สังคมเข้มแข็ง

ภาคขนส่งปล่อย 'คาร์บอน' มากถึง 76 ล้านตันคาร์บอน สนข.คลอดแผนลดใช้พลังงาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาคขนส่งปล่อย 'คาร์บอน' มากถึง 76 ล้านตันคาร์บอน ใช้พลังงานเยอะที่สุด สนข.คลอดแผน 3 ระยะ คาดปี 2030 ลดการใช้พลังงาน 11,169.84 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งมีการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศ ในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 32,414 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็น 38.5 % และการขนส่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการขนส่งทางบกถือได้ว่าเป็นรูปแบบการขนส่งหลักของประเทศที่มีการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย พบว่าภาคขนส่งใช้พลังงานในปี 2565 สูงถึง 27,950 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นร้อยละ 86.2 และจากการใช้พลังงานในการขนส่ง ในปี 2562 พบว่าสาขาขนส่งปล่อย "คาร์บอน" (CO2) อยู่ที่ 76.92 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ 29.5 ของการปล่อย CO2 ในภาคพลังงาน โดยการขนส่งทางบก มีสัดส่วนร้อยละ 95.6 ของการปล่อย CO2 ในสาขาขนส่ง หากไม่มีการรองรับการเติบโตดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการขนส่งที่สิ้นเปลืองพลังงานและเกิดการปล่อยมลพิษมากยิ่งขึ้น

กระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นความสำคัญถึงการแก้ไขปัญหาการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบก ผลการศึกษาโครงการศึกษานโยบายการลดการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบก

 

นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ สนข. จัดทำโครงการศึกษานโยบายการลดการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและกำหนดนโยบายการลดการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย และจัดทำแผนการดำเนินการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2580 เพื่อเป็นแผนการดำเนินงานที่ช่วยให้หน่วยงานในภาคคมนาคมและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบคมนาคมในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานของประเทศ

โดยแผนการดำเนินงานฯ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนระยะสั้น 0 – 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) แผนระยะกลาง 6 – 10 ปี (พ.ศ. 2571 – 2575) และแผนระยะยาว 11 – 15 ปี (พ.ศ. 2576 – 2580) ซึ่งจากการประเมินภายใต้แผนการดำเนินการฯ พบว่า หากมีการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ ดังนี้

 

แผนระยะสั้น ณ ปี พ.ศ. 2570 การขนส่งทางบก จะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานรวม 4,260.76 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 10.07 ล้านตัน "คาร์บอน" เทียบเท่า (MtCO2e)

 

แผนระยะกลาง ณ ปี พ.ศ. 2575 การขนส่งทางบก จะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานรวม 12,582.40 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 36.09 ล้านตัน "คาร์บอน"  เทียบเท่า (MtCO2e)

 

แผนระยะยาว ณ ปี พ.ศ. 2580 การขนส่งทางบก จะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานรวม 15,918.21 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 51.86 ล้านตัน "คาร์บอน" เทียบเท่า (MtCO2e)

 

 

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) จากการประเมินภายใต้แผนการดำเนินการฯ พบว่า ณ ปี 2030 การขนส่งทางบก จะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานรวม 11,169.84 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 30.04 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)

 

 

อย่างไรก็ตามหน่วยงานในภาคคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการลดการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ขับเคลื่อนโครงการและมาตรการตามแผนการดำเนินการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2580 จะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในภาคคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร ที่เห็นความสำคัญและประโยชน์ในการดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ