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญในการเดินหน้าไปยังเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ในการทำให้ทุกคนสามารถเห็นข้อมูลที่จับต้องได้ ตรวจสอบได้ และเมื่อรู้ว่าการปรับพฤติกรรมอย่างไรที่จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตัวเอง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องดำเนินการในเร็ววันนี้ ก่อนที่ผลเหล่านี้จะสะท้อนไปยังคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศในท้ายที่สุด โดยการใช้งานแอปพลิเคชันนี้ถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยโลก โดยเริ่มต้นที่ตัวเราในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลชัดเจน

 

'แอปฯ CFiD' เก็บคาร์บอนฟริ้นท์ด้วยตัวเอง  ใช้ชีวิตแบบไม่รู้สึกผิดต่อโลก

โดยอนาคตหากการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อต่อยอดไปสู่ Carbon credit ของประเทศนั้น ต้องดำเนินการ 3 Steps คือ สร้างฐานข้อมูล  Baseline หรือค่าเฉลี่ยของคนไทย จากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ให้ลึกลงไป ในเชิง พื้นที่ กลุ่มประชากร อาชีพ หรืออาจลงไปถึง กลุ่มพนักงานในแต่ละองค์กร เมื่อได้ Baseline มาแล้ว  องค์กร หรือ หน่วยงาน จะได้เริ่มออกแบบ & วางแผน Project เพื่อลดการปล่อย CO2 ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติม (Additionlity) เพื่อเดินหน้า เรื่อง Verify Carbon credit ต่อไป หรือแม้กระทั้ง ใช้เป็น ข้อมูลสนับสนุน NDC 30-40% ของประเทศ ที่ประกาศไว้ในปี 2030 อีกด้วย


ด้านนายอานนท์ ตั้งสถิตพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อโยเดีย จำกัด ได้กล่าวถึงที่มาของการร่วมพัฒนา "แอปฯ CFiD" ว่า เราอยู่ในยุคที่ทุกคนพูดถึง Data analytics หรือก็คือ Data driven ที่เรานำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและตัดสินใจ แต่เรื่องของการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ กลับพบว่า เรายังไม่มีข้อมูลที่จะนำเข้ามาวิเคราะห์ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเก็บข้อมูลเพื่อสร้าง Self-awareness (การตระหนักรู้ตนเอง) ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำแต่จะทำอย่างไรที่วิธีการเก็บข้อมูลนี้จะไม่สร้างภาระให้กับผู้ใช้งานจนเกินไป จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชัน CFiD นี้ที่มีระบบ Automation ในบางส่วนเพื่อลดความยุ่งยากในการใช้งาน และผู้ใช้งานก็สามารถใช้งานเพื่อพิจารณาการปรับพฤติกรรมที่สามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้

 

 

 

แอปพลิเคชัน CFiD ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่าย สามารถบันทึกกิจกรรมที่ทำประจำได้โดยไม่ต้องบันทึกใหม่ทุกวัน เช่น การเดินทางไปยังที่ทำงาน การใช้ไฟฟ้า เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาในการบันทึกข้อมูล นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มกิจกรรมที่ชดเชย (offset) การปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เช่น การปลูกต้นไม้ และแสดงผลภาพรวมการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมต่าง ๆ (Total Carbon Footprint emission) พร้อมสถิติการเปลี่ยนแปลง และเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ เพื่อสร้างการปรับตัวในชีวิตประจำวันสำหรับการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคล  อีกทั้งยังมีภารกิจเพื่อการสะสม Coin จากการอัพเดทข้อมูลกิจกรรมที่ลดและชดเชยคาร์บอนสำหรับนำไปแลกเป็นของรางวัลได้ สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานได้ฟรีทั้งในระบบ iOS และ Android

logoline