สังคมเข้มแข็ง

คืนเขาหัวโล้น 'ปลูกป่าคาร์บอนเครดิต' ลดก๊าซเรือนกระจก ได้ป่า ได้เงิน

17 ก.ค. 2566

อนาคตภูเขาหัวโล้นทางภาคเหนือของไทยอาจเต็มไปด้วยต้นไม้ เพราะล่าสุดเกษตรกรบ้านห้วยน้ำริน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ได้เปลี่ยนแปลงข้าวโพดปลูกต้นไม้แบบสมัครใจ เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเปลี่ยนใจได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องยากมาก ไปฟังคำตอบจากปากพวกเขา

ภาคพลังงานปล่อย "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" (CO2) คิดเป็น 70% ภารกิจดูดซับ CO2 เพื่อ "ลดก๊าซเรือนกระจก" สาเหตุโลกร้อน จึงดำเนินขึ้นอย่างเข้มข้น หลายองค์กรตื่นตัวเชิงรุก รับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเติบโตขององค์กร ล่าสุด "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" (กฟผ.) พัฒนาแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียว ใน "โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม" โดยให้เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ดูแลต้นไม้จนเติบใหญ่เพียงพอให้ต้นไม้ดูดซับ CO2 กลับเข้าไป และเกษตรกรขาย  CO2 ให้ "กฟผ."  ผ่านโมเดล "ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน" (T-VER) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "คาร์บอนเครดิต"

คนในชุมชนบ้านห้วยน้ำริน ช่วยกันปลูกต้นไม้ในโครงการปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน (T-VER)

 

 

 

ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วม เป็นความร่วมมือระหว่าง "กฟผ." และ "มูลนิธิโครงการหลวง" นำร่องที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย บนเนื้อที่ภูเขาหัวโล้นขนาด 22.5 ไร่ของ "วุฒิชาติ ลาดสีทา" "เกษร จะทอ" และ "จะหลู จะตอ" 3 เกษตรกรผู้ยอมเปลี่ยนจากไร่ข้าวโพดเป็นป่าวนเกษตร

"วุฒิชาติ" บอกว่า 4 ปีให้หลังชุมชนแล้งหนักมาก ป่าถูกเปิดทำแปลงเกษตรปลูกข้าวโพด จึงฉุดคิดด้วยตัวเองว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยโลก ขณะนั้น "มูลนิธิโครงการหลวง" ได้เข้ามาทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเข้าร่วม "ปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต" มีต้นเงาะ ลิ้นจี่ มะคาเดเมีย กล้วย และกาแฟ 

 

 

 

วุฒิชาติ ลาดสีทา เจ้าของพื้นที่ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน

 

 

 

"วุฒิชาติ" ย้ำว่า เขาทุ่มเทกับโครงการปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมมาก ยิ่งองคมนตรี "พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์" ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ลงพื้นที่มาเยี่ยมยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น

 

 

 

พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ลงพื้นที่มาเยี่ยมโครงการปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน

 

 

 

"ใจจริงๆ ผมสงสารโลก ปลูกข้าวโพดทำให้โลกร้อนขึ้น พอมีโครงการของ "กฟผ." เข้ามา ผมเลยชวนเพื่อน เพื่อนบอกกว่าจะได้กิน ได้เงินมันนานเนอะ ก็เลยบอกไปว่า ถ้าเราไม่ทำวันนี้อีกนานกว่ามันจะได้กิน เพื่อนก็ถามผมอีกว่า แล้วจะได้เงินเท่าไรกัน จึงบอกไปว่า ถ้าเราเลี้ยงเขาก่อน พอป่ามันโตขึ้นไปมันก็จะเลี้ยงเราเอง" เจ้าของผืนป่าคาร์บอนเครดิต เล่าไปยิ้มไป

 

 

 

"เกษร" เล่าว่า อดีตปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกเยอะมาก แต่เป็นหนี้เหมือนเดิม ชุมชนแห้งแล้งแทบไม่มีต้นไม้ใหญ่สีเขียว อากาศร้อน ขาดแคลนน้ำใช้ แต่หลังจาก "มูลนิธิโครงการหลวง" ส่งเสริมปลูกพืชผัก ดอกไม้ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง จึงตัดสินใจเปลี่ยนจากแปลงข้าวโพดมาปลูกดอกไม้แทน และเมื่อส่งเสริมให้ปลูกพืชไม้เศรษฐกิจ จึงตัดสินใจเด็ดขาดว่า ถึงเวลาปลูกป่าแล้ว เพราะชุมชนแล้งเกินไป ชีวิตที่เหลือต้องสร้างป่าให้ลูกหลาน ต้องทำให้ลูกหลานเห็นว่า ป่าไม้สำคัญ เพื่ออนาคตเขาจะได้เห็นคุณค่าของป่าไม้

 

 

 

เกษร จะทอ เจ้าของผืนป่าคาร์บอนเครดิต

 

 

 

"เร็วๆ นี้รู้มาว่า เมื่อต้นไม้โตจะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตให้ "กฟผ." ด้วย ยิ่งดีเลย ได้ป่า ได้เงิน ตอนนี้ปลูกมะไฟ มะขามป้อม อะโวคาโด มะม่วง จันทร์ทองเทศ น่าจะ 3-4 ปีก็จะโต" เจ้าของผืนป่าคาร์บอนเครดิต เล่าอย่างมีความหวัง

 

 


"ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน" รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.  อธิบายว่า "กฟผ." ตระหนักถึงการเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมร่วมเดินหน้าประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติ โดยตั้งเป้า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2565–2574) 

 

 

 

ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.

 

 


เบื้องต้นคัดเลือกเกษตรกรนำร่องจำนวน 3 ราย จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจากพื้นที่เป้าหมายกว่า 20 ราย ที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาต้นไม้ให้อยู่รอด เพราะมี "ใจ" ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งพื้นที่มีความเหมาะสม คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 22.5 ไร่

 

 

 

เป้าหมายโครงการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ

 

 

 

รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เล่าต่อว่า "กฟผ." ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกพืชวนเกษตร ผสมผสานระหว่างพืชเศรษฐกิจ เช่น แมคคาเดเมีย อะโวคาโด กาแฟ กล้วย เป็นต้น ควบคู่กับการปลูกไม้ผลยืนต้นที่มีเนื้อไม้และมีวงปี เช่น ลำไย มะขามป้อม มะม่วง เป็นต้น เพื่อดูดซับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มพื้นที่ป่าถาวรในชุมชน

 

 

 

ช่วยกันปลูกต้นไม้ในโครงการปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วม เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566

 

 

 

"ทางโครงการหลวงจะดูแลตั้งแต่จัดหากล้าพันธุ์ไม้ พัฒนาแหล่งน้ำ และระบบกระจายน้ำ การรับซื้อและแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ทั้งหาตลาดรองรับผลผลิตต่างๆ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูงมีรายได้จากผลผลิตอย่างต่อเนื่อง สามารถพึ่งพาตนเองได้" รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. ระบุ

 

 

 

 

เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิโครงการหลวงช่วยกันปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วม เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566

 

 


ในขณะเดียวกัน "กฟผ." จะร่วมสนับสนุนการประยุกต์องค์ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิต ศึกษาสภาพทางกายภาพ และจัดเก็บข้อมูลพื้นที่ปลูกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ T-VER เพื่อดำเนินการขอขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)โดยเมื่อเกษตรกรดูแลบำรุงรักษาไม้ยืนต้นให้อยู่รอดเติบโตจนถึงประมาณปีที่ 5 เกษตรกรจะสามารถเริ่มขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง และสามารถเก็บเป็นสินทรัพย์ที่ส่งต่อให้ลูกหลานได้ในอนาคต

 

 

 

ปี 2565 ได้ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ รวม 741 ไร่ โดยตั้งเป้าปลูกป่าต่อเนื่องในปี 2566 อีกจำนวน 829 ไร่

 

 

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น

 

 

 

""กฟผ." เชื่อมั่นว่าโมเดลการปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วม ที่เราช่วยสนับสนุนการรับรองคาร์บอนเครดิตจนถึงการรับซื้อคาร์บอนเครดิต จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง" รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

  • ป่าชุมชนซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตแห่งแรกของไทย

ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางนับเป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2558 

 

 

 

ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง บ.โค้งตาบาง หมู่ 10 ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 

 

 

 

"กรมป่าไม้" ได้ร่วมมือกับ อบก. และคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง นำร่องจัดทำโครงการ T-VER ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง โดยมีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน

 

 

 

คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางทำหน้าที่ควบคุมดูแลและฟื้นฟูป่าชุมชนมาโดยตลอด 7 ปี (ปี 2559-2565) ทำให้ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 5,259 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ด้วยเหตุนี้ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางจึงเป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต