
รัฐซ้อนรัฐ "ลุง" หัวจะปวด ศึกแลกหมัด "แดง-น้ำเงิน" ประคองดีลพิเศษไปต่อ
ดีลพิเศษต้องไปต่อ "ลุง" หัวจะปวด "แดง-น้ำเงิน" ปมคดีชั้น 14 และคดีฮั้ว สว. ต่างแลกหมัดส่อรัฐล้มเหลว
วิกฤตซ้อนวิกฤต ทักษิณ ลุ้นหนักคดีชั้น 14 เนวิน หนีไม่พ้นบ่วงคดีฮั้ว สว. นิติสงครามรุกไล่ทั้ง 2 พรรคใหญ่
ความขัดแย้งแดง-น้ำเงิน ส่อถึงทางตัน ลุงผู้กำกับดีลพิเศษ หัวจะปวดกับเกมแลกหมัด รัฐบาลข้ามขั้วจะไปรอดมั้ย
ผู้สันทัดกรณีมองว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เปิดไต่สวนกรณีชั้น 14 ของ ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 ไม่น่าจบภายในวันเดียว แต่ทุกอย่างน่าจะมีคำตอบไม่เกินเดือน ส.ค. นี้
ส่วนขบวนการฮั้ว สว. ที่มีผู้เกี่ยวข้องกับมากกว่า 140 คน รวมถึงคนใกล้ชิด เนวิน ชิดชอบ และมีนักร้องบางคนที่เข้ายื่นยุบพรรคภูมิใจไทยแล้ว
กระบวนการดำเนินคดีฮั้ว สว.ยังอยู่ในชั้นไต่สวนของ กกต. และคาดว่า จะเข้าสู่การพิจารณาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2569
ความขัดแย้ง 2 ขั้วสีนี้ บางคนยังมองบวก อย่างเช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเร็วๆนี้ว่า มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร อยู่ครบเทอม ไม่มีใครเอาใครออกจากรัฐบาล ไม่มีการเปลี่ยนขั้ว แม้ระหว่างทางเกิดปัญหาการเมือง(เพื่อไทยกับภูมิใจไทย) ต้องแก้ด้วยการเมือง โดยเจรจา เมื่อทะเลาะกันอย่าให้จบด้วยการทหาร
“การเมืองถ้าไม่จบด้วยการเมืองแล้วไปจบด้วยอย่างอื่น มันไม่ดีสำหรับระบอบประชาธิปไตย” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ผู้ประสานดีลมึนตึ้บ
ยุทธการ 22 ส.ค. 2566 ทำให้เกิดรัฐบาลข้ามขั้ว ที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย และพรรค 2 ลุง
จากรัฐบาลเศรษฐา มาถึงรัฐบาลแพทองธาร ที่กำลังเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต จากปัจจัยเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศ และปมร้อนกำแพงภาษีสหรัฐฯ บวกปัญหาทางการเมือง “แดง-น้ำเงิน” แลกหมัดกัน
วาสนา นาน่วม นักข่าวอาวุโส ได้เปิดประเด็น “ลุง” ผู้ประคับประคองดีลพิเศษ รู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์ปัจจุบัน ผ่านสื่อออนไลน์บางสำนัก และรายการทอล์คทางช่อง PPTV
“...แม้แต่คนที่เขาเชื่อมโยงกับดีล เขาเห็นแล้วเขายังปวดหัวเลย มีลุงคนหนึ่งบ่นเลย ว่าเฮ้ย ทำไมเล่นกันหนักขนาดนี้ ทำไมทะเลาะกันขนาดนี้ ไปเดาเอาว่าลุงไหน ลุงคงอยากพยายามสมานรอยร้าว แต่เห็นเล่นขนาดนี้ เหนื่อย คนที่คอยประสานให้ดีลเดินหน้าต่อไปได้ ยังเหนื่อยกับเกมการเมืองที่สู้กัน”
พูดง่ายๆ ใช่ว่า “ดีลรัฐบาลพิเศษ” จะราบรื่น เนื่องจากเพื่อไทยมีวาระที่ต้องสร้างผลงานให้เป็นอันดับหนึ่งสมัยหน้า ภูมิใจไทยก็มีเป้าหมายพรรคอันดับสองฝั่งรัฐบาล จึงเกิดการชิงความได้เปรียบระหว่างการร่วมรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ “ลุง” จึงเปรยกับคนใกล้ชิด และรู้มาถึงหูนักข่าวอาวุโสว่า หัวจะปวดกับแดง-น้ำเงิน
รัฐพันลึกคืออะไร
นักวิชาการบางคนวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน โดยอ้างถึง “รัฐพันลึก” ผู้กำกับดีลรัฐบาลข้ามขั้ว และคนจำนวนหนึ่งยังกังขาว่า รัฐพันลึก หมายถึงอะไร
ในมิติทางวิชาการ “รัฐพันลึก” (Deep State) เป็นแนวคิดที่ Eugénie Mérieau นักรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส นำมาใช้อธิบายการเมืองการเมืองไทย ในช่วงหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ในชื่อบทความว่า “Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997–2015)”
บริบทของงานชิ้นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองในยุคการเมืองสีเสื้อในทศวรรษ 2550 เมื่อฝ่ายตุลาการของไทยกลายมาเป็นตัวแสดงสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองหลายครั้ง
การยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย รวมถึงการถอดถอนนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2551
หลังรัฐประหาร 2557 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีอ้างถึงการวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ ขจัดทุจริต และประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามาปกครองบ้านเมือง กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ของพลังจารีต
ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมกลับเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นการขยายขอบเขตอำนาจ “รัฐราชการ-อำมาตย์ใหม่” ในนามรัฐพันลึกเวอร์ชั่นใหม่