คอลัมนิสต์

"พระจะสึก ฝนจะตก ลูกจะออก ห้ามไม่ได้"  เมื่อสถานภาพเปลี่ยนเข้าสู่สามัญ

"พระจะสึก ฝนจะตก ลูกจะออก ห้ามไม่ได้" เมื่อสถานภาพเปลี่ยนเข้าสู่สามัญ

03 ธ.ค. 2564

"ข่าวคราวพระรูปหนึ่งมีดีกรีทางธรรมสูงสุดประกาศสึก ทำให้นึกถึงสำนวน "พระจะสึก ฝนจะตก ลูกจะออก ห้ามไม่ได้" ..แม้ว่าจะสึกเป็นคฤหัสถ์ไปแล้ว ต้องทำหน้าที่ล้างฐาน หรือส้วมที่วัด วันละครั้ง รวม 3 วัน จึงจะเป็นทิด อย่างสมบูรณ์..." ติดตามได้ในเจาะประเด็นร้อน โดย ทิดโบราณ

 

ข่าวพระมหารูปหนึ่ง มีดีกรีทางธรรมสูงสุดคือ ป ธ 9 และเป็นนาคหลวง เพราะสอบป.ธ.9 ได้ขณะเป็นสามเณร  ส่วนดีกรีทางโลก ก็ไม่ธรรมดา เป็นพระภิกษุมีชื่อเสียงในสังคมและโซเชียลมีเดีย ท่านประกาศสึก หรือลาสิกขาวันที่ 4 ธันวาคม 2564 จึงได้รับความสนใจจากสาธารณชนพอสมควร เพราะท่านเป็นพระดัง คนรู้จักทั่วไป
 

ผมไม่พูดว่าท่านสมควรสึก หรือไม่ เพราะการสึกจากพระเป็นเรื่องธรรมดา ดังโบราณว่าพระจะสึก ฝนจะตก ลูกจะออก ห้ามไม่ได้

 

ความจริงบวชแล้วสึกเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวพุทธไทย บางคนอยากบวชนานๆ  แต่แล้วผ้าเหลืองร้อน ก็ต้องสึก


การสึกจากพระไม่มีข้อห้าม เว้นแต่หลวงพ่อ หรือเจ้าอาวาสบางวัดจะกำหนดเป็นการเฉพาะ เช่นวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านต้องการให้ผู้ที่จะสึกมีอะไรติดตัวออกไปตอนเป็นคฤหัสถ์  จึงได้กำหนดเงื่อนไข เฉพาะวัดของท่าน
ว่าเมื่อบวชแล้วสึก เขาเรียกว่า ทิด หรือฑิต(จากคำว่าบัณฑิต) ต้องท่องทิศ 6 ให้ได้


ทิศ 6 คือหน่วยสังคมรอบตัวที่เราต้องให้เกียรติ ยกย่อง คือ


1. ปุรัตถิมทิศ ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดามารดา


2. ทักขิณทิศ คือทิศเบื้องขวา ได้แก่ครู อาจารย์


3. ปัจฉิมทิศ คือทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามี หรือ ภรรยา


4. อุตรทิศ คือทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตร สหาย


5. เหฎฐิมทิศ คือทิศเบื้องล่างได้แก่ ลูกจ้าง ข้าทาส บริวาร


6. อุปริมทิศ คือทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณะ ชี พราหมณ์

 

เมื่อผู้จะสึก ท่องจำขึ้นใจเป็นที่พอใจ หลวงพ่อจะกำหนดฤกษ์ ยามว่า ควรสึกเวลาเท่าไร วันไหน
 

 

ในการนี้ผู้จะสึกต้องเตรียมชุดฆราวาส นิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป เพื่อสวดชัยมงคลคาถา และเป็นสักขีพยานในการสึกตามวันเวลาที่หลวงพ่อกำหนดให้

 

จากนั้น ต้องตั้งบาตรใส่น้ำพอสมควร ให้หลวงพ่อทำน้ำมนต์ ตอนกลางคืน

 

เมื่อได้ฤกษ์ยาม(ส่วนมากเป็นเวลาเช้าตรู่) ครองผ้าเรียบร้อย พร้อมทั้งพาดผ้าสังฆาฏิไปยังที่ประชุมสงฆ์ กราบพระประธาน กราบพระสงฆ์ แล้วตั้งใจกล่าวคำลาสิกขาว่า สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ คิหีติ มํ ถาเรถ แปลว่า ข้าพเจ้าขอลาสิกขา  ท่านทั้งหลายจงจำไว้ว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์แล้ว 

 

จากนั้นหลวงพ่อจะดึงผ้าสังฆาฏิ ออกจากตัวผู้ที่ลาสิกขา (พ้นสภาพจากพระภิกษุ เมื่อสังฆาฏิหลุดจากบ่า) จากนั้นผู้ที่ลาสึกอุ้มบาตรน้ำมนต์ออกไป ณ ที่จัดไว้ให้หลวงรดน้ำมนต์ พระสงฆ์ทั้งนั้นสวดชัยมงคลคาถา

 

ผู้ลาสิกขา บอกลาสิกขาบท หรือ ศีล 227 ข้อแล้ว แต่งชุดคฤหัสถ์มากราบพระสงฆ์ อาราธนาศีล เพื่อรับศีล 5  จากนั้นถวายไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เป็นเสร็จพิธี

 

แม้ว่าจะสึกเป็นคฤหัสถ์ไปแล้ว ต้องทำหน้าที่ล้างฐาน หรือส้วมที่วัด วันละครั้ง รวม 3 วัน จึงเป็นจะเป็นทิด อย่างสมบูรณ์
 

เงื่อนไขของหลวงพ่อแบบนี้ ทำให้คนในหมู่บ้านรอบวัด ไม่ทิ้งวัดไม่ทิ้งหลวงพ่อ มีงานต้องมาช่วยเต็มที่
 

หลวงพ่อใช้ระเบียบนี้ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ 2500 จนกระทั่งท่านมรณภาพ เมื่อ พศ. 2516
 

กล่าวถึงคุณมหาป.ธ.9 จะสึก เมื่อไร ไม่มีข้อห้าม ผ้าเหลืองร้อน อยู่ไม่ได้ก็ต้องลาผ้าเหลืองและครูบาอาจารย์ไปเป็นฆราวาส  สาธุชนอย่าคิดมาก
 

เมื่อพูดเรื่องสึกแล้ว จะเล่าเรื่องบวชไว้ประดับสติปัญญานิดหน่อย เพราะการบวช มีข้อจำกัด และเงื่อนไขมาก

 

พูดง่ายๆ ว่าบวชยาก 

 

ในปัจจุบัน ใครจะบวชหาวัดได้

 

หลวงพ่อรับแล้ว แต่ยังบวชไม่ได้ นะครับ จนกระทั่งได้รับการตรวจสอบประวัติอาชญากร จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน หากปลอดจากประวัติอาชญากร จึงบวชได้ ข้อนี้เป็นมติมหาเถรสมาคม ที่ต้องการให้วงการพระและวัดบริสุทธิ ไม่เป็นขี้ปากชาวโลกว่าวัดเป็นที่พำนักอาชญากร
 

นอกจากถูกตรวจประวัติอาชญากรแล้ว ขณะที่จะบวชยังต้องถูสอบอันตรายิกธรรม จากอุปัชฌาย์ อีก 13 ข้อ ซึ่งเป็นข้อห้ามเก่า เช่นเป็นโรคเรื้อน หรือไม่ หลบหนีราชการมาบวชหรือเปล่า เป็นหนี้สินหรือเปล่า และเป็นบุรุษ หรือไม่  พ่อแม่อนุญาตหรือไม่ มีบาตร จีวรครบไหม

 

ถ้าสอบไม่ผ่าน ก็เป็นได้แค่เป็นสามเณร ถ้าผ่าน(ผ่านทุกเคส) ก็เข้าพิธีอุปสมบทต่อไป
 

ที่เล่าถึงการลาสิกขา และการบวชนั้น เพื่อจะบอกว่า การสึกนั้นง่าย การบวชนั้นยาก
 

ส่วนคุณมหาที่จะสึกวันที่ 4 ธค.นี้ ขออนุญาตบอกว่าต้องทำใจ เมื่อสถานภาพเปลี่ยน เข้าสู่สามัญ หรือโลกใหม่ ที่ท่านเห็นแต่ไม่คุ้นเคย จึงขอแนะนำพี่ทิดว่าต้องพยายามสลัดคราบผ้าเหลืองให้หมด วางตัวให้สมารท์ เพราะโลกใหม่มีอะไรต้องปรับตัวมาก 

 

มิใช่ สภาพ สภาพ สภาพ ตามที่คุ้นเคย ครับ