คอลัมนิสต์

วิกฤตน้ำเงิน "อนุทิน" สู้สูตรไหน "เนวิน" ร่ายมนต์รั้งซุ้มบ้านใหญ่ได้หรือไม่

วิกฤตน้ำเงิน "อนุทิน" สู้สูตรไหน "เนวิน" ร่ายมนต์รั้งซุ้มบ้านใหญ่ได้หรือไม่

11 พ.ค. 2568

วิกฤตน้ำเงิน "อนุทิน" พลิกเกมรบแบบไหน "เนวิน" จะร่ายมนต์รั้งซุ้มบ้านใหญ่ได้หรือไม่ หากเกิดยุบสภาฯ

สงครามตัวแทน อนุทิน ศิษย์ครูใหญ่ เนวิน จะพลิกเกมรบแบบไหน เมื่อฝ่ายหนึ่งไล่ล่าเบี้ย-ขุนสีน้ำเงิน ยังเหลือไพ่ลับในมือหรือไม่

 

ภูมิใจไทย เพิ่งรีแบรนด์เป็นสีน้ำเงินเข้ม ล้างภาพพรรคบ้านใหญ่ ขยับเป็นเบอร์หนึ่งอนุรักษ์ กลับเจอวิกฤตศรัทธากรณีสภาสูง

ในชั่วโมงนี้ ไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงเท่ากับสงครามตัวแทน เปิดหน้าชกกันอย่างดุเดือด ผ่านคดีฮั้วเลือก สว.

แม้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย จะให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ปมฮั้ว สว.ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมก็ว่ากันไป แต่ภายในพรรคสีน้ำเงิน ก็ระส่ำกันพอสมควร

ชาวบ้านร้านตลาดที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองผ่าน TikTok ผ่านช่องยูทูป ต่างก็รู้ดีว่า กระบวนการฮั้ว สว.นั้น มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร

ที่สำคัญ ซุ้มบ้านใหญ่ในค่ายสีน้ำเงิน ต่างเฝ้าดูท่าทีของครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ จะหาทางออกในวิกฤตศรัทธาเรื่องนี้อย่างไร

ล่าสุด มีการปล่อยข่าวว่า ในการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 โอกาสที่ร่าง พรบ.จะไม่ผ่านความเห็นชอบมีอยู่สูงมาก สส.พรรคภูมิใจไทย ไม่ยกมือให้ นายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาฯ และมีการเลือกตั้งใหม่

วันที่ 11 พ.ค. 2568  แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย จึงได้ปฎิเสธกระแสข่าวคว่ำ พรบ.งบประมาณฯ ว่า ไม่เป็นความจริง

“พรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล มีรัฐมนตรีที่กำกับดูกระทรวง ซึ่งมีส่วนร่วมจัดทำร่าง พรบ.งบประมาณ ไม่มีเหตุที่จะไม่สนับสนุน การจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อน เพื่อพัฒนา และแก้ปัญหาประเทศ”

จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีความพร้อมที่จะลงสนามเลือกตั้งในเร็ววันนี้
 

วิกฤตน้ำเงินรอบนี้ พิสูจน์ฝีมือ เนวิน และอนุทิน

สำหรับพรรคภูมิใจไทย เพิ่งมีการรีแบรนดิ้งเปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็น “สีน้ำเงิน” ซึ่งอนุทิน ได้ประกาศว่า “จากนี้ไปเมื่อกล่าวถึงพรรคสีน้ำเงิน ให้เป็นที่รับรู้ว่าคือพรรคภูมิใจไทย”

ที่ผ่านมา ค่ายภูมิใจไทยคือ “พรรคบ้านใหญ่” จึงต้องหันไปโหนกระแสอนุรักษ์นิยม และต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์สักระยะหนึ่ง

 

คว่ำธงชิงเก็บแต้ม


สงครามตัวแทนว่าด้วยการทุบ “สว.สีน้ำเงิน” มีการวิเคราะห์เจาะลึกมานานแล้ว ถึงขนาดมีการเสนอแคมเปญโปรย้ายค่าย เพื่อพลิกสมการการเมือง

เนื่องจากค่ายสีแดง พยายามจะดันนโยบายเรือธง แต่ก็เจอด่าน สว.มาเป็นอุปสรรค อย่างประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเพื่อไทยต้องการโชว์จุดยืนฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมใหม่

สุดท้ายก็ดันเรือธงไปไม่ได้ ต้องอาศัยเสียง สว. 1 ใน 3 หรือจำนวน 67 เสียง จากทั้งสภาสูง 200 คน จึงเป็นที่มาของการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อประวิงเวลาไม่ให้ สว.สีน้ำเงิน โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

อีกด้านหนึ่ง สว.สีน้ำเงิน เล่นเกมสกัดเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงจุดยืนอนุรักษ์นิยม เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2560 มรดก คสช.

ที่น่าจับตาคือ ร่างกฎหมายเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ค้างคาอยู่ในสภาฯ ซึ่งจ่อคิวพิจารณาวาระแรก หลังเปิดสภาในเดือน ก.ค.นี้

หากกระแสหยุดกาสิโนมาแรง อาจได้เห็น สส.ภูมิใจไทย ผนึก สว.สีน้ำเงิน คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ ซื้อใจกลุ่มอนุรักษ์นิยม ก่อนยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ซุ้มบ้านใหญ่รอแยกทาง


ปีที่แล้ว ทุกสำนักข่าววิเคราะห์ตรงกันว่า พรรคภูมิใจไทย มี สส. 68 คน เป็นพรรคอันดับสองในรัฐบาลแพทองธาร และพรรคอันดับสามบนกระดานอำนาจการเมือง

เนื่องจากมีการรวมตัวเลขเครือข่าย สว.สีน้ำเงิน ที่มีอยู่ 137-140 เสียง ทำให้มีเสียงในรัฐสภามากถึง 210-220 เสียง ถือว่าเป็นดุลอำนาจที่ใหญ่ที่สุด

พลันที่เจอวิกฤต “ปมฮั้ว สว.” ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งเครือข่ายสีน้ำเงิน โดยเฉพาะกลุ่มการเมือง “บ้านใหญ่”

ซุ้มบ้านใหญ่หลายจังหวัด ไม่ได้เป็นหน่อเนื้อเดียวกันกับ “เพื่อนเนวิน” มาแต่แรก จึงมีความหวั่นไหว และเกรงจะกระทบฐานเสียง 

หากมีการยุบสภาจริง คงจะได้เห็น “บ้านใหญ่” จำนวนหนึ่งถอยทัพจากค่ายเซราะกราว หันไปซบค่ายอื่น ที่มีโอกาสได้เป็นรัฐบาลสมัยหน้า