คอลัมนิสต์

ย้อนรอย "ศรีนวล" งูเห่าสีส้มคนแรก "กฤษฎิ์" สส.แปรพักตร์ สู้ไม้แข็งดองเค็ม

ย้อนรอย "ศรีนวล" งูเห่าสีส้มคนแรก "กฤษฎิ์" สส.แปรพักตร์ สู้ไม้แข็งดองเค็ม

14 พ.ค. 2568

จำเธอได้มั้ย "ศรีนวล" งูเห่าสีส้มคนแรก ยังภักดีสีน้ำเงิน "กฤษฎิ์" สส.ชลบุรี ที่แปรพักตร์ เสียงแข็งไม่ใช่งูเห่าศรีราชา

เสียงแข็ง กฤษฎิ์ ไม่ใช่งูเห่าศรีราชา ย้อนมอง ศรีนวล ผู้แปรพักตร์รายแรกค่ายสีส้ม จาก สส.ส้มหล่น สู่ผู้พ่ายเสื้อสีน้ำเงิน

 

แกะรอย ศรีนวล ชีวิตพลิกผันชั่วข้ามคืน จาก สจ.เป็น สส. ก่อนกระฉ่อนฉาวเป็นงูเห่าสีส้ม ชั่วโมงนี้ยังปักหลักที่ค่ายสีน้ำเงิน

พรรคประชาชน ตกเป็นข่าวเรื่อง “งูเห่าสีส้ม” จะเลื้อยออกไปอยู่พรรคซีกรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงก่อนยุบพรรคก้าวไกล แต่ก็ไม่เคยปรากฏเป็นจริงตามข่าวลือ

กระทั่งมีกรณีของ “สส.แพร” กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี เขต 6 ที่มานั่งแถลงข่าวขอแยกทางพรรคประชาชน และประกาศไปร่วมงานกับพรรคกล้าธรรม ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

แม้ สส.กฤษฎิ์ แถลงย้ำว่า เธอไม่ใช่งูเห่าสีส้ม แต่โซเชียลพิพากษา สส.ชลบุรีคนนี้ว่า เป็นงูเห่าสีส้มคนแรกของพรรคประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว

จาก สส.ทายาทบ้านใหญ่ศรีราชา ทำให้คนจำนวนไม่น้อย นึกถึง ศรีนวล บุญลือ งูเห่าสีส้มคนแรกของพรรคอนาคตใหม่

กลับไปดูกรณีกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ และหัวหน้าพรรคประชาชน หลังจากต่างฝ่ายต่างแถลงข่าว ก็มีคลิปเสียงสนทนาระหว่าง สส.แพร กับหัวหน้าเท้ง

สรุปใจความได้ว่า ฝ่าย สส.ชลบุรี ต้องการให้พรรคขับออก เพราะไม่อยากเป็นงูเห่า ขณะที่หัวหน้าเท้ง และกรรมการบริหารพรรคประชาชน เลือกมาตรการดองงูเห่า

ส่วน ศรีนวล บุญลือ อดีต สส.เชียงใหม่ ผู้ตกเป็นข่าวงูเห่าสีส้มเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในวันนี้ ศรีนวลยังสังกัดพรรคภูมิใจไทย และเมื่อวันประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อต้นเดือน เม.ย. 2568 ก็ยังมาร่วมทำกิจกรรมเปลี่ยนสีโลโก้พรรค 

งูเห่าสีส้มคนแรก


ถ้าจำกันได้ ในวันที่ ศรีนวล บุญลือ แสดงออกด้วยการโหวตสวนมติพรรคหลายกรณี กระทั่งถูกพรรคอนาคตใหม่ ขับออกจากพรรค ก็มีด้อมส้มเชียงใหม่ จัดกิจกรรมขับไล่ เผาหุ่น ไม่ต่างจาก สส.กฤษฎิ์ เจอเสียงโห่ฮาที่อาคารรัฐสภา

หลังถูกพรรคเก่าขับออก ศรีนวลก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับเปิดใจว่า “..เขากล่าวหาว่าได้เงิน 40 - 50 ล้านบาทนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งที่ตนได้เป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เพราะพรรคเดิมเขาขับเราออกมา ทำให้เราไม่มีที่อยู่ต้องหาที่อยู่ใหม่”

ด้านหนึ่ง ศรีนวล พยายามสื่อสารคล้าย สส.กฤษฎิ์ ประเด็นอุดมการณ์ไม่ตรงกัน จึงมีความอึดอัดคับข้องใจ

หลังจากนั้น ศรีนวลก็ก้มหน้าก้มตาทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งสมัยนั้น ภูมิใจไทยคุมคมนาคม และสาธารณสุข จึงประสานกับหน่วยงานต่างๆ นำโครงการลงในพื้นที่ อ.ดอยหล่อ, อ.สันป่าตอง, อ.จอมทอง และ อ.แม่วาง

จนถึงการเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศ ปี 2566  ปรากฏว่า การเลือกตั้ง สส.เชียงใหม่ เขต 9 (อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง อ.แม่วาง และ อ.แม่แจ่ม)นเรศ ธำรงทิพยคุณ พลังประชารัฐ ได้ 31,107 คะแนน คว้าชัยได้เป็น สส.เชียงใหม่ (ปัจจุบัน นเรศย้ายมาสังกัดพรรคกล้าธรรม)

ศรีนวล บุญลือ สอบตกตามคาดได้ 12,847 คะแนน ส่วนสมเกียรติ มีธรรม พรรคก้าวไกล ก็สอบตกเช่นกัน แต่ได้ 26,415 คะแนน

ชีวิต สส.ส้มหล่น


ตระกูลของศรีนวล บุญลือ เป็นคนเก่าแก่ของ ต.แม่วิน ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งที่เคยอยู่กับ อ.สันป่าตอง ขณะนั้น ต.แม่วิน ห่างไกลความเจริญ (ปัจจุบันขึ้น อ.แม่วาง)

ศรีนวลทำงานเป็น อสม. และผู้นำสตรีของชุมชน จึงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.อบต.แม่วิน ก่อนจะขยับมาเล่นการเมืองสนามระดับจังหวัด เป็น ส.อบจ.เชียงใหม่ เขต อ.แม่วาง และเป็นที่ปรึกษาพิเศษนายก อบจ.เชียงใหม่ (บุญเลิศ บูรณุปกรณ์)

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ศรีนวลเป็นหัวคะแนนของ สุรพล เกียรติไชยากร อดีต สส.เชียงใหม่ เขต 8 อ.จอมทอง และ อ.แม่วาง

เลือกตั้ง สส.เชียงใหม่ ปี 2562 ศรีนวลลงสมัคร สส.ในนามอนาคตใหม่แต่แพ้สุรพล ค่ายเพื่อไทย ต่อมา สุรพลเจอใบเหลือง ต้องเลือกตั้งซ่อม ด้วยกระแสสีส้มบวกสีแดง ศรีนวลจึงได้เป็น สส.หญิงคนแรกของ อ.แม่วาง

ศรีนวล บุญลือ ยังสุขสบายดีในค่ายสีน้ำเงิน